บรรณาลัย / โชติช่วง นาดอน
พระหริหระ สุโขทัย
นครรัฐโบราณในสุวรรณภูมิมีหลายแห่ง เมื่อได้รับวัฒนธรรมชมพูทวีปแล้ว
จากหลักฐานทางโบราณคดีในนครรัฐเหล่านั้น พบโบราณวัตถุที่สื่อแสดงคติความเชื่อทางศาสนาหลายลัทธิก็จริง แต่ทว่าในแต่ละนครรัฐก็พบหลักฐานว่า ในแต่ละนครรัฐแต่ละช่วงสมัยมีลัทธินิกายที่เด่นหรือเหนือกว่า (วิเคราะห์จากจำนวนรูปเคารพและศาสนสถาน) เช่นในภาคใต้ของไทย พบรูปเคารพลัทธิไวษณพนิกายมาก ทางอีสานใต้และกัมพูชาพบรูปเคารพไศวนิกายมาก เป็นต้น
จะอธิบายปัญหาเหล่านี้ให้แจ่มชัดได้ จำเป็นจะต้องสืบหาเมืองโบราณในอินเดียที่เป็นต้นเค้าคติความเชื่อนิกายนั้นๆ ใน “กาละ” (ช่วงสมัย) ที่เริ่มติดต่อค้าขายกับนครรัฐแต่ละนครรัฐในสุวรรณภูมิ
แต่เรื่องนี้ทำได้ยาก ต้องลงแรงค้นคว้าหนัก เราจึงยังไม่ได้คำอธิบายที่แจ่มชัดน่าพึงพอใจ
ปัญหายิ่งยุ่งตุงนังมากขึ้นอีก เนื่องจากคนพื้นเมืองในสุวรรณภูมิเปิดกว้างให้กับลัทธิความเชื่อต่างๆ ที่พ่อค้าชาวชมพูทวีปนำเข้ามา พูดเข้าใจง่ายๆ คือ มีเสรีภาพในการเคารพนับถือ แต่กระนั้นก็ตามอิทธิพลของผู้ปกครองก็มีพลังอำนาจที่จะส่งเสริมลัทธินิกายที่ผู้ปกครองเคารพนับถือ และอาจกดห้าม , ทำลาย นิกายที่ไม่ชอบได้ จึงมีปรากฏการณ์ที่ศาสนสถานถูก “เปลี่ยนลัทธินิกาย”
กล่าวสำหรับศาสนาพราหมณ์แล้ว นิกายใหญ่ที่เคยแข่งขันกันเอาเป็นเอาตายในอินเดียคือ ไวษณพนิกาย บูชาพระนารายณ์(พระวิษณุ) กับไศวนิกาย บูชาพระศิวะ เมื่อสู้กันมานานก็เกิดแนวคิดปรานีปรานอมขึ้น โดยหลอมรวมรูปเคารพ พระนารายณ์และพระศิวะเข้าเป็นองค์เดียวกัน เรียกว่า พระหริหระ หรือ สังกรนารายณ์
องค์ความรู้เรื่อง พระหริหระ ในภาษาไทยนั้น ก็บอกแต่เพียงว่า “พระหริหระ” มาจาก 2 คำ รวมกันคือ “หริ” กับ “หระ”
หริ แปลว่า สงวน หมายถึง พระวิษณุหรือพระนารายณ์ หระ แปลว่า ผู้นำไป หมายถึง พระศิวะ หรือพระอิศวร
หรือ “หริ” พระนามของพระวิษณุ ซึ่งแปลว่าผู้ดูและจักรวาล และ “หระ” ซึ่งเป็นพระนามของพระศิวะ แปลว่า “ผู้นำไป เคลื่อนไป”
หร (หะระ) แปลว่านำไป (ธาตุ หรฺ) หมายถึงพระศิวะ ผู้ทรงนำวิญญาณของผู้ตายไป (เพราะถือกันว่าทรงเป็นพระกาล แลพระมฤตยูด้วย) และทรงทำให้สรรพสิ่งแตกทำลายเวียนว่ายเป็นวัฏจักร บางท่านตีความว่า หระ หมายถึงทรงนำความทุกข์ไป)
พระหริหระ (Hari-Hara) หมายถึง รูปประติมากรรมผสมระหว่างพระหริ (พระวิษณุ) กับ พระหระ (พระศิวะ) หรืออีกนัยหนึ่งคือ การผสมผสานระหว่างศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกายกับลัทธิไวษณพนิกาย โดยในครึ่งซีกขวาของประติมากรรมผสมรูปพระหริหระ จะเป็นพระศิวะ และในครึ่งซ้ายเป็นพระวิษณุ ซึ่งรูปลักษณ์เช่นนี้ ถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญของประติมากรรมพระหริหระที่มีสร้างสืบทอดกันมายาวนานหลายยุคหลายสมัย
การสร้างรูปเคารพพระหริหระมีหลักฐานบ่งบอกชัดเจนว่า เริ่มต้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์กุษาณะ ซึ่งอยู่ในศตวรรษที่ 6-7 ดังปรากฏในเหรียญตราหลายเหรียญของพระเจ้าฮูวิสะกะ และเจริญแพร่หลายไปในอินเดียสมัยกลาง รวมถึงมีการสร้างรูปเคารพพระหริหระจำนวนมากบูชาในแถบอินเดียภาคเหนือ อินเดียภาคตะวันออก และอินเดียภาคใต้
“วิกิพีเดีย” บอกว่า พระหริหระ เป็นอวตารของพระวิษณุ (หริ) และพระศิวะ (หระ) นิยมนับถือกันเป็นอย่างมากในสมัยโจฬะและพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2
ในสุวรรณภูมิภาคพื้นทวีปนั้น คตินิยมสร้างรูปพระหริหระ น่าจะเริ่มในสมัยศิลปะแบบพนมดา พ.ศ. 1090 – 1150 ในยุคต้นของอาณาจักรเจินล่า (ก่อนที่จะแตกเป็นเจินล่าบก-เจินล่าน้ำ) สืบทอดจนถึงยุคอาณาจักรพระนคร ราวพุทธศตวรรษที่ 14-18 ส่วนในเกาะชวาภาคตะวันออกนั้น พบเทวรูปพระหริหระ ยุคอาณาจักรมัชปาหิต ในราวพุทธศตวรรษที่ 19
สุโขทัยก็ได้รับอิทธิพลการบูชาพระหริหระไว้ด้วย ทั้งลัทธิไศวนิกายและลัทธิไวษณพนิกายเจริญแพร่หลายมากในสมัยพระยาลิไท หรือพระมหาธรรมราชาที่ 1 ซึ่งครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1890 – 1922 จารึกวัดศรีชุม (จารึกหลักที่ 2) ได้กล่าวเปรียบเทียบพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนี กับพระหริหระ และในจารึกหลักที่ 4 (วัดป่ามะม่วง) จารึกว่า พระมหาธรรมราชาลิไทได้โปรดให้หล่อเทวรูป พระอิศวร พระวิษณุ ไว้ในหอเทวาลัยมหาเกษตร ป่ามะม่วง เพื่อให้เหล่าพราหมณ์ได้ไปเคารพบูชา
เทวรูปสำริดในสมัยสุโขทัยที่กรมศิลปากรพบ จำนวน 14 องค์ ในจำนวนนี้เป็นพระหริหระมากที่สุดถึง 6 องค์ นอกนั้นเป็นพระอิศวร 3 องค์ พระนารายณ์ 3 องค์ พระพรหม 1 องค์ และพระอุมา 1 องค์ เทวรูปสำริดขึ้นหลายองค์ เช่น รูปพระอิศวร พระอุมา พระนารายณ์ พระพรหม พระหริหระ (พระนารายณ์ผสมพระอิศวร) ลักษณะพระพักตร์ก็เหมือนกับพระพุทธรูปสุโขทัยหมวดใหญ่ ต่างกันแต่เครื่องแต่งกายเท่านั้น ลักษณะของเครื่องทรงและอาภรณ์ของเทวรูปเหล่านี้ อาจทำให้กำหนดได้ว่าองค์ไหนหล่อขึ้นก่อนหลังการที่สมัยสุโขทัย
สำหรับเทวรูปพระหริหระนั้น หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงสันนิษฐานว่า น่าจะสร้างในสมัยพระยาลิไท เพราะหลังจากสมัยนี้ไปแล้ว ไม่ปรากฏจารึกหลักฐานใดๆ กล่าวถึงพระหริหระอีกเลย
พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน มีเทวรูปพระหริหระสำริด สมัยสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ 19 – 20 องค์หนึ่ง สูง 76 เซนติเมตร สภาพเกือบสมบูรณ์ นับว่าเป็นมรดกล้ำค่ายิ่งนัก
พระหริหระ เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ที่เป็นการรวมพระวิษณุ (หริ) และพระศิวะ (หระ)ให้อยู่ในองค์เดียวกัน โดยนำลักษณะเด่นของแต่ละองค์มารวมไว้ด้วยกันอย่างเหมาะสม พระองค์มี 4 กร พระหัตถ์ขวาบนทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายบนทรงสังข์ เครื่องประดับพระเศียรตกแต่งด้วยลายพันธุ์พฤกษา ยอดแหลม มีพระเนตรที่ 3 บริเวณกลางพระนลาฏ ทรงสวมสายธุรำรูปนาค ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระศิวะ ลักษณะของพระพักตร์เป็นรูปไข่ พระเนตรยาวรี พระขนงโก่ง พระนาสิกโด่งงุ้ม พระโอษฐ์บาง พระหนุเป็นปมตามรูปแบบพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย พระกรรณสวมกุณฑล ทรงกรองศอ พาหุรัดและทองพระกร พระภูษายาวที่เรียกว่า “โธตี” (ผ้าทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าพันรอบตัว) ด้านหน้าจีบเป็นริ้วแฉก คาดปั้นเหน่งชักชายภูษาโค้งลงมาปิดหัวปั้นเหน่ง
กรมศิลปากรอธิบายเทวรูปพระหริหระไว้ว่า “การสร้างเทวรูปซึ่งเป็นรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์ เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของศาสนาพราหมณ์ที่มีบทบาทในสังคมพุทธศาสนาในสุโขทัย โดยได้สร้างสรรค์รูปแบบงานศิลปกรรมตามคตินิยมและสุนทรียภาพตามแบบศิลปะไทยที่นิยมในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 หรือในสมัยของพระมหาธรรมราชาลิไทซึ่งตามหลักฐานศิลาจารึก วัดป่ามะม่วง พุทธศักราช 1904 ได้ระบุว่าพระมหาธรรมราชาลิไททรงโปรดให้ประดิษฐานเทวรูป พระศิวะและพระวิษณุไว้ที่หอเทวาลัยมหาเกษตรในป่ามะม่วงนอกกำแพงเมืองสุโขทัยทางด้านตะวันตกเพื่อให้พราหมณ์และดาบสได้บูชา”
พระหริหระ ศิลปะแบบพนมดา ชฎามงกุฎที่ด้านซีกขวา และกีรีฏมงกุฎที่ด้านซ้าย แสดงถึงความเป็นพระศิวะและพระวิษณุ ด้านบนขวามีชิ้นส่วนของตรีศูลซึ่งเป็นอาวุธของพระศิวะ ด้านบนซ้ายปรากฏพระกรถือจักรซึ่งเป็นอาวุธของพระวิษณุ ประติมากรรมทรงนุ่งผ้านุ่งแบบโทตียาว ตามอิทธิพลของศิลปะอินเดีย ด้านซ้ายของผ้าปรากฏหัวเสืออันเป็นผ้านุ่งของพระศิวะ
พระหริหระ ศิลปะสุโขทัย สมัยพญาลิไท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พระหริหระ พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน