รูปเงาแห่งเสียง / อติภพ ภัทรเดชไพศาล ประวัติศาสตร์โจรสลัด ในหนังสือ “คู่มือศึกษาโจรสลัด” (Pirates in the Age of Sails) ของโรเบิร์ต เจ. แอนโทนี (แปลไทยโดยประสิทธิ์ ตั้งมหาสถิตกุล) ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โจรสลัด ที่ไล่ย้อนหลังมาอย่างยาวนานกว่า 500 ปี เช่น ตามประวัติศาสตร์แล้ว โจรสลัดกลุ่มแรกๆ ในโลก แท้จริงแล้วไม่ได้คิดว่าตนเองเป็นโจรแต่อย่างใด เพราะคนเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นชาวบ้านธรรมดาในถิ่นฐานที่แร้นแค้น และถูกความยากจนบีบบังคับให้ต้องปล้นชิงอาหารเงินทองจากผู้อื่น ส่วนในช่วงที่ไม่ได้ทำการปล้นชิง ก็ดำรงชีวิตอย่างปกติ เป็นชาวไร่ชาวนาทั่วไป แต่ความเปลี่ยนแปลงมาบังเกิดเมื่อในปลายศตวรรษที่ 16 เกิดสงครามระหว่างชาติต่างๆ ในยุโรป เกิดสงครามศาสนาระหว่างคริสต์-อิสลาม ทำให้โจรสลัดเริ่มมีบทบาท โดยทางรัฐจะเป็นฝ่ายสนับสนุนโจรสลัดเอง เพื่อที่จะให้โจรสลัดช่วยปล้นเรือและสร้างความเสียหายให้ฝ่ายตรงข้ามมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เกิดคำเรียกหาโจรสลัดที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกกฎหมายว่า “privateer” อันตรงกันข้ามกับคำว่า pirate ซึ่งหมายถึงโจรป่าเถื่อนนอกกฎหมาย และในช่วงนี้เอง ที่โจรสลัดเริ่มมีบทบาทในการหาเงินเข้ารัฐ และกลายเป็นหนึ่งในองค์กรที่ทรงอำนาจ โดยเฉพาะในแถบชายฝั่งบาร์บารี ซึ่งเป็นแหล่งรวมพลของโจรสลัดที่เรียกว่าพวก “คอร์แซร์” จำนวนมาก และโจรสลัดก็กลายเป็นเรื่องของธุรกิจสำคัญ ที่มีผู้ร่วมถือหุ้นสำคัญๆ เป็นสมาชิกชนชั้นสูงในเมือง มีการระดมทุนเพื่อทำกำไรอย่างเป็นระบบ และยังเป็นที่ทราบกันดีว่า ภายในเรือของโจรสลัดในยุครุ่งเรือง เต็มไปด้วยลูกเรือหลากหลายเชื้อชาติ และมีกระทั่งคนดำเข้าร่วมด้วย มีการจัดแบ่งหน้าที่การงานกันเป็นสัดส่วนอย่างดี มีแพทย์ มีนักดนตรี ฯลฯ และมีกำหนดกฎเกณฑ์การชดเชยค่าสินไหมที่ชัดเจนหากลูกเรือคนใดต้องได้รับบาดเจ็บถึงขั้นพิกลพิการ จนกระทั่งว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่า ในเรือของโจรสลัดเหล่านี้ เป็นแหล่งแรกๆ ของสังคมในอุดมคติแบบประชาธิปไตยนั่นเลยทีเดียว ดังเรื่องเล่าเกี่ยวกับดินแดนยูโธเปีย ที่เหล่าโจรสลัดสร้างขึ้นบนเกาะมาดากัสการ์ที่เรียกว่า “ลิเบอร์เตเลีย” ที่ได้รับการอธิบายเพิ่มเติมโดยมาร์คัส เรดิเกอร์ ว่า พวกโจรสลัดกลุ่มนี้... “มองไปที่รูปแบบประชาธิปไตย ที่ประชาชนเป็นทั้งผู้บัญญัติและตัดสินกฎหมายของตนเองตามการเห็นพ้องของเสียงส่วนใหญ่ พวกเขายึดมั่นในปณิธานแห่งชีวิตเสรี อันเป็นสิ่งที่พวกเขาถือว่าคือสิทธิตามธรรมชาติ และมุ่งสร้างให้เป็นจริง พวกเขาจำกัดขอบเขตอำนาจของผู้นำสูงสุดผู้ไม่เคย ‘คิดว่าตนเองต่างจากสหายคนอื่นๆ’ และเป็นผู้ที่ใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ชองส่วนรวมเท่านั้น” อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงเรื่องเล่า และถึงจะมีหลักฐานหลายแห่งบันทึกถึงลักษณะความเป็นประชาธิปไตยในหมู่โจรสลัดนี้จริง ก็ไม่ได้หมายความว่านั่นคืออุดมคติของโจรสลัดแต่อย่างใด. และจากบันทึกคำให้การก็ดูเหมือนว่า สลัดทุกคนล้วนถูกสภาพแวดล้อมบีบบังคับให้ต้องมาทำอาชีพนี้โดนไม่เต็มใจทั้งสิ้น และแน่นอนว่า อาชีพโจรสลัดนี้เป็นอุปสรรคสำคัญยิ่งต่อการค้าข้ามชาติ ที่แต่เดิมอาศัยการขนส่งสินค้าทางเรือเป็นหลัก ดังนั้นสุดท้ายแล้ว รัฐที่ต้องการค้าขายกับต่างแดน จึงต้องรับประกันความปลอดภัยของพ่อค้าต่างชาติ ด้วยการปราบปรามโจรสลัดให้ราบคาบอย่างไม่มีทางเลี่ยง ซึ่งกรณีเช่นนี้ น่าจะเกิดขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าตากด้วย ดังที่มีบันทึกไว้ว่า ทรงประหารเจ้าเมืองชลบุรี (พระยาอนุราฐ) เพราะมีเหตุโจรสลัดปล้นชิงเรือพ่อค้าวาณิชในเขตนั้นอยู่เป็นประจำ ซึ่งก็ชัดเจนว่า พระยาอนุราฐนี้ แท้ที่จริงแล้วก็คือหัวหน้าโจรสลัด หรืออย่างน้อยก็เป็นผู้หนุนหลังโจรสลัดเหล่านั้นอย่างเปิดเผยนั่นเอง