สสท. เปิดการประชุมทิศทางการพัฒนาสหกรณ์ไทย เนื่องในวันสันนิบาตสหกรณ์ไทย ครบรอบ 51 ปี พร้อมระดมสมองผู้นำขบวนการสหกรณ์ เสนอแนวทางพัฒนาสหกรณ์ไทย เพื่อเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศอย่างแท้จริง
เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.62 นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเปิดการประชุมทิศทางการพัฒนาสหกรณ์ไทย National Cooperative Summit on “Thai Coop Movement moving Forward Together” เนื่องในวันกำเนิดสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ครบรอบ 51 ปี โดยมีนายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) และผู้นำชุมนุมสหกรณ์ และผู้แทนสหกรณ์สมาชิก ร่วมประชุม ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ
นายอนันต์ กล่าวว่า สันนิบาตสหกรณ์ไทย ได้มีการจัดประชุมทิศทางการพัฒนาสหกรณ์ เนื่องในวันกำเนิดสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยขึ้น โดยให้สหกรณ์ทุกประเภทมารวมกัน เพื่อเสนอปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารงานสหกรณ์ และสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐอำนวยความสะดวก ช่วยเหลือ และแนะนำสหกรณ์ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทำให้สมาชิกสหกรณ์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้งเป็นการสร้างความเข้าใจและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างขบวนการสหกรณ์หน่วยงานภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยการจัดประชุมในครั้งนี้ จะเป็นการนำเสนอผลการดำเนินงานของสหกรณ์ทั้ง 7 ประเภท สันนิบาตสหกรณ์ฯ และสหกรณ์ในต่างประเทศด้วย
นอกจากนี้ ยังเป็นการรวบรวมแนวคิด การวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา อุปสรรค ที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการบริหารกิจการสหกรณ์ ซึ่งจะได้ร่วมกันกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาการดำเนินงานต่าง ๆ ของสหกรณ์ให้บรรลุเป็นผลสำเร็จ โดยคาดว่าการจัดงานในครั้งนี้ จะเป็นการกำหนดให้วันที่ 20 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันสันนิบาตสหกรณ์ไทย และมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแนวทางการพัฒนาสหกรณ์ในระดับประเทศเป็นประจำทุกปี โดยขบวนการสหกรณ์ องค์กรภาครัฐ และองค์กรที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาสหกรณ์ให้มีความมั่นคงยั่งยืนและร่วมกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้สหกรณ์เป็นรากฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศอย่างแท้จริง
ด้าน นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธาน สสท. กล่าวว่า สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ถือกำเนิดขึ้นในวันที่ 20 มิถุนายน 2511 เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าแก่กิจการสหกรณ์ทุกประเภททั่วราชอาณาจักร อันมิใช่การแสวงหากำไร หรือรายได้มาเพื่อแบ่งปันกัน ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากแนวคิดในการจัดตั้งสหภาพสหกรณ์ขึ้นในประเทศไทย โดยกรมสหกรณ์เดิม ได้เรียกเก็บค่าช่วยจัดสหภาพสหกรณ์จากสหกรณ์ทุกสหกรณ์ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2492 เป็นต้นมา ในอัตราพันละหนึ่งของทุนดำเนินงานในวันสิ้นปีทางบัญชีแต่ไม่เกิน 1,000 บาท เงินทุนดังกล่าวเรียกว่า “เงินทุนสะสมช่วยจัดสหภาพสหกรณ์” โดยทางราชการได้รวบรวมเงินจำนวนนั้นฝากไว้กับธนาคารเพื่อการเกษตร ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จนกระทั่ง ปี พ.ศ.2509 กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติได้จัดทำลู่ทางการจัดตั้งสหภาพสหกรณ์การพิจารณาแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2509 และให้ใช้ชื่อว่า “สันนิบาตสหกรณ์” แทนชื่อ “สหภาพสหกรณ์”
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2510 คณะผู้ริเริ่มก่อตั้งสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย จำนวน 22 คน ได้เริ่มประชุมกันเป็นครั้งแรกนำโดยนายปกรณ์ อังศุสิงห์ ปลัดกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติเป็นประธาน โดยมีสาระสำคัญตามรายงานการประชุม คือเห็นสมควรจัดตั้งสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ขึ้นเป็นชุมนุมสหกรณ์โดยมีความมุ่งหมายที่ส่งเสริมความเจริญแก่กิจการของบรรดาสหกรณ์ตลอดจนยังความสะดวกให้เกิดแก่กิจการของสหกรณ์เหล่านั้นด้วย และเพื่อจะได้ใช้เป็นที่ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ ให้สามารถปฏิบัติงานของสหกรณ์โดยถูกต้องด้วยตนเอง ทั้งจะเป็นศูนย์กลางทางการเงินของสหกรณ์อีกด้วยในที่สุด โดยที่ประชุมเมื่อ 8 กุมภาพันธ์พ.ศ. 2511 มีมติให้ดำเนินการยื่นขอจดทะเบียน และกำหนดให้วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511 เป็นวันจดทะเบียน และวันทำพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารสำนักงานของสันนิบาตสหกรณ์ โดยได้รับจดทะเบียนเป็นสมาคมสหกรณ์ ประเภทชุมนุมสหกรณ์ ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พุทธศักราช 2471 มีชื่อว่า สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย จำกัดสินใช้ และในวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2511 ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2511 ยังผลให้สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย จำกัด สินใช้ ได้มีการเปลี่ยนฐานะจากการเป็นสหกรณ์มาเป็นสถาบันมีชื่อว่า “สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย” (The Cooperative League of Thailand: CLT) โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2511 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ การประชุมทิศทางการพัฒนาสหกรณ์ไทย ได้กำหนดจัดขึ้นวันที่ 20 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันสันนิบาตสหกรณ์ไทย และมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแนวทางการพัฒนาสหกรณ์ในระดับประเทศ เป็นประจำทุกปี โดยขบวนการสหกรณ์ องค์กรภาครัฐ และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ทุกภาคส่วนจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาสหกรณ์ให้มีความมั่นคง ยั่งยืนและร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อให้สหกรณ์เป็นรากฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศอย่างแท้จริง”ประธาน สสท. กล่าว