“ยูทูบ ครีเอเตอร์” จากช่อง “แบร์ฮัก” ลุยปั้นแบรนด์ “แบร์เฮ้าส์” รุกธุรกิจชานมไข่มุก ชิงแชร์ตลาด ประเดิมสาขาแรกสยามสแควร์ พร้อมวางเป้ายอดขาย 15 ล้านบาทภายในสิ้นปี นางสาวปัทมพร ปรีชาวุฒิเดช ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท 21 ซันแพชชั่น จำกัด ผู้ดำ เนินธุรกิจร้านชานมไข่มุกภายใต้แบรนด์ "แบร์เฮ้าส์" (Bear House) เปิดเผยถึงแนวคิดการรุกเข้ามาเปิดธุรกิจชานมไข่มุกว่า แบรนด์ “แบร์เฮ้าส์” (BEARHOUSE) เกิดขึ้นจากความชอบทานชานมไข่มุก รวมถึงการมีอาชีพ เป็นยูทูบครีเอเตอร์ (YouTube Creator) เจ้าของ Channel BEARHUG ซึ่งเป็นช่องที่นำเสนอคอนเทนต์เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ การท่องเที่ยวและอาหาร ทำให้ได้มีโอกาสได้ไปรีวิวชานมไข่มุกที่ประเทศไต้หวันแล้วรู้สึกติดใจและเกิดไอเดียว่าทำไมไม่ทำชานมไข่มุกแบรนด์คนไทยให้คนต่างชาติต่อแถวรอซื้อบ้าง จึงได้นำไอเดียนี้ไปพูดคุยกับหุ้นส่วน กานต์-อรรถกร จนนำมาสู่การร่วมลงทุนเปิดร้านชานมไข่มุก BEARHOUSE สาขาแรก ที่สยามสแควร์ ริมถนนอังรีดูนังต์ ด้วยงบลงทุนเบื้องต้นประมาณ 8 ล้านบาท โดยเป้าหมายหลักเป็นกลุ่มผู้บริโภควัยรุ่นและผู้ที่เพิ่งเริ่มทำงาน สำหรับสไตล์และรสชาติของเครื่องดื่มร้าน BEARHOUSE มาพร้อมคอนเซ็ปต์ “เรียบง่ายแต่แตกต่าง” อร่อยกับเครื่องดื่มรสกลมกล่อมสูตรพิเศษ พร้อมไข่มุกโมจิซึ่งเป็นไข่มุกปั้นสดใหม่ทุกวัน สูตรเฉพาะที่ผสมผสานความเป็นไทย คิดค้นและทำเองด้วยความใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่ผงแป้ง ด้วยจุดเด่นคือ มีแป้งข้าวไทยเป็นส่วนประกอบ ทำให้ไข่มุกของ BEARHOUSE มีรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ ให้รสชาติและสัมผัสที่แตกต่าง เคี้ยวนุ่ม หนึบหนับ มีกลิ่นโมจิ มีสีและรูปทรงตามธรรมชาติ มีความไม่กลมและมีขนาดเล็กกว่าไข่มุกทั่วไป โดยเมนูยอดนิยมของร้าน BEARHOUSE ได้แก่ ชานมไข่มุก นมน้ำตาลแดง ชาเขียวมัทฉะ และโกโก้ สำหรับภาพรวมตลาดชานมไข่มุก ปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ที่ 2,500 ล้านบาท และยังมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น จากกระแสความนิยมบริโภคชานมไข่มุก จึงทำให้การแข่งขึ้นในตลาดมีความรุนแรงตามไปด้วย แต่บริษัทยังเชื่อว่าจะแข่งขันได้จากจุดเด่นของแบร์เฮ้าส์ที่แตกต่างจากคู่แข่ง และยังมีแผนที่จะขยายสาขาใหม่เพิ่มขึ้นอีก 5 สาขาภายในระยะ2 ปีนี้ โดยช่วงแรกยังคงเน้นเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน ด้านเป้าหมายหลังจากเปิดสาขาแรกคาดว่าจะมียอดขายอยู่ที่ 1,000 แก้วต่อวัน และคาดว่าในปี 2562 จะมีรายได้จากการขายประมาณ 15 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีแผนที่แผนจะต่อยอดธุรกิจไปยังอาหารและเครื่องดื่มอย่างอื่นมากขึ้น อาทิ ไอศกรีม เป็นต้น เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางของการขยายฐานลูกค้าที่มากกว่าคนรุ่นใหม่ด้วย