26 มิถุนายนของทุกปี วันคล้ายวันเกิดของ “สุนทรภู่” หรือ พระสุนทรโวหาร นามเดิม “ภู่” รัตนกวีแห่งยุครัตนโกสินทร์ ตลอดช่วงอายุของมหากวีท่านนี้ ท่านได้สร้างสรรค์ผลงานกวีนิพนธ์ไว้ให้แวดวงวรรณกรรมอย่างมากมาย โดยเฉพาะวรรณกรรมร้อยกรองประเภท “กลอน” ด้วยแล้ว ถือได้ว่าท่านได้ปรับรูปแบบของการประพันธ์ใหม่จนเป็นที่กล่าวขานและยึดถือเป็นตัวอย่างมาตราบจนปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของ “กลอนนิราศ” และ “กลอนนิทาน” แต่วรรณกรรมคำกลอนอีกลักษณะหนึ่งที่ท่านได้ประพันธ์ไว้และมีคุณค่าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากลอนนิราศและกลอนนิทาน ก็คือ “กลอนเสภา” ซึ่งเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้ชำระเสภาขุนช้างขุนแผน ได้ทรงประชุมกวีเอกสมัยนั้นช่วยกันแต่งคนละตอนสองตอน สุนทรภู่ก็ได้รับมอบหมายให้ร่วมแต่งด้วยตอนหนึ่ง คือ “ตอนกำเนิดพลายงาม” ส่วนบทเสภาของสุนทรภู่อีกเรื่องหนึ่งนั้น คือ “เสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร” ซึ่งแต่งขึ้นตามพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในช่วงปี พ.ศ. 2397 เนื้อเรื่องของเสภานี้มี 2 ตอน คือ ตอนแรกกล่าวความตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าอู่ทองทรงสร้างเมืองอยุธยา เขมรคิดแข็งเมือง จึงมีการทำสงครามกับเมืองเขมร ตอนที่ 2 กล่าวถึงสงครามระหว่างไทยกับหงสาวดี เริ่มจากพระเจ้าหงสาวดีมีพระราชสาส์นมาขอช้างเผือกในสมัยรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ถึงตอนพระเจ้าไชยเชษฐาแห่งกรุงศรีสัตนาคนหุตแพ้ทัพกลับไป เมื่อนำเรื่องของวรรณกรรมเสภาหรือบทเสภา ซึ่งเป็นเรื่องราวที่แต่งขึ้นด้วยรูปแบบคำประพันธ์ประเภทกลอนเสภาเป็นหลักเพื่อวัตถุประสงค์ในการนำไปขับเป็นทำนองมาเป็นประเด็นในวันนี้ ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจสงสัยว่ากลอนเสภามีลักษณะแตกต่างไปจากกลอนสุภาพที่เห็นอยู่ทั่วไปอย่างไร หากจะอธิบายเรื่องเกี่ยวกับกลอนเสภานั้น คงต้องบอกกล่าวให้รู้ว่ากลอนเสภาที่ว่านี้มีลักษณะของรูปแบบการประพันธ์ที่ชัดเจนมาตั้งแต่วรรณกรรมเสภาเรื่องแรก คือ เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนแล้ว โดยลักษณะที่เด่นที่สุด คือ มักขึ้นต้นบทว่า “ครานั้น” ประกอบกับคำอื่นจนครบวรรค และการใช้คำขึ้นต้นอื่นๆ ทำให้วรรณกรรมเสภาเรื่องอื่นๆ มักจะปรากฏคำขึ้นต้นว่า “ครานั้น” เช่นกัน ดังเช่น ครานั้นโหงพรายเจ้าพลายแก้ว เห็นแล้วว่าเขาเอายาใส่ กระซิบบอกนายพลันด้วยทันใด เดี๋ยวนี้เมียเสียไปใจไม่ตรอง (เสภา เรื่อง ขุนช้างขุนแผน) ครานั้นเศรษฐีชื่อเสถียร เมียชื่อยานเพียนผิวเนื้อขาว อยู่บ้านเขาชนไก่ที่ไผ่ยาว ต้นมะพร้าวรายเรียงอยู่ริมเรือน (เสภา เรื่อง พระยากงพระยาพาน) ครานั้นพระองค์ผู้ทรงภพ เลิศลบแดนไตรในใต้หล้า (เสภา เรื่อง ศรีธนญไชยเชียงเมี่ยง) ในด้านการใช้คำขึ้นต้นวรรคดังกล่าวนี้ จะเห็นได้ว่าวรรณกรรมเสภาที่แต่งขึ้นในสมัยอยุธยาจนถึงในรัชกาลที่ 4 มักมีการขึ้นต้นบทว่า “ครานั้น” แต่ก็ใช่ว่าจะไม่ปรากฏใช้การขึ้นต้นบทด้วยคำอื่นๆ เสียเลย ดังเสภาเรื่องนายชื้นนายโชติ ตลอดทั้งเรื่องไม่ปรากฏคำขึ้นต้นบทว่า “ครานั้น” เลย แม้จะมีการใช้คำขึ้นต้นบทอื่นๆ แต่ยังคงมีลักษณะแบบกลอนเสภาอยู่ เช่น ฝ่ายมัจฉาที่รักษาสำรับสมุทร เห็นมนุษย์วิดวนชลเชี่ยว ปลาใหญ่น้อยตื่นกระหนกตกใจเกรียว ว่ายขึ้นล่องท่องเที่ยวปรึกษากัน หรือบางบทก็ขึ้นว่า จักกล่าวถึงกระทาชายชื่อนายโชติ เป็นคนโหดยากร้ายเสียหนักหนา สู่สมภิรมย์ร่วมกับภรรยา ผัวเจรจาเมียขัดทุกคำไป บรรดาคำขึ้นต้นบทดังกล่าวนี้ ก็ไปปรากฏในบทเสภาเรื่องขุนช้าง – ขุนแผน เช่นกัน ทั้งนี้อาจจะเป็นลักษณะของการเป็นเรื่องเล่าเหมือนกัน อย่างเช่น จะกล่าวถึงเรื่องขุนแผนขุนช้าง ทั้งนวลนางวันทองผ่องศรี หรือ มาจะกล่าวถึงนางศรีประจัน เที่ยงคืนนอนฝันในเคหา ด้วยเหตุที่ยุคสมัยของสุนทรภู่เป็นยุคทองของการเล่นเสภา จึงปรากฏว่าครูกลอนอย่างสุนทรภู่ และครูแจ้งได้แทรกคำประพันธ์พื้นบ้านเข้าไปเล็กน้อยด้วย คือ บทสู่ขวัญลาวหรือบททำขวัญลาว และบทแอ่ว เพื่อสร้างบรรยากาศและความบันเทิงให้กับเรื่องมากขึ้น เนื่องจากเป็นการแทรกพิธีกรรมแบบท้องถิ่นและบทขับลำแบบท้องถิ่นเข้าไว้ด้วย ผลที่ได้รับจากการแทรกบทสู่ขวัญด้วยการใช้ภาษาไทย ภาษาลาว และภาษามอญ คือทำให้ผู้อ่านหรือฟังบทเสภาเกิดความรู้สึกร่วม และสัมผัสได้ถึงบรรยากาศของชุมนุมชนที่มีผู้คนหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ส่วนบทแอ่วภาษาลาวก็ทำให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังรับรู้ถึงอารมณ์ และความทุกข์ยากของเชลยได้ลึกซึ้งขึ้นเช่นกัน ส่วนบทเสภาที่แต่งขึ้นในรัชกาลที่ 5 จนถึงรัชกาลที่ 7 จึงเริ่มมีการใช้คำขึ้นต้นบทอื่นๆ และมีการนำเอารูปแบบของกลอนบทละครเข้ามาประกอบด้วย ซึ่งมีการแทรกบทเจรจาแบบเดียวสืบเนื่องมาถึงวรรณกรรมเสภาที่แต่งขึ้นในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีวรรณกรรมเสภาที่แต่งขึ้นในสมัยปัจจุบันที่นำเอาคำประพันธ์ประเภทกลอนเพลงยาวเข้ามาผสมผสานด้วย อย่างไรก็ตาม วรรณกรรมเสภาในปัจจุบันยังคงใช้รูปแบบ ตลอดจนมักขึ้นต้นว่า “ครานั้น” และคำขึ้นต้นอื่นๆ เช่นเดิมอยู่ ทั้งนี้เนื่องมาจากความนิยมที่มีสืบเนื่องมาตั้งแต่เดิมนั่นเอง พัฒนาการด้านชนิดคำประพันธ์ในวรรณกรรมเสภาจากตารางข้างต้น จะเห็นว่า วรรณกรรมเสภาส่วนใหญ่แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทกลอนเสภาล้วนๆ เท่านั้น ที่แต่งด้วยกลอนเสภาและมีคำประพันธ์ชนิดอื่นแทรก คือ โคลง ร่าย ฉันท์ และคำประพันธ์ประเภทเพลงพื้นบ้านภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง และส่วนที่แทรกดังกล่าวนี้ก็เป็นเพียงส่วนน้อยของเรื่องเช่นเดียวกัน หมายเหตุ: คัดจาก “สุนทรภู่” เสภาชั้นครู ยุคทองต้นรัตนโกสินทร์, วัฒนะ บุญจับ 2554