คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น
ในฉบับที่แล้ว เขียนตามที่พระอาจารย์สมภพตอนหนึ่งว่า “ภูตา กาฬี(กาลี)” พิมพ์ออกมาเป็น ภูตา ภาษี (เป็นเพราะลายมือผมเองที่เขียนไม่ชัด)
พระอาจารย์สมภพเทศน์ตอนหนึ่งว่า ไปเห็นพระภิกษุ 2 รูป(ชาวอินเดีย) ถูกไล่ด่าตามหลังว่า “ภูตา กาลี!” ท่านสลดใจว่าพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาวันนี้ ถูกเขาไล่ด่าด้วยคำว่า ภูตา กาลี (น่าจะมีความหมายว่า “ไอ้ผีร้าย!”)
ผมกำลังตามฟังพระอาจารย์สมภพทางยูทูบ ฟังเพลินเพราะท่านรู้หลายภาษา เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาบาลี กาพย์กลอน อีสานไทย และภาษาแขก(ตะวันออกกลาง)
ตอนแรก คิดว่าท่านเตรียมโน้ตขึ้นธรรมาสน์ด้วยแต่ความจริง ท่านไม่มีโน้ตติดตัวเลย เมื่อเป็นภาษาอังกฤษท่านก็พูดอังกฤษทันที เมื่ออ้างพระไตรปิฎก ท่านก็ยกคำบาลีประกอบทันที
โดยเฉพาะภาษาอีสานไทย ท่านอ้างกาพย์กลอนหรือ “คำผญา” ของอีสานได้อย่างกลมกลืน
พระอาจารย์สมภพ เป็นคนอีสาน (บ้านเดิมของพ่อแม่อยู่ที่ อ.ตระการพืชผล (จ.อุบลราชธานี) ปัจจุบัน ครอบครัวของท่านย้ายไปอยู่ที่ จ. สกลนคร)
ท่านไปทำงานที่ตะวันออกกลาง 6 ปี เขาให้คุมงานก่อสร้างสนามบิน มีคนงานหลายชาติหลายภาษา (รวม 2-3 พันคน) เฉพาะแขกอินเดียมีเป็นร้อยคน ระหว่างนั้นท่านอ่านพระไตรปิฎกที่ซื้อไปจากเมืองไทยด้วย ก่อนหน้านั้นท่านอ่านคัมภีร์ไบเบิลและคัมภีร์ของศาสนาอื่น เกือบจะได้เป็นบาทหลวง
ที่ตะวันออกกลาง ท่านใช้ภาษาอังกฤษให้แขกตะวันออกกลางแปลเป็นภาษาแขก(ตะวันออกกลาง) เพื่อช่วยคนงานไทยเมื่อขึ้นศาล
พระอาจารย์สมภพ จบแค่ ป.4 แต่ทำงานในตำแหน่งสูง กินเงินเดือน (สมัยนั้) ถึง 35,000 บาท (ปัจจุบันเกือบหนึ่งแสนบาท)
ฟังเทศน์ของท่านแล้ว อดแปลกใจไม่ได้ว่า ท่านเก่งขนาดนั้นได้อย่างไร
พระอาจารย์สมภพแปลบทสวดได้อย่างคล่องแคล่ว ท่านเล่านิทานในคัมภีร์ธรรมบทอย่างมีชีวิตชีวา ไม่เคอะเขินเมื่อกล่าวถึงเรื่องราวในพระไตรปิฎกที่ออกไปทางอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ทำให้เทศน์ของท่านฟังสนุก
ท่านเป็นคนหนึ่งที่เชื่อการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ
ฟังเทศน์ของท่านแล้ว ทำให้นึกถึง “ข้อมูล” เกี่ยวกับตัวเลขต่างๆ ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา เช่นคำกล่าวที่ว่า
“ชั่วลัดนิ้วมือ”
(เมื่อพระมหาโมคคัลลานะไปยังสวรรค์ ใช้เวลาชั่วลัดนิ้วมือ)
หรือที่ว่า เรื่องผู้บรรลุธรรมมีเป็นจำนวนน้อย เมื่อเปรียบเทียมกับจำนวนผู้ไม่บรรลุ
เปรียบเทียบว่า ผู้บรรลุธรรมมีเท่าธุลีดินในปลายเล็บ ส่วนผู้ไม่บรรลุ มีมากมายเท่าแผ่นดินทั้งหมด (คือเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย)
การเปรียบเทียบในทำนองนี้ มีมากมายในพระไตรปิฎก คือไม่ใช่จำนวนที่แท้จริง เป็นแต่ว่าอย่างไหนมากกว่ากันอย่างไรเท่านั้น เช่น พระพุทธเจ้าเปรียบเทียบระหว่าง เรื่องที่ทรงนำมาสอน เทียบ “ใบไม้ในกำมือ” กับใบไม้ในป่า ต้องการจะบอกว่าเรื่องที่ทรงไม่นำมาสอนมีอีกมากมาย ส่วนเรื่องที่ทรงนำมาสอนเท่ากับใบประดู่ลายในกำมือเท่านนั้นเอง
“ชั่วลัดนิ้วมือ” คือความเร็วในการเดินทางระหว่างสวรรค์กับโลกมนุษย์ใช้เวลาสั้นมาก (เป็นปาฏิหาริย์ของผู้มีฤทธิ์) ชั่วลัดนิ้วมือ คือชี่วระยะเหยียดนิ้วมือที่กำ(ออก) เท่านั้น
คำกล่าวที่ว่า ชั่วขณะดีดนิ้วมือก็เช่นกัน เป็นบอกระยะเวลาเท่านั้น
ในขณะที่ทางโลกปัจจุบันมีแต่จำนวน “วินาที” เป็นจำนวนบอกระยะเท่านั้น
แต่ในสมัยพุทธกาล การบอกระยะความเร็ว มีความละเอียดลงกว่านั้น ท่านว่าดังนี้
“ดีดนิ้วมือ 10 ครั้ง เท่ากับ 1 ขณะ
(แสดงว่า ชั่วขณะจิตหนึ่ง เท่ากับ 1 ขณะ (คือประมาณ 2.8 วินาที)
“10 ขณะ เท่ากับ 1 ลยะ (ประมาณ 28.8วินาที)
10 ลยะ เท่ากับ 1 ขณลยะ (ประมาณ 4.8นาที)
10 ขณลยะ เท่ากับ 1 มุหุตตะ (ประมาณ 48 นาที)
10 มุหุตตะ เท่ากับ 1 ขณมุหุตตะ (ประมาณ 8 ชั่วโมง)”
ระยะเวลาที่เริ่มตั้งแต่ 1 ขณะ แสดงว่า สมัย (อินเดีย) โบราณมีการหารายละเอียดที่ละเอียดกว่า “วินาที” เสียอีก
กล่าวคือ ชั่วขณะของจิตหรือความคิด ที่ใช้คำว่า “ขณะจิต นั้น มีความเร็วกว่าระยะของวินาทีเสียอีก
โปรดสังเกตว่า เมื่อเทียบกับหน่วยวัดระยะที่ใช้อยู่ในโลกปัจจุบัน ท่านใช้คำว่า “ประมาณ”
เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจได้ พระพุทธเจ้าจึงมักจะใช้วิธีเทียบเคียงระหว่างความเร็วของสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่ง
เช่น เทียบระหว่างจำนวนของสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่ง เช่นเที่ยบเคียงระหว่าง ดินที่ติดอยู่กับปลายเล็บกับดินบนแผ่นดิน หรือใบไม้กำมือกับใบไม่ในป่า เป็นต้น
หรือ ระหว่าง เขาโคกับขนทั้งตัวของโค
อย่างไหนมากกว่ากัน?
จำนวนดังกล่าว เพื่อให้ใช้เทียบเคียงกันเท่านั้น
ในภาษาบาลี (โดยเฉพาะในพระไตรปิฎก) ไม่มีเลขบอกจำนวน โดยเฉพาะตัวเลข 84,000 ไม่มีกล่าวถึงในพระไตรปิฎก แต่จำนวนภิกษุ 500 หรือโจร 500 มีมาก เข้าใจว่า หมายถึงจำนวนมากนานๆ จะพบจำนวนภิกษุ 1,250 รูป
ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ตัวเลขบอกจำนวน 500 กลายเป็นตัวเลขในทางลบสำหรับคนไทย
ส่วนตัวเลขบอกจำนวน 84,000 กลับเป็นตัวเลขในทางบวก เช่น คำสอนของพระพุทธเจ้า 84,000 หรือพระเจ้าอโศกมหาราชสร้างวัด 84,000 วันเป็นต้น
ลัทธิหรือ คำสอนของพระพุทธเจ้า เป็น “ขณิกวาท” และเป็น “วิภัชชวาท” แสดงว่า พระพุทธเจ้าสอนให้เห็นความเป็นไปของขณะปัจจุบัน
ขณิกวาท แปลว่า ลัทธิแสดงรายละเอียดเป็นขณะ
วิภัชชวาท แปลว่า ลัทธิแสดงการแจกแจงให้เห็นรายละเอียดที่เกิดขึ้นในแต่ละขณะ
มาตราเวลบอกระยะสั้นเป็นขณะ แสดงว่า ระยะเวลาที่เกิด-ดับของเหตุปัจจัยต่างๆ นั้น วัดได้ด้วยความเร็วของขณะซึ่งระบบ “วินาที” ในเข็มนาฬิกา ยังหยาบอยู่
เรื่องนี้โยงไปถึง “ความเร็วของแสง” ที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบ
เมื่อยานอวกาศจะเดินทางไปยังดาวดวงอื่น ต้องใช้มาตราวัดความเร็วที่ละเอียดกว่าหน่วยวินาทีที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ซึ่งผิดพลาดแม้แต่นิดเดียวก็ไม่ได้
ในระบบ “สังสารวัฏ” การเวียนว่ายตายเกิด หาเงื่อนต้นเงื่อนปลายไม่ได้ พระพุทธเจ้าใช้วิธีเทียบเคียงว่า สัตว์โลกเคยเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นผัวเป็นเมีย พอให้เข้าใจได้ จะบอกเป็นตัวเลขชัดๆ ก็ไม่ได้ บางเรื่องจึงใช้คำว่า “อจินไตย” คือเหลือวิสัยที่จะคิดหรือประเมินได้
แม้แต่ ระบบขณะ” ก็เป็นความพยายามที่จะบอกว่าเร็วแค่ไหนเพราะใน 1 ขณะมีความเร็วเท่ากับ 2.8วินาที
คำสอนเรื่อง “อนัตตา” ของพระพุทธเจ้าจึงเป็นสัจธรรมอย่างยิ่ง แสดงว่า “อัตตา” (ตัวตน) นั้น เมื่อแยกย่อยจนถึงที่สุดแล้วก็ไม่มีตัวตน ไม่มีอัตตา(ตัวตน) แม้แต่นิดเดียว
คือเป็น “อนัตตา”
มีคำ 2 คำให้พิจารณา คือคำว่า “อนัตตา” และ “นิรัตตา” ความเห็นว่า ทุกสิ่งเป็นนิรัตตาเป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะเป็นความเห็นของฝ่ายอุวเฉททิฏฐิ(เห็นว่าไม่มีอะไรเลย แม้แต่บาป-บุญก็ไม่มี) ส่วนอนัตตาตรงกันข้าม
ยากที่จะเข้าใจตรงนี้แหละ
คำสอนเรื่อง “ปฏิจวสมุปบาท” (หรือ “ปัจจยาการ” หรือ “อิทัปปัจจยตา”) เป็นคำอธิบายส่วนหนึ่ง เพื่อให้เข้าใจว่า “อนัตตา” คืออะไร