แนวคราสไม่พาดผ่านไทย จะเห็นได้เฉพาะย่านมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ อเมริกาใต้ ชิลี อาร์เจนตินา โดยเฉพาะครั้งนี้เป็นที่ตื่นเต้นของชิลีอย่างมากเพราะหายากที่แนวคราสจะพาดผ่านเต็มๆ อย่างนี้ สดร.เตรียมเดินทางไปร่วมสังเกตการณ์ที่ชิลี ชี้เป็นโอกาสทองของนักวิทย์และนักดาราศาสตร์ที่จะศึกษาเกี่ยวกับโคโรนาซึ่งเป็นชั้นบรรยากาศนอกสุดของดวงอาทิตย์ที่จะเห็นได้เฉพาะช่วงเกิดคราสเท่านั้น คนไทยอดใจรอปลายปีนี้ 26 ธ.ค.ได้ชม นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เปิดเผยว่า ช่วงเช้ามืดวันพุธที่ 3 ก.ค.นี้ จะเกิดปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาเต็มดวง” เวลาประมาณ 03:38 น. ตามเวลาในประเทศไทย เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก เรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกัน มีดวงจันทร์อยู่ระหว่างดวงอาทิตย์กับโลก เมื่อดวงจันทร์ค่อย ๆ เคลื่อนที่เข้ามาอยู่ในแนวเดียวกับดวงอาทิตย์ สิ่งที่ปรากฏแก่สายตาของผู้สังเกตการณ์ที่อยู่บนโลก คือ แสงสว่างจากดวงอาทิตย์ลดลง รูปร่างของดวงอาทิตย์จะเกิดเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ที่เปลี่ยนรูปร่างในแต่ละค่ำคืนหรือถูกบังจนหมดทั้งดวงขึ้นอยู่กับรูปแบบการบัง ปรากฏการณ์สุริยุปราคาในวันที่ 3 ก.ค.62 จะเป็นแบบ “สุริยุปราคาเต็มดวง” เนื่องจากเป็นช่วงที่ดวงจันทร์โคจรมาใกล้โลก ทำให้เราเห็นดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าดวงอาทิตย์พอจะบังดวงอาทิตย์ได้หมด เมื่อวัตถุทั้งสามเรียงตัวกันในแนวเส้นตรง จึงเกิดเป็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง นับเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่สำคัญมาก ทำให้นักดาราศาสตร์สามารถศึกษาชั้นโคโรนาและวิเคราะห์ธาตุองค์ประกอบที่มีอยู่ในบรรยากาศชั้นโครโมสเฟียร์ของดวงอาทิตย์ได้ นายศุภฤกษ์ กล่าวเว่า สุริยุปราคาเต็มดวงในครั้งนี้ เป็นสุริยุปราคาลำดับที่ 58/82 ในชุดซารอสที่ 127 เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 02:22 ตามเวลาประเทศไทย ในประเทศไทยไม่สามารถสังเกตเห็นได้ เนื่องจากแนวคราสส่วนใหญ่พาดผ่านมหาสมุทรแปซิฟิกและช่วงปลายของปรากฏการณ์จะเคลื่อนผ่านทวีปอเมริกาใต้ สาธารณรัฐชิลีและประเทศอาร์เจนตินา ช่วงคราสเต็มดวงจะเริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 03:38 น. (จุดที่เกิดคราสเต็มดวงนานที่สุดอยู่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก นานถึง 4 นาที 32 วินาที) จากนั้นจะพาดผ่านสาธารณรัฐชิลี (เวลาประมาณ 16.38 น. ของวันที่ 2 กรกฎาคม 2562 ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศชิลี) บริเวณเมืองลาเซเรนา โกกิมโบ ลาอิเกรา และบีกูญา ในแคว้นโกกิมโบและบางส่วนในแคว้นอาตากามา สาธารณรัฐชิลี และรัฐซานฆวน ลาริโอฆา ซานลุยส์ กอร์โดบา ซานตาเฟ และบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา จนกระทั่งสิ้นสุดปรากฏการณ์ ในเวลาประมาณ 04:46 น. ตามเวลาประเทศไทย การเกิดปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญในครั้งนี้ เป็นที่จับตาในหมู่นักดาราศาสตร์และหอดูดาวขนาดใหญ่ในประเทศชิลีเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่บ่อยนักที่จะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงพาดผ่านบริเวณดังกล่าว สิ่งที่นักดาราศาสตร์สนใจศึกษา ได้แก่ ศึกษาโคโรนาซึ่งเป็นส่วนนอกสุดของชั้นบรรยากาศดวงอาทิตย์ สามารถมองเห็นได้เฉพาะตอนเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงเท่านั้น ตรวจหาดาวหางเฉียดดวงอาทิตย์ขณะเกิดสุริยุปราคา เทียบเคียงลักษณะภูมิประเทศบนดวงจันทร์จากปรากฏการณ์ลูกปัดเบลีย์ช่วงก่อนและหลังเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง สดร. จึงวางแผนเดินทางไปศึกษาและเก็บข้อมูลปรากฏการณ์ ณ เมืองลาเซเรนา สาธารณรัฐชิลี ซึ่งเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดในการสังเกตสุริยุปราคาเต็มดวงในครั้งนี้ สามารถสังเกตปรากฏการณ์ได้นานที่สุด 2 นาที 23 วินาที สำหรับผู้สนใจติดตามการถ่ายทอดสดการเกิดปรากฏการณ์ได้ทางhttps://www.eso.org/public/live/ สำหรับปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ผ่านมหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก สาธารณรัฐชีลี และประเทศอาร์เจนตินา โดยปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่สามารถสังเกตได้ในประเทศไทย จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ตรงกับวันที่ 26 ธันวาคม 2562 เป็น ”ปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน” สังเกตได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ตั้งแต่เวลาประมาณ 10.18 - 13.57 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ดวงอาทิตย์ถูกบังมากที่สุดบริเวณภาคใต้ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ประมาณร้อยละ 81