กรมศิลปากร ชี้พื้นที่สาธารณะสระน้ำหนองรีด้านหลังโรงพยาบาลนางรอง จ.บุรีรัมย์ เนื้อที่ 50 ไร่ ที่มีชาวบ้านร้องคัดค้านการขอใช้พื้นที่ ไม่ได้เป็นเขตโบราณสถาน รพ.สามารถใช้พื้นที่ก่อสร้างอาคารผู้ป่วยและอาคารจอดรถได้ตามที่ร้องขอ เพื่อรองรับจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง วันนี้(19 มิ.ย.62) จากกรณีที่ก่อนหน้านี้ได้มีตัวแทนชาวบ้านในชุมชนหนองหนองรี ต.นางรอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ รวมตัวกันลงชื่อและทำหนังสือร้องคัดค้านการขอใช้พื้นที่สาธารณะประโยชน์แปลง “สระน้ำหนองรี” บริเวณด้านหลังโรงพยาบาลนางรอง เพื่อขยายพื้นที่ก่อสร้างอาคารผู้ป่วย และอาคารจอดรถ ไปยังหน่วยงานต่างๆ โดยตัวแทนชาวบ้านที่ร้องคัดค้านระบุว่า พื้นที่สาธารณะประโยชน์แปลงสระหนองรีดังกล่าว เป็นสระน้ำโบราณ หรือ (บาราย) ซึ่งสันนิษฐานว่าก่อสร้างขึ้นในสมัยอารยะธรรมขอมโบราณ จึงอยากอนุรักษ์ไว้ ขณะที่ล่าสุด ทางกรมศิลปากร ได้ส่งหนังสือชี้แจงกรณีดังกล่าวให้ชาวบ้านผู้ร้องได้รับทราบว่า จากการสำรวจทางโบราณคดีในพื้นที่อำเภอนางรอง ไม่พบหลักฐานการสร้างระบบจัดการน้ำหรือระบบชลประทานในอารยะธรรมเขมร ทั้งนี้ จากผลการตรวจสอบและพิจารณาทบทวนแล้วเห็นว่า สระน้ำหนองรีไม่มีลักษณะเป็นสระน้ำโบราณ หรือ (บาราย) ที่จะถือเป็น “โบราณสถาน” ที่ต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองตามกฎหมาย แต่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันกรมศิลปากรจึงไม่ขัดข้องในการที่ทางจังหวัดจะดำเนินการขอใช้ และถอนสภาพที่ดินสาธารณประโยชน์แปลง “สระน้ำหนองรี” ทั้งแปลง เพื่อดำเนินการขยายพื้นที่โรงพยาบาลตามที่ยื่นเรื่องขอใช้พื้นที่ได้ นพ.ปัญญา เหมชะญาติ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลนางรอง จ.บุรีรัมย์ ระบุว่า โรงพยาบาลนางรอง ได้ให้บริการใน 10 อำเภอโดยรอบ ทั้งยังเป็นสาขารองรับผู้ป่วยที่แน่นโรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ ปัจจุบันมีเตียงรองรับผู้ป่วย 500 เตียง มีผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการ วันละกว่า 1,500 คน ทั้งยังมีบุคลากรและญาติ เข้าออกโรงพยาบาล เฉลี่ยวันละกว่า 5,000 คน และยังมีแนวโน้มผู้เข้ามาใช้บริการตรวจรักษาภายในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าหากมีการขยายพื้นที่ก่อสร้างอาคารผู้ป่วย และอาคารจอดรถเพิ่ม จะสามารถให้บริการให้อย่างสะดวก มีประสิทธิภาพ และลดความแออัดในอนาคตได้