คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น คำอาราธนาศีล คือการขอถือศีล 5 หรือ ศีล 5 (ศีลอุโบสถ) ซึ่งชาวบ้านคุกเข่ากล่าวต่อหน้าพระสงฆ์ กล่าวเป็นภาษาบาลีว่า “มะยัง ภันเต (สำหรับหลายคน) ฯลฯ ปัญจะสีลานิ ยาจามะ (สำหรับศีล 5) แปลว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย (ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป) ฯลฯ ขอถือศีล 5” คำว่า “ปัญจะ สิลานิ ยาจามะ” แปลว่า “ขอศีล 5” แต่เมื่อพระสงฆ์ตั้งตาลปัตรให้ศีลตามคำขอ หลังจากตั้งนโม 3 จบ และให้ว่าตั้งแต่ “พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ฯลฯ ทุติยัมปี ฯลฯ ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิฯ” แล้ว ท่าน(พระสงฆ์) ให้ว่าตามตั้งแต่... “ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ ฯลฯ สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขา ปะทัง สมาธิยามิฯ” คือการให้ศีล 5 แต่โปรดสังเกตว่า คำว่า “...เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ” แปลว่า “เวระมะณี (เจตนา (ตั้งใจ) งดเว้นจาก...) ฯลฯ “สิกขาปะทัง สมาธิยามิ (ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท (นี้) นั่นก็คือ โยมขอศีล (สิลานิ ยาจามะ) แต่พระสงฆ์ไม่ได้ให้ศีล หากให้สมาทาน (รับเอา) สิกขาบท (สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ) คำว่า “สิกขาปะทัง” คือ “สิกขาบท” สิกขาบท แปลว่า ข้อหรือบทสำหรับฝึกตน หมายความว่า ที่เราเรียกว่า ศีลห้า นั้น คือการฝึกตนแต่ละข้อไม่ใช่ว่าแต่ละข้อเป็นศีล (“ศีล 227 ข้อของพระสงฆ์ ก็เช่นกัน แต่ละข้อไม่ใช่ศีล แต่เป็น “สิกขาบท” คือ เป็นบทสำหรับฝึกตาม) ต่อเมื่อฝึกตนได้แล้วจึงเป็นศีล การสำรวมระวัง ไม่ละเมิดสิกขาบทแต่ละข้อ จนเป็นปกติ จึงเป็นศิล เรื่องนี้ ผมเคยเขียนถืงแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง เพิ่งได้ฟัง “พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ” เทศน์ทางยูทูบ จึงอยากจะเขียนย้ำอีกสักครั้งเพื่อให้เข้าใจตรงกัน คำว่า “อารธนาศีล” ซึ่งพระท่านให้ “สิกขาบท” นั้น เพราะความมีศีลให้กันไม่ได้ ความมีศีลเป็นความดีซึ่งทำหรือประพฤติด้วยตัวเอง จึงมีได้เป็นได้ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการปฏิบัติ-ฝึกตน ไม่ใช่ศาสนาแห่งการอ้อนวอนขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลให้ สิกขา 3 คือ ศีล-สมาธิ-ปัญญา ล้วนแต่เป็นการฝึกตนหรือเป็นการกระทำ ไม่มีข้อใดเลย ที่มีขึ้นเองได้ โดยเฉพาะศีล ไม่ว่าจะเป็นศิล 5 ศีล 8 ศีล 10 (ของสามเณร) หรือศีล 227 (ของพระภิกษุ) แต่ละอย่างล้วนแต่ใช้คำว่า “สิกขาบท” ทั้งสิ้น ในเรื่องศีล 4 ที่เรียกว่า “ปาริสุทธิศีล” เห็นได้ชัดว่าศีล คืออะไร 1. ปาฎิโมกขสังวรศีล คือความสำรวมระวังไม่ละเมิดสิกขาบทที่พระพุทธเจ้าบัญญัติเป็นวินัยสงฆ์ เมื่อเกิดการสำรวมระวังเป็นปกติแล้วจึงเป็นปาฏิโมกขสังวรศีล ศีลที่พระสงฆ์ยกขึ้นสวดในวันอุโบสถ (14 หรือ 15 ค่ำในแต่ละเดือน) เรียกว่ า“ศีลปาฎิโมกข์” มี 227 ข้อ แต่ละข้อเรียกว่า “สิกขาบท” (ไม่เรียกว่า “ศีล”) 2. อินทริยสังวร (อ่านว่า “อินทฺริยะสังวอน” คนไทยมักจะอ่านว่า “อินซียะสังวอน”) คือสำรวมทางกาย วาจา และใจ อินทริย 5 คือ ตา-หู-จมูก-ลิ้น-กาย-ใจ) โปรดสังเกตว่า “สังวร” ที่แปลว่า “สำรวมระวัง” นั้นเป็นกิริยาอาการของพระ เช่น เดิน-นั่งสำรวม คือมีอาการสงบ ไม่วอกแวกหลุกหลิก แต่ความจริง คือการงดเว้นจากการละเมิดสิกขาบทนั่นเอง กิริยาอาการที่สำรวม เป็นกิริยาอาการของความมีศีล ไม่ใช่สักแต่ว่า “ทอดตาต่ำ” หรือ “เคลื่อนไหวเชื่องช้า” เท่านั้น 3. อาชิวปาริสุทธิศีล คือมีการเลี้ยงชีวิตที่สุจริต ไม่มีการเบียดเบียนหลอกลวงคนอื่น ถ้าเป็นชาวบ้านทั่วไป ก็คือไม่ละเมิดสิกขาบท 5 ข้อ (ศีล5) นั่นเอง ถ้าเป็นพระสงฆ์ ก็คือประพฤติตามวินัยสงฆ์ 227 ข้อนั่นเอง 4. ปัจจัยสัมนิสิตศีล (อ่านว่า “ปัดไจยะสันนิสิตตะ-”คือการสำรวมระวังในการใช้สอยสิ่งต่างๆ มีการพิจารณาก่อนการใช้สอยว่าเหมาะสม ดีงามแล้วหรือยัง จะเห็นได้ว่า ความมีศีลทั้ง 4 ข้อนี้ พระสงฆ์ไม่ได้ให้เพราะเป็นคุณสมบัติที่เกิดขึ้นจากการประพฤติตามสิกขาบท การขอศีล หรือการอาราธนาศีลของชาวบ้าน จึงเป็นภาษาพูดในความเป็นจริง เป็นการขอประพฤติปฎิบัตหรือฝึกตนในสิกขาบทต่างหาก ประเพณีของไทยจึงมีการอาราธนาศีล หรือขอศีลกันหลายครั้งในงานพิธีหนึ่งๆ เพื่อเป็นการย้ำเตือนให้ประพฤติปฎิบัติตามสิกขาบทที่ขอ การขอศีลและการให้ศีลที่เป็นการทำซ้ำๆซากๆ เทียบได้กับ “ทัฬหิกรรม” ของพระสงฆ์ คือทำซ้ำได้ ถ้าคิดว่าตนมีศีลแล้ว ไม่ขอสิกขาบทอีกก็ได้ ฟังพระอาจารย์สมภพเทศน์ทางยูทูบแล้วก็เห็นด้วย อยากจะชวนท่านผู้อ่านติดตามฟังเทศน์ของพระอาจารย์สมภพทางยูทูบให้ทั่วกัน มีความรู้สึกว่า ท่านพูดดี สอนดี พระอาจารย์สมภพ ปัจจุบัน ท่านอายุย่างเข้า 70 ปี เป็นพระสายปฏิบัติ (สมถ และวิปัสสนา) อย่างพระอาจารย์มั่น-พระอาจารย์ชา มีคนเข้าใจว่า พระอาจารย์สมภพเป็นศิษย์พระอาจารย์ชา วัดหนองป่าพง (จ.อุบลราชธานี) แต่เท่าที่ติดตามผัง ท่านนับถือ “หลวงปู่สิงห์คำ สุภัทโท” (นามฉายาตรงกับพระอาจารย์ชา) เป็นบูรพาจารย์ หลวงปู่สิงห์คำ มรณภาพแล้ว (พระราชทานเพลิงศพเมื่อปี 2543) หลวงปู่สิงห์คำ สังกัดวัดฝ่ายมหานิกาย ดูเหนือวิธีปฎิบัติทางจิต จะเป็นแนวพระสายกรรมฐาน เคยสงสัย วิธีบริกรรม (ในการเจริญสมาธิหรือสมาธิภาวนา)ที่ใช้... “พุทโธ” (พุท-เข้า โธ-ออก) ตามแบบพระอาจารย์มั่น-พระอาจารย์ชา “ยุบหนอ-พองหนอ” (ของพม่า) หรือ “สัมมาอรหัง” (ของพระธรรมกาย) ฯลฯ พระอาจารย์สมภพกล่าวว่า ไม่มีในพระไตรปิฎก (เป็นวิธีหรือเป็นกุศโลบายเพื่อให้จิตเป็นสมาธิ) ในพระไตรปิฎกมีแต่ให้ระลึกตามบทพุทธคุณ-ธรรมคุณ-สังฆคุณ พระอาจารย์สมภพนั้น อุปสมบทเมื่ออายุ 36 ปี (พ.ศ.2528) ไม่ได้เรียนบาลี แต่ท่านยกบาลีในพระไตรปิฎกอ้างอิงในการเทศน์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ยิ่งกว่าผู้เคยเรียนบาลีใดๆ น่าสังเกตว่า บทสวดมนต์ที่พระสวดกันอยู่ ท่านแปลได้ทั้งหมดคล่องแคล่ว โดยไม่มีการโน้ตขึ้นไปอ่าน คือ ภาษาไทย(ภาคกลาง) – ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย อีสาน โดยเฉพาะภาษาไทยอีสานนั้น ไม่ว่าจะเป็นกาพย์ กลอน และ “คำผญา” ท่านสอดแทรกได้ตลอดเวลา สังเกตอีกว่า ภาษาไทยอีสานนั้น ท่านพูดได้ทั้งอีสานบ้านเกิด (สกลนคร-อุบลราชธานี) และอีสานภูไท น่าสังเกตอีกว่า เมื่ออ้างพระไตรปิฎก ท่านอ้างได้ถึงเล่ม (ใน45 เล่มฉบับบาลี) - ข้อ (บอกย่อหน้าในพระไตรปิฎกบาลี) และ หน้า (ในพระไตรปิฎกบาลี) แสดงว่า พระอาจารย์สมภพมีการอ่านและการค้นคว้าพระไตรปิฎกเป็นอย่างมาก ดูเหมือนพระอาจารย์สมภพจะเลื่อมใส “ท่านพุทธทาสภิกขุ” แห่งสวนโมกขพลารามมากอยู่ สังเกตจากชื่อวัดแรกที่ท่านสร้าง ชื่อ “วัดนิพเพธพลาราม” (ปัจจุบัน ท่านสร้างอีกวัดหนึ่ง คือ “วัดไตรสิกขาทลามลตาราม” (บนเนื้อที่ 300-400ไร) ที่ “ตำบลแพด อำเภอคำตากล้า จังหวัดสกลนคร” (ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 100กม.เศษ) วัดไตรสิกขาทลามลตาราม (คำว่า “ทลามลตาราม” อ่านยากหน่อย คงจะมีความหมายอะไรสักอย่าง) เมื่อก่อนเป็นที่แห้งแล้งพื้นดินเป็นดินลูกรัง ไม่มีน้ำ ปัจจุบันมีสภาพเป็นวัดป่า อุดมด้วยแมกไม้ มีน้ำจากพื้นดิน มีนกและสัตว์ป่าอยู่อาศัยมากมาย เช่น นกยูง กระรอก กระแต ฯลฯ ที่น่าพิสวงอย่างยิ่ง คือ มีคนไปฟังเทศน์พระอาจารย์สมภพวันละเป็นพัน มีเรื่องอยากจะเขียนถึงพระอาจารย์สมภพอีกมากครับ