สศร.สนับสนุนโครงการศิลปะร่วมสมัยระดับชุมชนในหลายรูปแบบ ดร.วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผอ.สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กล่าวว่า สศร.มีแนวทางในการสนับสนุนโครงการศิลปะร่วมสมัยระดับชุมชนในหลายรูปแบบ โดยพิจารณาความพร้อมของแต่ละพื้นที่ ทั้งศิลปิน บุคลากร ผลงานการออกแบบ และพื้นที่ตั้งของชุมชน ในส่วนชุมชนมีความเข้มแข็งอยู่แล้วจะให้การสนับสนุนส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ที่มีอยู่เพื่อเติมความคิดสร้างสรรค์ ที่สำคัญเน้นให้ความระมัดระวังไม่ให้ทำลายคุณค่าเดิมของสิ่งที่มีอยู่ จะช่วยให้เกิดโครงการศิลปะร่วมสมัยระดับชุมชนที่มีความยั่งยืน โดยขณะนี้มีต้นแบบการดำเนินงาน อาทิ โครงการประติมากรรมหุ่นฟางร่วมสมัย “ขัวแตะคนยอง” บ้านป่าตาล จ.เชียงใหม่ โครงการเทศกาลศิลปะและวัฒนธรรมที่ศูนย์ศิลปะวิถี จ.ตรัง จะมีการขยายผลไปทั่วประเทศ เพื่อสามารถสร้างจุดขาย โดยออกแบบสถานที่ กับการจัดตั้งแสดงงานศิลปะ สร้างกิจกรรมทางศิลปะได้อย่างหลากหลาย ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ วัดผลการดำเนินงานต่อเนื่อง ผอ.สศร. กล่าวอีกว่า ล่าสุดสศร.ได้ดำเนินการโครงการเทศกาลศิลปะร่วมสมัยลุ่มแม่น้ำโขง เป็นการนำศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยมาเป็นทุนทางวัฒนธรรมในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงและนานาชาติ โดยการส่งเสริมอัตลักษณ์ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมกันของพื้นที่แถบลุ่มแม่น้ำโขง 4 จังหวัด ได้แก่ นครพนม หนองคาย มุกดาหาร และบึงกาฬ มีการจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการและทักษะฝีมือด้านวิชาชีพต่างๆ พบว่า สามารถช่วยศิลปินและเครือข่าย ตลอดจนองค์กรชุมชนได้มีพื้นที่ในการจัดแสดงและจำหน่ายงานศิลปะ นำรายกลับคืนสู่ท้องถิ่น ด้าน รศ.ลิปิกร มาแก้ว หัวหน้าหลักสูตรทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กล่าวว่า โครงการประติมากรรมหุ่นฟางร่วมสมัย เกิดจากความต้องการของชุมชนโดยอ้างอิงจากตำนาน ประวัติศาสตร์เรื่องเล่าของชุมชน นำมาสร้างแบบร่างเป็นรูปแบบประติมากรรม หุ่นฟาง 5 ชิ้น ขนาดความสูงประมาณ 5 เมตร เรียงรายเป็นแลนด์มาร์คดึงดูดชวนให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาสู่ชุมชน โดยวัสดุที่ใช้ได้มาจากงานเกษตรกรรมในท้องถิ่น เช่น ฟางข้าว นำมาผสานกับโครงสร้างเหล็กเชื่อมเป็นรูปทรงต่างๆ ช้าง พญานาค เป็นต้น “นอกจากได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมไทย ระหว่างสถาบันการศึกษาและชุมชน กลุ่ม ศิลปิน สล่า ในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และเทคนิคกระบวนการสร้างงานประติมากรรมหุ่นฟางร่วมสมัยสู่ชุมชน สิ่งที่ตามมาคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ยั่งยืน ด้วยความรักความห่วงแหนท้องถิ่น และความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ ชาติพันธุ์” รศ.ลิปิกร กล่าว