ธอส.รับนโยบายรัฐบาลให้คนไทยทั่วประเทศมีบ้านเป็นของตัวเอง ดึงเอกชนสร้างบ้านไม่เกินหลังละ 1 ล้านบาท เน้นผู้มีรายได้ไม่เกิน 2.5 หมื่นบาทต่อเดือน-เดินหน้าทำสินเชื่อบ้านสำหรับผู้สูงอายุ วงเงิน 2.85 หมื่นล้านบาท ด้านสทบ.ดึงเงินกองทุนหมู่บ้านตามแนวทางประชารัฐจ้างคนในพื้นที่สร้างบ้านกระจายรายได้ ชงรัฐบาลอนุมัติ ด้าน”ททท.”พร้อมโปรโมท 216 เส้นทางกระตุ้นท่องเที่ยวหลังเลือกตั้ง สร้างเม็ดเงินชุมชน เปลี่ยนจากโลว์ซีซั่นเป็นกรีนซีซั่น อัดแคมเปญบูม เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 62 หนังสือพิมพ์สยามรัฐ รายวัน ได้จัดงานสัมมนาพิเศษ ในโอกาสครบรอบ 69 ปี หนังสือพิมพ์สยามรัฐ รายวัน "จับชีพจรประเทศไทย...หลังเลือกตั้ง" ที่ห้องมัฆวานรังสรรค์ หอประชุมกองทัพบก นายชูฉัตร ประมูลผล รองเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)กล่าวบรรยายถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของธุริจประกันภัย รวมถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจประกันภัยในปัจจุบันว่า ธุรกิจประกันทั้งระบบเติบโตขึ้นมากจากอดีตถึงปัจจุบันนี้ โดยจากตัวเลขในปี 2555 มีเบี้ยประกันรับตรงรวมอยู่ที่ประมาณ 572,000 บาท แต่ถึง ณ สิ้นปี 2561 เบี้ยประกันมาอยู่ที่ 861,000 ล้านบาท ภายใน 7 ปีเบี้ยทั้งระบบโตขึ้นกว่า 50.5% เช่นเดียวกันกับ GDP ก็เช่นกัน ในปี 2555 เบี้ยประกันต่อ GDPอยู่ที่ 4.61% ขณะที่ปี 2561 เบี้ยประกันต่อ GDPอยู่ที่ 5.28% ขณะที่เบี้ยประกันเฉลี่ยที่คนไทยจ่ายอยู่ที่ 8,500 บาทต่อคนในปี 2555 ขยับมาจ่ายอยู่ที่ 12,700 บาทต่อคน จากข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจประกันในประเทศไทยมีการเปลี่ขนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้จ่ายเงินในการซื้อประกันภัยมากขึ้น โดยปัจจัยที่กำลังเกิดขึ้นและได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจนับวันจะต้องปรับตัวและปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอาทิ 1.การเข้าสู่สังคมสูงอายุ 2.การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม จากภัยธรรมชาติต่างๆที่เป็นตัวเร่งและเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภัยธรรมชาติต่างๆ ในส่วนประเทศไทยอย่างเช่น แผ่นดินไหวที่ลำปาง หรือเชียงใหม่เมื่อสัปดาห์ก่อนที่มีค่า PM 2.5 สูงเป็นอันดับ 1 ของโลก 3.ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด 4.ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงิน 5.กติกาสากลที่มีความเข้มข้นมากขึ้น เช่นมีการนำมาตรฐานการทำงานทางการเงินหรือ IFRS ฉบับที่ 9 และ 17 มาใช้ ซึ่งส่งผลกระทบธุรกิจประกันอย่างมาก 6.กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เพิ่มประกาศใช้เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา นายชูฉัตร  ประมูลผล นายชูฉัตร กล่าวว่า ปี 2562 นับเป็นปีแห่งการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมประกันภัยให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง ควบคู่กับการกำกับและตรวจสอบอย่างสมดุลที่ไม่เพิ่มภาระให้กับผู้ประกอบการ ซึ่ง ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาฯคปภ.ได้กำหนดมาตรการเชิงรุกเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจประกันภัย โดยนำระบบเทคโนโลยีมาเป็นตัวขับเคลื่อนเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ผ่านแนวคิด 7 ส.ประกอบด้วย การขยายขอบเขต Insurance Regulatary Sandbox หรือโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการสำหรับธุรกิจประกันภัย ,การพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางด้านการรับประกันภัย หรือ IBS (Insurance Beau System เพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านการประกันภัย ,การพัฒนาApplication “Me Claim” โดยสำนักงานคปภ.ได้จัดตั้งศูนย์ CIT ทำใหี้โอกาสพบกับ อินชัวร์เทคและสตาร์ทอัพ จึงได้ร่วมกันพัฒนา Application Me Claim สำหรับการแจ้งเคลมประกันรถยนต์ เป็นต้น นางฉัตร์รวี จิรกุฃเมธาพัฒน์ ดึงเอกชนสร้างบ้านราคาต่ำ นางฉัตร์รวี จิรกุฃเมธาพัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการกลุ่มงานสาขา และรักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานสาขาภูมิภาค 3 ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) กล่าวถึงการสร้างโอกาสให้คนไทยมีบ้านเป็นของตนเองว่า รัฐบาลพร้อมส่งเสริมให้คนไทยมีบ้านครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งขณะนี้ได้เดินหน้าโครงการบ้านล้านหลังเฟส 2 ด้วยดึงภาคเอกชนรายใหญ่ รายย่อยเข้ามาช่วยสร้างบ้านไม่เกิน 1 ล้านบาท กระจายไปทั่วประเทศ ซึ่งผู้ที่ได้สิทธิ์โครงการบ้านล้านหลังจะต้องเป็นผู้มีรายได้น้อยไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือน คิดดอกเบี้ยร้อยละ 3 คงที่ 5 ปี ส่วนที่เหลือสำหรับผู้มีรายได้เกิน 25,000 บาทต่อเดือน เหลือวงเงิน 10,000 ล้านบาท และขณะนี้ได้มีผู้ยื่นขอกู้แล้ว 4,100 ราย วงเงินสินเชื่อ 2,560 ล้านบาท อนุมัติสินเชื่อแล้ว 3,580 ราย วงเงิน 2,200 บาท นอกจากนี้ยังมีการจัดทำสินเชื่อบ้านสำหรับผู้สูงอายุ วงเงินรวม 2.85 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วยโครงการบ้าน ธอส.เพื่อผู้สูงอายุวงเงิน 7 พันล้านบาท ส่วนนี้เป็นโครงการที่ธนาคารทำเอง แยกเป็น 2 ส่วนคือ สินเชื่อสำหรับผู้กู้รายย่อย วงเงิน 3 พันล้านบาทโดยให้กู้สำหรับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ผ่อนชำระไม่เกินอายุ 70 ปี สามารถกู้ร่วมกับคู่สมรสจดทะเบียน บุตร หรือหลานได้ อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-4 เท่ากับ MRR-3.25% ต่อปีหรือประมาณ 3.50% ต่อปี ส่วนปีที่ 5 จนตลอดอายุสัญญา กรณีลูกค้าสวัสดิการเท่ากับ MRR-1% ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อยเท่ากับ MRR-0.5% ต่อปี และสินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการ วงเงิน 4 พันล้านบาท ดอกเบี้ยคงที่ปีที่ 1-2 เท่ากับ 4% ต่อปี ปีที่ 3-5 คิดอัตราดอกเบี้ยของภาระหนี้ส่วนที่เหลือ ไม่ต่ำกว่า MLR-1% ต่อปี สำหรับจัดทำโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุไม่น้อยกว่า 40% ของจำนวนหน่วยขายทั้งหมดของโครงการ รองศาสตราจารย์ นที ขลิบทอง หนุนจ้างคนในชุมชนมีรายได้ ด้านรองศาสตราจารย์ นที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.)กล่าวถึงกองทุนหมู่บ้านตามแนวทางประชารัฐกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนว่า การบริหารสทบ.เวลานี้มีวงเงินในการบริหารอยู่ที่ 300,000 ล้านบาท สมาชิกกองทุน13 ล้านคน เป็นการกรรมการกองทุน 1ล้านคน ซึ่งสิ่งที่สทบ.ได้รับเรื่องจากการนำเสนอจากสมาชิกกองทุนหลายเรื่องที่อยากให้ทำเพื่อสมาชิก อาทิ สวัสดิการที่อยู่อาศัย หรือปรับปรุงที่อยู่อาศัย โดยใช้เงินจากกองทุนประชารัฐมาจ้างคนในพื้นที่ในการก่อสร้าง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อพิจารณา และสวัสดิการเพื่อการท่องเที่ยว โดยคัดเลือกธุรกิจที่อยู่ในกองทุนมาพัฒนาอบรมความรู้ในการบริหาร และถ้าผ่านการอบรมจะปักหมุดจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) และประชาสัมพันธ์ออกสื่อให้นักท่องเที่ยวได้ทราบ นอกจากนี้ สทบ.ยังมีการทำโครงการต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกกองทุน ซึ่งทำให้สมาชิกกองทุนมีรายได้ และเป็นเจ้าของโครงการร่วมกันเช่น โรงสีข้าว,น้ำประชารัฐ,ลานตากสินค้าเกษตร,ปั้มน้ำมัน และร้านค้าสวัสดิการแห่งรัฐโดยสินค้า และบริการของ สทบ.ได้รับการรับรองมาตรฐาน และราคาถูกกว่าท้องตลาด ซึ่งช่วยลดค่าครองชีพของสมาชิก และประชาชนได้มาก อย่างไรก็ตามสิ่งที่ สทบ.ต้องการในอนาคตเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนได้อย่างยั่งยืนคือ กฎหมายกองทุนหมู่บ้านโดยเฉพาะ,คู่มือบัญชีการเงินจากกรมบัญชีกลาง,เทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการพัฒนา และการสร้างคนมาดำเนินการกองทุนต่อไป น.ส.ปทิตตา ตันติเวชกุล อัดแคมเปญท่องเที่ยวกระจายเม็ดเงิน น.ส.ปทิตตา ตันติเวชกุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวถึงการโปรโมท 216 เส้นทางกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวหลังเลือกตั้ง เพราะโดยปกติช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ย.จะเข้าฤดูฝน ถือเป็นช่วงโลว์ซีซั่นของการท่องเที่ยวไทย แต่ด้วยเวลานี้การท่องเที่ยวเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ ททท.กระตุ้นให้เกิดการเดินทางได้ทุกเดือน โดยเปลี่ยนจากคำว่า โลว์ซีซั่นเป็นกรีนซีซั่น พร้อมนำแพ็คเกจ และโปรโมชั่นพิเศษมาดึงดูดให้ทุกคนออกเดินทางทั่วทุกภูมิภาคของไทย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายรายได้สู่ชุมชน โดยปีนี้มีการโปรโมท 216 เส้นทางกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยว ด้วยการร่วมมือพันธมิตรทั้งสายการบิน ที่พัก อื่นๆ นำแคมเปญบินพักหลักร้อย หลักพันลุ้นรางวัลหลักล้าน โดยมีโปรโมชั่น ส่วนลดพิเศษให้ทุกคนท่องเที่ยวทั่วประเทศตลอด 4 เดือน ตั้งแต่วันนี้-30 ก.ย.62 พร้อมกับมีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวทุกคนได้ลงทะเบียนร่วมสนุกกับแคมเปญด้วยการ ADD LINE@iLOVETheRain และลงทะเบียนชื่อ และอีเมลล์ เพื่อจะรับรหัสประจำตัว (CODE) ทางช่องทางที่ลงทะเบียนไว้ ด้วยการนำ CODE มาใช้ลุ้นโชคต่างๆ 4 ชั้นด้วยกัน