คอลัมน์ “ด้วยสมองและสองมือ” ด้วยการค้นพบประโยชน์มากมายของน้ำมันปาล์มแดงที่อุดมไปด้วยสารเบต้าแคโรทีน ก่อเกิดเป็นงานวิจัยพัฒนาสบู่จากน้ำมันปาล์มแดง โดยอาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้นำมาแปรรูปเป็นสบู่ บำรุงผิว ลดริ้วรอยเหี่ยวย่น ลดอักเสบ โดยเฉพาะคนที่ผิวแห้ง เป็นการเพิ่มมูลค่าของน้ำมันปาล์มแดง และพัฒนาต่อยอดจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ อ.กมะริยะ ขันราม ผู้ช่วยอาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เจ้าของงานวิจัยเปิดเผยว่า ได้ทำงานวิจัยพัฒนาสบู่จากน้ำมันปาล์มแดง (Product Development of Soap from Red Palm oil) เพื่อเพิ่มมูลค่าของน้ำมันปาล์มแดง ซึ่งเป็นน้ำมันที่ประกอบด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ เช่น วิตามินเอ และแคโรทีนอยด์ สำหรับน้ำมันปาล์มแดงนี้ ได้มาจากไร่บุญตะวัน จังหวัดกาญจนบุรี ส่วนตัวอาจารย์เป็นคนสนใจทำสบู่ และสนใจสารนี้มานานแล้ว ในการทำสบู่นั้นจะมีน้ำมันหลายตัว แต่สนใจน้ำมันปาล์มแดง ซึ่งในน้ำมันที่ยังไม่ได้ผ่านการกลั่น การสกัดนั้น มีสารสำคัญมากมาย ถ้านำมาทำสบู่จะเป็นการคงคุณค่าของสารสำคัญนี้ และสืบเนื่องจากการรีวิว Paper เป็นจำนวนมาก ในแอฟริกาเขานำน้ำมันปาล์มแดงมาใช้บำรุงผิวพรรณและพบว่าช่วยรักษาสภาพผิวได้ดี ถ้านำมาทำสบู่ก็น่าจะได้ผลดี บวกกับในส่วนมหาวิทยาลัยเองก็มีแนวคิดที่ว่า ทำอย่างไรจะช่วยเพิ่มมูลค่าของน้ำมันปาล์มแดง ซึ่งมาจากไร่บุญตะวัน ทางภาควิชาเคมี จึงได้รับหัวข้อมาว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้าง “ในส่วนของอาจารย์ก็คิดว่าควรนำมาทำสบู่ โดยจะใช้น้ำมันปาล์มแดงให้ได้มากที่สุด เพื่อเพิ่มมูลค่าของน้ำมันปาล์ม เพราะปกติที่จำหน่ายหน้าโรงงานจะมีราคาถูก แต่ถ้าเราแปรรูป หรือทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้นั้น จะทำให้มีมูลค่าเพิ่ม ทำในเชิงธุรกิจ และสามารถพัฒนาเป็นอาชีพเสริมได้ นอกจากนี้ ทางด้านการเรียนการสอน นักศึกษาก็จะได้เห็นนวัตกรรมจริงๆ เพราะอาจารย์ทำแล้วก็สอนด้วย โดยมี Lab ที่เรียกว่า ปฏิกิริยาการเกิดสบู่ นอกจากนี้ยังมีการสอน และอบรมคนในชุมชน ก็จะนำแนวคิดนี้ไปสอน ซึ่งชาวบ้านสามารถหยิบน้ำมันในครัวเรือนที่เขามีอยู่มาใช้ประโยชน์ได้เลย” อ.กมะริยะ กล่าว ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าว ได้ทดลองนำน้ำมันปาล์มแดงมาทดแทน น้ำมันบัว (น้ำมันมะพร้าวผสมน้ำมันเมล็ดในปาล์มอัตราส่วน 1:1) น้ำมันรำข้าว และน้ำมันปาล์มโอเลอินในการผลิตสบู่ โดยได้ศึกษาสูตรที่เหมาะสมในอัตราส่วนร้อยละ โดยน้ำหนัก “ของน้ำมันบัว : น้ำมันรำข้าว : น้ำมันปาล์มแดง ทั้งหมด 7 สูตร และนำสูตรสบู่ทั้งหมดไปตรวจสอบคุณสมบัติทางกายภาพทางเคมี พบว่า สบู่ทั้ง 7 สูตร มีสมบัติทางกายภาพ และทางเคมี เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก.29-2545 และผลิตภัณฑ์ชุมชน มผช.94/2545 จากนั้นนำไปคัดเลือกสูตรที่เหมาะสมและประเมินความพึงพอใจหลังการปรับปรุงพัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่า สูตรที่ 4 มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด (4.13±0.64 จากคะแนนเต็ม 5.00) เมื่อนำสบู่สูตรที่ 4 มาปรับปรุงพัฒนาโดยการแต่งกลิ่น พบว่า มีคะแนนอยู่ในระดับมาก (4.47±0.18) เมื่อศึกษาความพึงพอใจของกลุ่มตัวอย่างที่มีต่อสบู่ที่พัฒนาจากสูตรที่ 4 พบว่า มีคะแนนอยู่ในระดับมาก (4.34±0.71) “สำหรับประโยชน์ของผลิตภัณฑ์โดยตรงคือ การบำรุงผิว ลดริ้วรอยเหี่ยวย่น ลดการอักเสบ โดยเฉพาะคนที่ผิวแห้ง แต่ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง โดยทั่วไปสบู่จะมีไว้ใช้ชำระล้างไขมันที่อยู่บนผิวเรา แต่
ถ้าเป็นสบู่โรงงานเวลาทำเสร็จจะได้สบู่กับกลีเซอรีน เขาจะแยกกลีเซอรีนออกไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางเพราะมีราคาแพง แต่สบู่ของเราในก้อนเดียวมีทั้งสบู่และกลีเซอรีน ซึ่งรู้กันดีอยู่แล้วว่ากลีเซอรีนให้ความชุ่มชื่นกับผิว แต่ดีขึ้นไปอีกเพราะมีสารสำคัญ แคโรทีนอยด์ วิตามินเอ วิตามินอี ที่เราไม่ได้เอาออกเลย จะเห็นได้จากสีของสบู่ อีกอย่างคือช่วยในเรื่องของการต้านอนุมูลอิสระ
ถ้าใช้เป็นประจำ เรื่องผิวพรรณรับรองได้ว่าดีจริงๆ เพราะอาจารย์ก็ใช้เอง คนในภาควิชาเคมีก็ใช้และเก็บข้อมูลตามความเป็นจริง เสียงตอบรับมาทุกคนชอบ ซึ่งที่ผ่านมาทางภาคฯ ได้มีการจัดอบรมสอนทำสบู่ อาจารย์ก็จะให้คำปรึกษาตลอด ในอนาคตอาจจะต่อยอดไปในกลุ่มคนที่เป็นโรคผิวหนัง เช่น สะเก็ดเงิน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม นอกจากสบู่ก้อนแล้ว เรายังสามารถนำไปทำสบู่เหลว เพราะสบู่เหลวจากน้ำมันปาล์มแดงจะไม่เหมือนสบู่ตามท้องตลาด มีสีสวยงาม นอกจากนั้น ยังนำไปทำโลชั่นได้อีก ทั้งนี้ ในอนาคตคาดว่าจะมีจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะต้องจดสิทธิบัตรและยื่นขอจดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อความมั่นใจของผู้บริโภคต่อไป” อ.กมะริยะ กล่าวทิ้งท้าย