นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ ระบุ โรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน (seborrheic dermatitis) หรือ “เซ็บเดิม” เป็นโรคผิวหนังที่พบบ่อย 1-5% ในประชากรทั่วไป เป็นโรคเรื้อรัง เป็นๆหายๆ ไม่ติดต่อจากการสัมผัส แต่มีผลต่อจิตใจ ความมั่นใจ-บุคลิกภาพผู้ป่วยมาก จะเกิดบริเวณผิวหนังที่มีต่อมไขมันจำนวนมาก เช่น หนังศีรษะ ไรผม ข้างจมูก คิ้ว (บริเวณ T-Zone) ใบหน้า หน้าอก โดยเป็นขุยสีเหลือง มันวาว ร่วมกับมีผื่นแดง ส่วนใหญ่เป็นกับผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป สำหรับทารกแรกคลอด พบช่วง 3 เดือนแรกหลังคลอด หายได้เอง โดยพบสะเก็ดหนาสีเหลือง เป็นมันติดแน่นเป็นแผ่น แต่ช่วงวัยรุ่น จะเกิดจากที่เริ่มผลิตฮอร์โมนเพศไปกระตุ้นต่อมไขมันให้โตและหลั่งไขมันมากขึ้น อาการจะเป็นๆ หาย ๆ ในผู้ใหญ่ หน้าหนาว ผื่นกำเริบบ่อยกว่า และอาจดีขึ้นในหน้าร้อน หรือสัมพันธ์กับโรคระบบประสาทบางชนิด เช่น พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ ติดเชื้อ HIV โรคจะรุนแรงขึ้น สาเหตุไม่ทราบชัดแต่แพทย์เชื่อว่าปัจจัยต่างๆ มีผลคือ ภาวะใดๆ ที่กระตุ้นต่อมไขมันทำงานผิดปกติ เช่น ฮอร์โมน ติดเชื้อราบางชนิด ยาบางอย่าง เช่น griseofulvin, cimetidine, lithiumหรือพันธุกรรม ขาดสารอาหาร การรักษา ในเด็กรายที่รุนแรง อักเสบเรื้อรัง อาจทาสเตียรอยด์ อ่อน ๆ ที่ผื่น 2-3 วัน ร่วมกับทาครีมบำรุงผิว ในผู้ใหญ่ ผื่นจะเรื้อรัง เป็นๆหายๆ เน้นควบคุมโรคมากกว่ารักษาให้หายขาด ผื่นแพ้ต่อมไขมันที่ศีรษะ แนะใช้ยาสระผมที่มีส่วนประกอบของ tar , zinc pyrithione , selenium sulfide, sulfur , salicylic acid คนไข้ที่ผื่นหนาอักเสบมาก อาจทาสเตียรอยด์ ผื่นแพ้ที่หน้า ข้างจมูก คิ้ว แนะใช้ยาลดอักเสบหรือเชื้อรา สำหรับยาทาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ถ้าใช้ต่อเนื่องนาน จะเป็นสิว ผิวบาง เส้นเลือดขยาย ติดสเตียรอยด์ได้ โรคนี้แม้ไม่ติดต่อ แต่ควรรักษากับแพทย์เฉพาะทาง สำคัญที่สุดคือดูแลตัวเอง เลี่ยงตัวกระตุ้นก่อโรค เช่น เครียด ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ พักผ่อนไม่พอ ล้างหน้าด้วยสบู่ไม่ระคายผิว หมั่นทาครีม ใช้เครื่องสำอางสำหรับผิวแพ้ง่าย เพียงแค่นี้โรคผื่นแพ้ต่อมไขมันอักเสบจะไม่มากวนใจอีก