เป็นอันเรียบร้อยโรงเรียนสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)ในการจัดการบริหารคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีให้เกิดระบบ 5G ในประเทศไทย โดย3ค่ายมือถือของประเทศ “บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) ,บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชั่น จำกัด (TUC) และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN)” ตบเท้าเข้าร่วมการจัดสรรคลื่นความถี่ในครั้งนี้ แบบไม่สามารถปฏิเสธได้ เพราะรู้อยู่เต็มอกว่า “การจัดสรรคลื่นความถี่ในครั้งนี้ ก็เพื่อนำเงินไปจ่ายชดเชยให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล” จำนวน 7 ราย ที่ยื่นความจำนงในการคืนใบอนุญาตประกอบการกิจการฯ ประกอบด้วย 1.ไบรท์ทีวี (ช่อง20) 2.วอยซ์ทีวี (ช่อง21) 3. MCOT (ช่อง14) 4. สปริงนิวส์ (ช่อง19) 5. สปริง26 (ช่อง 26) 6. ช่อง3 แฟมิลี่ (ช่อง13) และ 7. ช่อง3SD (ช่อง28) โดย กสทช.จะนำเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)จ่ายชดเชยให้ไปก่อน หลังจากนั้นจึงเอาเงินจากการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ไปคืนให้กับกองทุนกทปส.ต่อไป
ทั้งนี้เบื้องต้นคณะอนุกรรมการเยียวยาพิจารณาการคืนเงินทีวีดิจิทัลกรณีคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ให้กับ ทีวีดิจิทัล 2 ช่อง คือ “บริษัท สปริง 26 จำกัด” ผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัลช่อง 26 ซึ่งยอดเงินประมูล 2,200 ล้านบาท จ่ายค่าประมูลไปแล้ว 3 งวด รวม 1,472 ล้านบาท ระยะเวลาใบอนุญาต 5,479 วัน ยังไม่ได้ใช้งานใบอนุญาตอีก 3,540 วัน คิดเป็นมูลค่าค่าธรรมเนียมที่ไม่ใช้งาน 951 ล้านบาท และเมื่อนำมาหักค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัลวงเงิน 26 ล้านบาท ค่ามัสแครี่ 33 ล้านบาท และไม่มีกำไรสุทธิ ดังนั้น ช่องสปริง 26 จะได้รับเงินชดเชย 890 ล้านบาท แต่เมื่อนำมาหักค้างชำระค่าประมูลงวดที่ 4 วงเงิน 215 ล้านบาท ทำให้เหลือวงเงินจ่ายชดเชย 675 ล้านบาท
และ “บริษัท สปริงส์นิวส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด” ผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัลช่อง 19 ซึ่งยอดเงินประมูล 1,318 ล้านบาท จ่ายค่าใบอนุญาตไปแล้ว 4 งวด วงเงิน 878.20 ล้าบาท ซึ่งหลักการคำนวณเงินชดเชยนั้น คำนวณตามระยะเวลาการใช้คลื่นความถี่จริง เมื่อไม่ได้ใช้คลื่น ก็จะคืนเงินตามจำนวนวัน เช่น ระยะเวลาใบอนุญาต 15 ปี (256-2575) หรือ 5,749 วัน สปริงส์นิวส์ ใช้คลื่นความถี่ไป 1,339 วัน ส่วนอีก 3,345 วัน ไม่มีการใช้คลื่นความถี่ และจะยุติการออกอากาศในวันที่ 15 ส.ค.2562 นี้ กสทช.จะคืนเงินชดเชยให้ 567.407 ล้านบาท แต่ต้องนำหักค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลสนับสนุน คือค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัล (Mux) 27 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (มัสแครี่) 35 ล้านบาท และผลประกอบมีกำไรสุทธิ 4.412 ล้านบาท ดังนั้นสปริงส์นิวส์ จะได้รับค่าเงินชดเชยสุทธิ 500 ล้านบาท
“ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการกสทช. กล่าวว่า ผลการจัดสรรคลื่นความถี่ 700 MHz ที่นำมาจัดสรร จำนวน 30 MHz แบ่งจำนวนใบอนุญาตออกเป็น 3 ใบ (3 ชุดคลื่นความถี่) ใบอนุญาตละ 10 MHz ราคาการจัดสรรคลื่นความถี่อยู่ที่ 17,584 ล้านบาทต่อหนึ่งชุดใบอนุญาต ปรากฏว่า บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล จำกัด (TUC) เลือกชุดที่ 1 ช่วงความถี่วิทยุ 703-713 MHz คู่กับ 758-768 MHz , บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) เลือกชุดที่ 2 ช่วงความถี่วิทยุ 713-723 MHz คู่กับ 768-778 MHz และ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) เลือก ชุดที่ 3 ช่วงความถี่วิทยุ 723-733 MHz คู่กับ 778-788 MHz
สำหรับเงินประมูลที่ได้ รวมเป็นเงินประมาณ 56,000 ล้านบาท หลังหักเงินช่วยเหลือทีวีดิจิทัล 36,000 ล้านบาท จะเหลือเงินเข้ารัฐ 20,000 ล้านบาท โดยผู้ได้รับคลื่น 700 MHz จะชำระจำนวน 10 งวดๆ ละ เท่าๆกัน เริ่มชำระงวดแรก 15 ต.ค.2563 ใบอนุญาตมีอายุ 15 ปี
ฐากร กล่าวว่า คลื่นความถี่ทั้ง 3 ชุดมีความน่าสนใจแตกต่างกัน ชุดที่ 1 เป็นชุดที่ทรู มีความร่วมมือกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ในการให้บริการคลื่น 850 MHz อยู่ก่อนแล้ว ชุดที่ 2 เป็นชุดที่ดีที่สุดเพราะไม่อยู่ติดกับคลื่นของใครเลยจึงไม่มีการรบกวนแต่มีข้อจำกัดที่การขยายเพิ่มจะทำไม่ได้ ส่วนชุดที่ 3 เป็นชุดที่ติดกับคลื่นความถี่ที่ไมโครโฟนใช้งาน ในอนาคตสามารถประมูลเพื่อขยายคลื่นความถี่ได้
ส่วนเรื่องการบีบอัดสัญญาณทีวีดิจิทัลเพื่อเตรียมพร้อมให้โอเปอเรเตอร์ใช้คลื่น 700 MHz นั้น กสทช.ต้องให้ MUXทั้ง 4 ราย 5 โครงข่าย ได้แก่ ช่อง 5 มีจำนวน 2 โครงข่าย, อสมท มีจำนวน 1 โครงข่าย, เอ็นบีที มีจำนวน 1 โครงข่าย และ ไทย พีบีเอส มีจำนวน 1 โครงข่าย เป็นผู้ขยับช่องสัญญาณโดยจะเร่งให้เสร็จภายในเดือน ก.ค. 2563 โดย MUX จะต้องเสนอแผนการขยับช่องสัญญาณให้กสทช.ภายในเดือนส.ค. 2562 จากนั้นกสทช.จะยืมเงินจากกองทุนกสทช.ประมาณ 400 ล้านบาท ก่อน จากนั้นค่อยนำเงินจากที่ได้จากการประมูลมาคืน ตามประกาศ ม. 44 เพื่อให้กับ MUX นำไปบีบอัดช่องสัญญาณใหม่เพื่อให้เสร็จทันตามกำหนด
“รายได้ที่เกิดขึ้นจากการจัดสรรคลื่นความถี่ครั้งนี้ จะต้องนำไปช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล เป็นเงินประมาณ 36,000 ล้านบาท ทำให้รัฐมีรายได้ที่เกิดจากการจัดสรรคลื่นความถี่นี้ ประมาณ 16,000 ล้านบาท และการจัดสรรคลื่นความถี่ครั้งต่อไป กสทช. มีแผนจัดสรรแบบหลายคลื่นความถี่พร้อมกัน (มัลติแบรนด์) โดยจะนำคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ออกจัดสรรคู่กับคลื่นความถี่ย่าน 26-28 กิกะเฮิรตซ์ ในช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปี 2563 เพื่อรองรับ 5G ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” นายฐากร กล่าว
“สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารAIS กล่าวว่า บ.แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค (AWN) ได้ยื่นขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่ 700 MHz.ในชุดที่ 3 ช่วงคลื่นความถี่วิทยุ 723-733 MHz คู่กับ 778-788 MHz ซึ่งมีความเหมาะสม และเป็นไปตามความต้องการใช้งาน โดยดูจากปัจจัยและเงื่อนไขต่างๆ จากคณะกรรมการที่ปรึกษาได้พิจารณาในข้อมูลต่างๆ โดยมีบอร์ดเป็นผู้พิจารณาเห็นชอบอีกครั้ง ซึ่งคลื่นความถี่ในช่วงดังกล่าวจะทำให้โอเปอเรเตอร์แต่ละราย จะมีคลื่นความถี่รองรับการให้บริการในอนาคตเพิ่มขึ้นอีกรายละ10MHz โดยทางกสทช. ยืนยันว่าจะสามารถใช้งานคลื่นความถี่ฯ ได้จริงในเดือน ต.ค.63
“วิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์” รองประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า TUCได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 700MHz. ช่วงความถี่วิทยุ 703-713 MHZ. คู่กับ 758-768 MHZ. พร้อมกันนี้ กลุ่มทรูประกาศมั่นใจเป็นผู้นำ True5G ร่วมเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ โดยจะนำคลื่นความถี่ที่ได้รับการจัดสรรมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม พร้อมร่วมมือกับเหล่าพันธมิตรชั้นนำในการพัฒนา Used Case ควบคู่กับการสร้างระบบนิเวศ 5G เพื่อรองรับการใช้งานของลูกค้าและภาคธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม เสริมสร้างความแข็งแกร่งเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ
“อเล็กซานดรา ไรช์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ(DTAC) กล่าวว่า การเข้าร่วมรับการจัดสรรคลื่นในครั้งนี้เป็นไปตามที่ดีแทคสัญญาไว้ว่าจะไม่หยุดในการพัฒนาการให้บริการ ยินดียิ่งที่ได้คลื่นย่านนี้เพื่อนำมาให้บริการแก่ลูกค้า และเป็นการก้าวสู่การให้บริการ 5G ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้งานคลื่นความถี่อีกมาก
การเข้ารับจัดสรรคลื่นความถี่ 700 MHz ในครั้งนี้ เนื่องจากบริษัทฯ ยังไม่มีคลื่นย่านความถี่ต่ำ (low band) และราคารับจัดสรรคลื่นความถี่ 700 MHz ที่ราคา 17,584 ล้านบาท แบ่งงวดการชำระเงินเป็น 10 งวด 10 ปี เท่ากับจ่ายปีละประมาณกว่า 1,700 ล้านบาท แต่หากรอประมูลคลื่นคววามถี่ 700 MHz ที่เหลืออีก 15 MHz ซึ่งยังไม่แน่นอนว่าจะไปจบที่ราคาเท่าใด ส่วนเหตุผลที่เลือกชุดความถี่ที่ 2 มองว่าเป็นชุดปลอดภัยที่สุด
สุดท้ายแล้วการจัดสรรคลื่นความถี่ 700 MHz ในครั้งนี้ แม้จะดูเป็นการอุ้มผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ที่กำลังจะล้ม เพราะไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามเป้า ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นความผิดของใคร!
แต่อย่างน้อยประโยชน์ที่เห็นได้ชัด คือ ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลที่กำลังจะปิดตัว ก็มีเงินที่จะไปจ่ายชดเชยให้กับพนักงานที่ต้องตกงาน ,รัฐบาลได้เงินกว่า20,000 ล้านบาทเข้ากระเป๋า และ 3 ค่ายมือถือได้คลื่นในการพัฒนาโครงข่าย 5G ในอนาคต
แต่ต้องขอเตือน...ว่าไม่ควรทำแบบนี้บ่อยนะครับ!
เพราะครั้งหน้าอาจจะไม่จบง่ายแบบนี้!
