ยานอวกาศยานแรกของประเทศที่จะลงจอดและสำรวจพื้นผิว กำหนดปล่อยจรวด 15 ก.ค.นี้ คาด 6 ก.ย.ได้เริ่มภารกิจบนดวงจันทร์ เผยแค่ช่วงไม่กี่ปี อินเดียพัฒนาไปอวกาศอย่างน่าทึ่ง ทั้งทุบสถิติโลกปล่อยดาวเทียมครั้งแรกถึง 104 ดวง ทั้งใช้ทุนต่ำ ระบุภารกิจนี้จะต่อยอดจากการโคจรในครั้งแรก เป็นลงจอด หากทำได้สำเร็จจะเป็นมหาอำนาจลำดับ 4 ของโลก ที่ได้เหยียบดวงจันทร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page โพสต์ความก้าวหน้าด้านอวกาศในภูมิภาคเอเชีย กับการเปิดตัวยานอวกาศของประเทศอินเดียในปฏิบัติการภารกิจสำรวจดวงจันทร์ โดยระบุ “12 มิถุนายน 2562 - อินเดียเผยภาพบางส่วนของยานอวกาศ “#จันทรายาน2” (Chandrayaan-2) ยานปฏิบัติภารกิจลงจอดและสำรวจพื้นผิวบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ ยานแรกของอินเดีย ยานอวกาศจันทรายาน 2 ประกอบด้วย ยานโคจรรอบดาว ยานสำหรับลงจอด และยานเคลื่อนที่ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยองค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดีย (ISRO) ยานอวกาศจันทรายาน 2 จะถูกปล่อยจากฐานปล่อยจรวดในเมืองศรีหริโคตา (Sriharikota) ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2562 คาดว่าจะลงจอดบนพื้นผิวในวันที่ 6 กันยายน 2562 ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อินเดียถือว่าเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าในด้านการเดินทางไปอวกาศอย่างมาก เห็นได้จากการทำลายสถิติโลกโดยปล่อยดาวเทียมสำรวจจำนวน 104 ดวงในครั้งเดียว และยังเป็นดาวเทียมที่ใช้ต้นทุนต่ำอีกด้วย นอกจากนี้ ในเดือนมีนาคม 2562 อินเดียยังทดสอบขีปนาวุธด้วยการทำลายดาวเทียมโคจรต่ำ เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจด้านอวกาศของโลก อินเดียเคยส่งยานอวกาศจันทรายาน 1 ไปโคจรรอบดวงจันทร์ เพื่อทำภารกิจสำรวจมาแล้วในปี 2551 สำหรับภารกิจของยานอวกาศจันทรายาน 2 นี้ คือการลงจอดเพื่อสำรวจพื้นผิวของดวงจันทร์ ภายใต้นโยบายที่จะใช้เทคโนโลยีอวกาศเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และหากลงจอดได้สำเร็จ อินเดียจะกลายเป็นประเทศที่ 4 ต่อจากสหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกา และจีน ที่ประสบความสำเร็จในการสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ เรียบเรียง : กฤษดา รุจิรานุกูล - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. อ้างอิง :https://phys.org/…/2019-06-india-unveils-spacecraft-moon-la…"