สื่อต่างประเทศวิพากษ์การสืบทอดอำนาจหรือการขออยู่ของฝ่ายรัฐบาลต่อไว้มาก เช่น มีการบิดเบือนกฎหมายเพื่อเข้าสู่อำนาจ เป็นประชาธิปไตยจอมปลอม ทำให้เศรษฐกิจแย่ ต่างชาติขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน แต่ฝ่ายรัฐอ้างเศรษฐกิจแย่เพราะผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา มาดูข้ออ้างของฝ่ายรัฐว่าไม่ใช่การสืบทอดอำนาจเพราะ “การสืบทอดอำนาจเป็นเพียงตุ๊กตาตัวหนึ่ง” เท่านั้น คือ (1) รัฐบาลมาจากกติกา คือเป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ แต่นักวิชาการเห็นว่าไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐ หรือหลักนิติธรรม (The Rule of Law) (2) บ้านเมืองต้องเดินไปข้างหน้าต้องมีการเลือกตั้งและมีรัฐบาล ข้ออ้างนี้ไม่สมเหตุผลเพราะไม่ว่าใครมาบริหารประเทศก็ต้องเดินหน้า (3) รัฐบาลชุดเดิมย่อมมีความชอบธรรมในการสานต่อโครงการโดยขออาสาตัวเข้ามาทำงานต่อได้ โดยเฉพาะสถานการณ์ความจำเป็นในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) ในงานโครงการใหญ่ของรัฐที่ได้วางรากฐานไว้ เป็นการดำเนินตาม “แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” (4) มีการวางแนวทางให้นายทุนใหญ่เดินหน้าเศรษฐกิจไว้แล้วด้วยเงินทุนพัฒนาจำนวนมหาศาล แนวทางนี้ลืม “คนรากหญ้า” แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจสำคัญกว่า มีข้อสังเกตว่า (1) มีกลุ่มผลประโยชน์ที่กุมอำนาจเศรษฐกิจ โดยอาศัยอำนาจตำแหน่งหน้าที่ของผู้สืบทอดอำนาจนี่น่ากลัวมากกว่า (2) ผู้สืบทอดอำนาจไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องผลประโยชน์ไม่ว่าทางตรงทางอ้อม ไม่ว่าฝ่ายใดเป็นรัฐบาล และ (3) ที่สำคัญคือผู้สืบทอดอำนาจเชื่อมั่นว่าตนได้ทำถูกทางแล้วถือว่าถูกต้อง คนหัวเก่าหัวใหม่ในสนามรบโซเชี่ยลมีอิทธิพลสูงสุด วาทะกรรมแห่งความร้าวฉาน (Hate Speech) ที่ยุให้คนแตกแยกกัน มาจากสังคมที่แบ่งพวก แบ่งแยกความคิด (กีฬาสี) นัยว่าเป็นการต่อสู้กันระหว่างคน “Analog” (หัวเก่า) หรือพวกอนุรักษ์ (Conservative) พวกอีลีท (Elite) กับคน “Digital” (หัวใหม่) หรือพวกหัวใหม่ (Progressive, Futurista) คนหัวใหม่ในที่นี้ได้แก่ คนรุ่น Gen Z เกือบทั้งหมดเป็น New Voters (อายุ 18-26 ปี) และ พวกคนไม่มีรุ่นที่เรียกว่า Gen C (คือ Gen Computer คือพวกโซเซียล) รวมประเมินจากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาประมาณกว่า 7 ล้านคนคนสองกลุ่มนี้ต่อสู้กันในสนาม “Social Media” (เรียกย่อว่า “โซเชี่ยล”) เฉพาะเฟซบุ๊ค (Face book : FB) ทั่วโลกใช้ 2 พันล้านคน หรือร้อยละ 27 ของประชากรโลก สถิติคนไทยเฟื่องฟูติดอันดับโลกที่ใช้ FB ซึ่งในโซเชียลก็มี “กองกำลังปันข่าวคุ้ยข่าว” (IO : Information Operation) คอยจัดการพวกเห็นต่างทางความคิด จึงไม่แปลกที่กระแสการต่อต้านเห็นต่างของประชาชนง่ายมากไปตามกระแสโซเซียล ยกตัวอย่างการประท้วงกฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่ฮ่องกง หรือ การประท้วงต่อต้านของสองฝ่ายที่หนุนและไม่หนุนรัฐบาลทหารซูดาน เป็นต้น ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถของรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะมายิ่งนัก ว่ากันว่า “สังคมทุกวันนี้มีแต่คนวิพากษ์ วิจารณ์ และ คนป่วน เป็นส่วนมาก แต่มีคนที่ทำจริง ๆ ส่วนน้อย เพียงคนสองคน” อย่างไรก็ตามในความเห็นต่างนั้น ควรปรับให้เข้ายุคใหม่ที่ไม่ลืมของเก่าที่เป็นแบบอย่างที่ดี ที่บรรพชนได้สร้างให้ไว้ดีแล้ว บริโภคนิยมและเศรษฐกิจพึ่งพิงทำให้ชาวบ้านเป็นหนี้ เรื่องสำคัญที่สุดตอนนี้ลองไปถามดูตามบ้านนอก ชนบทที่มีเกษตรกร คนใช้แรงงาน คนรับจ้างฯ เป็น “เรื่องปากท้องของชาวบ้าน” เป็น “เศรษฐกิจในระดับชุมชนชาวบ้าน” แน่นอนว่า ก็คือ อปท. วาทกรรมให้ชาวบ้านมุ่งแต่แสวงหาโภคทรัพย์ที่ล้นพ้นเกินตัว เรียก “การบริโภคนิยม” (Consumerism) ทำให้สังคมที่มีแต่ความเร่งรีบ อยากได้อยากหา มีความหวังแบบห่างไกล ยิ่งหามันยิ่งห่าง ความพอเพียงจะไม่เกิด จึงเป็นช่องทางอันดีของ “ทุนนิยม” (Capitalism) หรือ “ทุนนิยมเสรี” (Liberalism) หรือจะเรียกว่า “ทุนสามานย์” (ทุนนิยมเสรีที่ไม่มีคุณธรรมก่อให้เกิดการผูกขาด) ก็แล้วแต่ ที่แข่งขันเพื่อเป็นเจ้าครอบครองเศรษฐกิจ เช่น การมุ่งสร้างตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยตามแผนปีละ 3.5 เมื่อชาวบ้านตื่นตัวในการบริโภคนิยมจะพ่วงไปถึงภาคราชการก็ต้องใช้เงินงบประมาณที่มากขึ้น โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ (Big Project) ล้วนพอกพูน “หนี้สินสาธารณะ” (Public debt) มากขึ้นทุกปี มีการใช้เงินในอนาคต (เงินกู้ และเงินสำรอง) เป็นจำนวนมาก ควบคู่ไปกับ “หนี้สินครัวเรือน” (Household Debt) ข้อมูลมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยพบว่า หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งสูงสุดในรอบ 5 ปีติดอันดับ 10 ของโลก ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พฤษภาคม 2562 อยู่ที่ 77.7 ต่ำสุดในรอบ 19 เดือน ยิ่งมองไม่เห็นทางว่า หนี้ครัวเรือนจะหลุดพ้นไปได้เมื่อใด เพราะหากประเทศเดินไปในลักษณะเช่นนี้ ชาวบ้านที่ไม่มีกำลังมากพอด้วยไม่มีทุน ขาดโอกาส ขาดศักยภาพ ไม่สามารถปรับตัวได้ทันเหตุการณ์ จะตกอยู่ในภาวะการครองชีพ (Cost of living) ที่ยากลำบากมากขึ้น ยิ่งใน “ภาวการณ์พึ่งพิง” (Dependent) ภาคธุรกิจ ทุนต่างชาติ หรือทุนหมุนเวียนภาคธุรกิจที่ไม่มีความยั่งยืน ยิ่งทำให้ชาวบ้านไม่สามารถกำหนดแผนดำเนินชีวิตของตนเองได้ เศรษฐกิจชาวบ้านแย่ ชาวนา ชาวไร่ เกษตร คนรับจ้าง แย่หมด ยากจน ค้าขายไม่ออก เพราะกลุ่มทุนยึดฐานไว้หมดแล้ว โอทอป เศรษฐกิจชุมชน ก็ทำแบบไฟไหม้ฟาง เฉพาะหน้า ไม่ยั่งยืน ชาวบ้านเป็นหนี้สินกับนายทุน ผ่อนรถ ผ่อนมอเตอร์ไชค์ หนี้ซื้อปุ๋ย สารเคมี หนี้กู้ ธกส. กู้กองทุนหมู่บ้าน ลูกหลานแย่ จะเรียนต่อสูง ๆ ก็ยาก ฯลฯ เศรษฐกิจระดับชุมชนพื้นบ้านไม่ขยายตัว ไปกระจุกที่ทุนใหญ่ ชาวบ้านในชนบท ลูกหลานไปทำงานภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจบริการ แล้วส่งเงิน กลับบ้านให้พ่อแม่บรรเทาหนี้สิน ธกส. สหกรณ์ ฯลฯ หนี้นอกระบบ ไม่ว่าจะด้วยเหตุจำเป็น หรือบังเอิญ ที่สร้างสะสมพอกพูนเอาไว้ จนหมดทางเยียวยา ก็ต้องหาไปหารายได้เสริม แรงงานย้ายถิ่นจึงมีเป็นจำนวนมาก สังเกตง่ายมากจากปัญหาการจราจรรถติดในช่วงวันหยุดยาว แม้ในวันทำงานปกติก็รถติดเป็นช่ว ในชั่วโมงเร่งรัดตอนเช้า และตอนเย็น มีการแย่งสาธารณูปโภคสาธารณูปการรถไฟ รถยนต์โดยสาร ฯลฯ และที่สำคัญคือ การคงพึ่งพิงระบบการลงทุน และทุนจากต่างชาติ ภาคราชการได้ภาษีเพิ่ม ชาวบ้านได้รายได้เพิ่ม แต่พอถึงจุดอิ่มตัว สินค้าผลิตยอดขายลดลง ธุรกิจปิดตัวลง คนที่พึ่งพิงระบบทุนจะตกงาน บางคนพอมีทุนรอนอยู่บ้าง ก็ไปเร่ขายของตามตลาดนัด ที่เกิดหลายนัดกระจายไปทั่วไปสร้างผลกระทบให้แก่ผู้ค้าประจำถิ่นที่ขายสินค้าไม่ออก เพราะคนไปซื้อสินค้าตลาดนัดกันหมด สภาพทั่วไปจึงมีแต่คนขายของ แต่มีกำลังซื้อมีน้อยลง ลัทธิบริโภคนิยมไม่เว้นในโครงการสำคัญของรัฐ เช่น โครงการเตาเผาขยะ โรงคัดแยกขยะ โรงบำบัดน้ำเสีย ของ อปท.ที่อยู่ใต้แผนงานที่เพ้อฝันตามนักวางแผนลัทธิบริโภคโดยมีเจ้าของธุรกิจนั้น ๆ ล็อคสเปคอยู่เบื้องหลัง เป็นความจริงที่ไม่ปฏิเสธ ปรากฏการณ์ “ขายโง่” หรือการเสีย “ค่าโง่” ของภาคราชการไทยจึงยังมีอยู่ หากเป็นเช่นนี้ แล้วเมื่อใดที่สังคมไทยจะถึง “จุดพอเพียงจุดสมดุล จุดที่ยืนอยู่บนทรัพย์สินและปัญญาของสังคมไทยได้เอง พึ่งพาทุนต่างชาติน้อยลง” เมื่อนั้นสังคมไทยจะมีความเข้มแข็งในตัวเอง ท้องถิ่นถามหาการปลดล็อกเลือกตั้ง เมื่อมีข่าวว่าจะมีการเลือกเลือกตั้งท้องถิ่นในปีนี้หรือต้นปีหน้า ตามกำหนดวันที่กระทรวงมหาดไทยจะกำหนด กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ก็ได้จัดโครงการประชุมอบรมความพร้อมเลือกตั้งทันที โดยจ้างสถาบันอุดมศึกษาดำเนินการ แม้ว่า สถ. จะมีสถาบันที่มีหน้าที่จัดการฝึกอบรมเฉพาะแล้วก็ งบค่าลงทะเบียนราคาสูง หัวละ 7,900 บาท รวม อปท. ทั่วประเทศ 7,852 แห่ง ๆ ละ 3 คน คิดเป็นจำนวนงบประมาณแล้วมหาศาลทั้งสิ้นประมาณ 186 ล้านเศษบาท แกนนำข้าราชการส่วนท้องถิ่นสงสัยในความสมประโยชน์คุ้มค่าควรแก่การอบรมหรือไม่ เพียงใด โดยเห็นว่า ไม่เป็นประโยชน์ในระยะยาว เปลืองงบประมาณ ผู้ไปอบรมไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง ไม่ถ่ายทอด เป็นการไปรับความรู้ส่วนตัวเฉพาะตัวไป ที่เป็นตามกระแสชั่วครั้งชั่วคราว มีการทักท้วงมาหลายครั้งแล้ว แต่เป็นเพียงกระแสที่ไม่มีการติดตามผล เพราะการดำเนินการจัดการอบรมฯ ก็ยังคงเช่นเดิม ไม่เห็นมีการแก้ไข หรือดำเนินการเปลี่ยนแปลงใดๆ การปลดล็อกการแขวนบุคลากรท้องถิ่นตามมาตรา 44 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2562 ให้กลับไปรับตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่เดิม หลังจากหัวหน้า คสช. ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่มานานถึง 4 ปีเศษแก่นักการเมืองท้องถิ่น และข้าราชการสายบริหารฯ อบจ. เทศบาล อบต. รวม 15 ราย แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า การแขวนตำแหน่งมีระยะเวลาที่ยาวนานมากเป็นความไม่เป็นธรรม ทำให้เสียขวัญกำลังใจในการทำงาน ยิ่งอปท.ถูกกลืนอำนาจโดยปริยายจากบทบาทปลอมของ สถ. ที่ไม่ได้กำกับดูแลอย่างแท้จริง ทำให้เกิดปัญหาเดิมในระดับพื้นที่ทุกพื้นที่ ถูกทับถมทวีมากขึ้น เพราะนักการเมืองท้องถิ่นต่างฝ่ายต่างมีสังกัดมีฐานอำนาจของตน เหมือนกันเพียงอยู่ในพื้นที่เดียวกันเท่านั้น หากมีความแตกแยกกันมากย่อมถูกแทรกแซงมาก สำหรับนักการเมืองต่อให้มีกฎหมายจำกัดห้ามไว้ปัญหาจริยธรรมก็ยังคงอยู่ เพราะระเบียบกฎหมายถือว่ายังไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นทาง การแก่งแย่งอำนาจกันในพื้นที่ที่ต่างฝ่ายต่างแย่งกันเอาอำนาจมาอยู่ในมือเป็นเรื่องปกติ ฉะนั้น อย่าเพิ่งหวังว่าการซื้อเสียงในท้องถิ่นจะหายไป เชื่อว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยเฉพาในพื้นที่ชนบทและพื้นที่สำคัญ เมืองใหญ่ อิทธิพล การผูกขาดอำนาจฯ ยังคงปรากฏเทคนิคการซื้อเสียงที่ต่างกันไปเฉพาะที่เฉพาะแห่ง ยังเป็นปัญหาช่องว่างอยู่ว่า “ระบบผู้ตรวจการเลือกตั้ง” ที่จัดขึ้นใหม่จะขจัดการซื้อขายเสียงได้เพียงใด นักเลือกตั้งคนใดจะซื้อเสียงได้ ซื้อไม่ได้ ยังมีองค์ประกอบอื่นอีก รวมการต่อรองเกมส์การเมืองแลกผลประโยชน์ เรียกว่า “พวกรู้ทางกันแล้ว” การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น เป็นแนวคิดที่ดีของนักวิชาการ แต่ความเป็นจริง อำนาจไม่ได้ไปอยู่ในมือของกลุ่มประชาสังคมท้องถิ่น (Civil Society) จริงๆ แต่มันกลับไปอยู่ในกลุ่มทุนธุรกิจ กลุ่มอำนาจในท้องถิ่น ที่มีบทบาทครอบงำท้องถิ่นมาก่อน อำนาจที่บอกว่ากระจายไปแล้วจึงไปเสริมให้คนกลุ่มนี้ครอบงำมากยิ่งขึ้น ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งที่ผ่านมาไม่ว่า กฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง ต่างเอื้อต่อระบบทุนมาก แม้จะมีกฎหมายบริหารบุคคลท้องถิ่น ก.จังหวัด ก.กลาง และ สภา อปท. ที่ให้บทบาทการตัดสินใจในรูปของ “คณะกรรมการ” ก็ตาม ในหลายกรณีกลับเป็นว่ากรรมการเหล่านั้นตกอยู่ภายใต้อำนาจการครอบงำ ชี้นำที่มองไม่เห็นฯ ทำให้ขาดอำนาจอิสระในการตัดสินใจอย่างที่ควรจะเป็น เช่น คณะกรรมการ ก.จังหวัด ในการจัดการสอบแข่งขัน แม้แต่การสอบคัดเลือก (รวมคัดเลือก) ที่ผ่านมาเป็นตัวชี้วัดอย่างดีว่า มันมีกระบวนการทุจริตไม่ชอบจริง ๆ ไม่เชื่อลองไปหาอ่านคำพิพากษาศาลปกครองหรือสอบถามกันเองก็ได้ ไม่เว้นแม้แต่เมือง (จังหวัด) ใหญ่เมืองเล็ก