สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page ได้โพสต์เรื่องราวการค้นพบข้อมูลใหม่ที่นักวิทยาศาสตร์นักดาราศาสตร์ทั่วโลกต่างจับตาว่าด้วย #กล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทรา ตรวจพบการปลดปล่อย #มวลโคโรนา จากดาวฤกษ์ดวงอื่นที่ไม่ใช่ดวงอาทิตย์! การปลดปล่อยมวลโคโรนาหรือ Coronal Mass Ejection (CME) เป็นเหตุการณ์ที่พบเห็นบ่อยครั้งบนดวงอาทิตย์ แต่ล่าสุดกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทราเอ็กซ์เรย์ของนาซาตรวจพบการปลดปล่อยมวลโคโรนาจากดาวฤกษ์ดวงอื่นเป็นครั้งแรก CME คือการปลดปล่อยสสารในสถานะพลาสมา (Plasma) ออกมายังชั้นบรรยากาศโคโรนาของดาวฤกษ์ พลาสมาที่ร้อนยวดยิ่งจากผิวของดวงอาทิตย์จะพุ่งขึ้นไปยังชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ตามสนามแม่เหล็กที่มองไม่เห็น จากนั้นอุณหภูมิของพลาสมาจะลดต่ำลง ทำให้พลาสมาตกกลับมายังพื้นผิวของดวงอาทิตย์อีกครั้ง โดยทั่วไปสามารถตรวจพบ CME ได้ด้วยอุปกรณ์โคโรนากราฟ (Coronagraph) ในช่วงแสงที่ตามนุษย์มองเห็น (Optical Light) คอสแตนซา อาจิรอฟกี (Costanza Argiroffi) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยปาแลร์โมและสถาบันดาราศาสตร์ฟิสิกส์แห่งชาติ (INAF) ในประเทศอิตาลี ศึกษาการปลดปล่อยมวลโคโรนานอกระบบสุริยะโดยใช้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทรา ที่ตรวจพบคลื่นรังสีเอ็กซ์ความเข้มสูงและการปลดปล่อยมวลออกมาในรูปของพลาสมาจากดาวฤกษ์ชื่อ HR 9024 ซึ่งห่างจากโลกประมาณ 450 ปีแสง จนสามารถระบุและจำแนกลักษณะได้อย่างละเอียดเป็นครั้งแรก และอธิบายไว้ในวารสาร Nature Astronomy ฉบับวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 "เครื่องสเปกโตรมิเตอร์เกรตติงความละเอียดสูง (HETGS)" บนกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทราพบว่า การไหลเวียนของพลาสมาบนชั้นโคโรนาของดาวฤกษ์ HR 9024 เคลื่อนที่ด้วยความเร็วเพียงไม่กี่หมื่นกิโลเมตรต่อชั่วโมง และยังตรวจพบการปะทุของพลาสมาที่มีความร้อนมากถึง 10-24 ล้านเคลวิน ซึ่งหลังจากการปะทุ พลาสมาจะตกกลับไปยังพื้นผิวของดาวฤกษ์ด้วยความเร็วระหว่าง 360,000 – 1,440,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นไปตามทฤษฎีที่นักดาราศาสตร์ได้คาดการณ์ไว้ ผลการวิจัยยืนยันว่า การปลดปล่อยมวลโคโรนาที่ตรวจพบนั้น เกิดจากดาวฤกษ์ที่มีสนามแม่เหล็ก และช่วยให้นักดาราศาสตร์เข้าใจปรากฏการณ์นี้ได้มากขึ้น อันเป็นฐานข้อมูลสำคัญสำหรับศึกษาและวิจัยทางดาราศาสตร์ในอนาคต เรียบเรียง : กฤษดา รุจิรานุกูล - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. อ้างอิง :https://www.nasa.gov/…/chandra-detects-a-coronal-mass-eject… http://chandra.harvard.edu/photo/2019/cme/ https://www.nature.com/articles/s41550-019-0781-4