“...คำว่า วัฒนธรรมนี่ จะแปลว่าอะไรก็แล้วแต่จะตีความ ความจริงแปลว่า ความเจริญความก้าวหน้า แต่วัฒนธรรมในที่นี้ก็คงจะบ่งถึงว่า มีความเจริญมาช้านาน ไม่ใช่ว่ามีความเจริญก้าวหน้า แต่มีความเจริญมาเป็นเวลาช้านาน ต่อเนื่องมาและจนกระทั่งฝังอยู่ในสายเลือด แต่ถ้าเราไปแสดงตนว่ามีวัฒนธรรม ว่ามีฝีมือ เท่านั้นเองก็ไม่พอ ต้องแสดงว่าวัฒนธรรมของเราอยู่ในเลือด วัฒนธรรมไทยมีความอ่อนโยน ก็ต้องเป็นคนอ่อนโยนทั้งในเวลาที่มาแสดง ทั้งนอกเวลาแสดง วัฒนธรรมหมายถึงว่าเป็นคนที่มีความคิดสูงด้วย อย่างเราบอกว่าคนนี้มีวัฒนธรรมหรือคนที่ไม่มีวัฒนธรรม หมายความว่าคนนี้หยาบคายหรือคนนี้อ่อนโยน มีความ สุภาพเรียบร้อย ก็แสดงความสุภาพเหมือนกัน ให้เห็นว่า ความสุภาพอ่อนโยนนั้นอยู่ในเลือดของคนไทย...” พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานแก่คณะนาฏศิลป์จากกรมศิลปากร เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ บอกเล่ากันไปบ้างแล้วว่ากรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.)โดยกองกิจการเครือข่ายทางวัฒนธรรม กลุ่มส่งเสริมเครือข่ายแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมและกลุ่มส่งเสริมเครือข่ายท้องถิ่นและชุมชน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช รวมถึงเพื่อส่งเสริมพัฒนาชุมชนเพื่อเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวด้วยมิติทางวัฒนธรรมประจำปี2562 โดย นางสาวสุดดา เจี่ยสกุล ผอ.กลุ่ม และนางมานัสศรี ต้นไล้ผอ.กลุ่มนำคณะผู้ทรงคุณวุฒิลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยียนพบปะพูดคุยพร้อมทั้งให้คำแนะนำ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรที่ทรงมุ่งมั่นการส่งเสริมทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามอันเกิดจากภูมิปัญญาที่ดีงามทรงคุณค่าที่บรรพชนสร้างสรรค์ พร้อมทั้งรักษาสืบสานมาตราบวันนี้ ทรงนำพระองค์เป็นแบบอย่างแก่พสกนิกรไทยมาด้วยเวลายาวนานนับแต่เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติถึง 70 ปี โดยน้อมนำพระราชปณิธานขยายผลสู่คนไทยเพื่อเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทถวายเป็นพระราชกุศล รวมถึงเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการ "เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”ด้วยทรงตั้งพระราชหฤทัยเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทสืบสาน รักษา ต่อยอดพระราชดำริ พระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรสร้างประโยชน์สุขแก่ราษฎร เดินทางตั้งแต่วันที่ 3 มิย. ไปจบวันที่ 7 มิย.เริ่มที่จังหวัดอุบลราชธานีศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช(ศวธ.)แห่งแรกที่ไปเยือนคือศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชบ้านชีทวน ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จุดที่สองคือศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชบ้านปะอาว หมู่ 5 ตำบลปะอาว อำเภอเมืองอุบลราชธานีชาวบ้านรวมพลังดำเนินการในรูปของพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นปะอาวและพัฒนาเป็นศวธ.ปะอาว ไปต่อที่อำเภอตระการพืชผล จ.อุบลราชธานีเยือนศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชเกษมสีมา ตั้งอยู่ในวัดเกษมสำราญ หมู่ที่9 ตำบลเกษม คณะเดินทางต่อไปยังจังหวัดมุกดาหารเข้าเยี่ยมชมพบปะผู้บริหารและชาวบ้าน ณ ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชนาอุดม-โนนหนองหอ เป็นแห่งแรก ตั้งอยู่ในวัดนาอุดม หมู่ 5 ตำบลอุดม อำเภอนิคมคำสร้อย พื้นที่ชุมชนโดยรวมเป็นแหล่งโบราณคดีโนนหนองหอ จากนั้นเดินทางไปยังศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชบ้านภูซึ่งที่ตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านภูเป็นรากฐานอยู่แล้ว ณ หมู่ 1 ถนนหนองสูง-นิคมคำสร้อย ตำบลบ้านเป้า อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชแห่งนี้จึงเป็นศูนย์กลางที่คนในชุมชนมาพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ออกจากจังหวัดมุกดารหารคณะเดินทางไปต่อจังหวัดอำนาจเจริญไปเยือนศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชวัดศรีโพธิ์ชัย หมู่ 1 ตำบลปลาค้าว อำเภอเมืองอำนาจเจริญ เป็นที่รวบรวมโปราณวัตถุเช่นพระพุทธรูปไม้ ตู้พระไตรปิฎกโฮงฮดไม้แบบโบราณ วรรณกรรมพื้นบ้าน เดินทางต่อไปยังศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชตำบลน้ำปลีก บ้านดงบัง หมู่10 ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ หัวใจหลักของการอนุรักษ์สืบสาน ต่อยอด ณ ชุมชนแห่งนี้คือการอนุรักษ์ศิลปะการแสดงพื้นบ้านได้แก่ “หนังตะลุงปราโมทัย”คณะน้ำปลีกบันเทิงศิลป์ โดยดัดแปลงเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานเช่นพิณ แคน มาประกอบการแสดงแทนเครื่องดนตรีทางภาคใต้ที่จุดเกิดหนังตะลุง ขอสรุปภาพรวมศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชทุกแห่งดังเอ่ยชื่อที่อยู่ข้างต้นที่คณะได้ไปสัมผัสมาหนนี้ภายใต้ความร่วมมือส่งเสริมพัฒนาร่วมกันระหว่างราชการอย่างเช่นสวธ. ส่วนราชการในท้องถิ่นตลอดจนภาคเอกชนซึ่งมีหัวใจหลักคือชาวชุมชนมีความเข้มแข็งกล่าวได้เต็มปากว่าชุมชนที่ตั้งศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชทุกแห่งเป็นชุมชนเข้มแข็งในทุกมิติ ส่วนใหญ่มีวัดเป็นพลังนำสู่การพัฒนาทั้งทางกายและทางจิตใจ มีการนำเยาวชนเข้ามาซึมซับเพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดต่อไปผ่านการเพิ่มมูลค่าทั้งมูลค่าที่เป็นคุณค่าและมูลค่าที่เป็นอาชีพเช่นผลผลิตทางการเกษตร ผลผลิตที่เกิดจากฝีมือหัตถกรรมทอผ้าจักสานไปจนถึงมูลค่าแห่งศิลปการแสดง มูลค่าที่สามารถดึงดูดคนถิ่นอื่นชาวต่างชาติไปท่องเที่ยวเยี่ยมเยียนสัมผัสมรดกวัฒนธรรมประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่นทำให้ชุมชนมีระบบเศรษฐกิจเลี้ยงตัวเองได้ อันกล่าวได้เต็มว่าชาวชุมชนดำรงวิถีที่สามารถพึ่งพาตนเองได้แล้วดำรงรักษาต่อยอดวิถีชีวิตวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามให้คงอยู่ล้วนเพราะซึมซับหลักการตามพระราชดำริหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยเพราะต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและถวายเป็นพระราชกุศลที่ทรงทุ่มเทพระองค์สร้างประโยชน์สุขเพื่อราษฎรทุกคน ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม [email protected]