ดูได้ด้วยตาเปล่า หากฟ้าเป็นใจไร้ฝน ตั้งแต่เย็นวันนี้หลังพระอาทิตย์ลาขอบฟ้าไปจนถึงเช้าพรุ่งนี้ โดยช่วงตี 3 จะอยู่ใกล้กันที่สุด ยิ่งใช้กล้องส่องจะเห็นแถบเมฆดาวพฤหัส และดวงจันทร์บริวาร 4 ดวง และจุดแดงยักษ์ นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ชวนติดตาม ปรากฏการณ์ “ดาวเคียงเดือน” วันที่ 17 มิ.ย.62 ดาวพฤหัสบดีปรากฏเคียงดวงจันทร์เต็มดวง เริ่มสังเกตได้ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกของวันที่ 16 มิ.ย.62 จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 17 มิ.ย.62 และจะปรากฏใกล้กันที่สุดเวลาประมาณ 03:19 น. ห่างเพียง 1.4 องศา หากสภาพอากาศเป็นใจ ฟ้าใสไร้ฝน ดูด้วยตาเปล่าได้ทั่วประเทศ ผู้สนใจรอชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ในคืนดังกล่าวได้ ดาวเคียงเดือนจะส่องสว่างสวยงามมากเนื่องจากดาวพฤหัสบดีเพิ่งโคจรมาใกล้โลกที่สุดในรอบปีเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา หากสังเกตการณ์ดาวพฤหัสบดีด้วยกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก จะมองเห็นแถบเมฆ และดวงจันทร์บริวารหลักทั้ง 4 ดวงของดาวพฤหัสบดี เรียกว่า ดวงจันทร์ของกาลิเลียน (Galilean Moons) ได้แก่ ไอโอ (Io) ยูโรปา (Europa) แกนิมีด (Ganymead) และคัลลิสโต (Callisto) และหากใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 8 นิ้ว กำลังขยายตั้งแต่ 50 เท่าขึ้นไป จะมองเห็นจุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดี (Great Red Spot) ได้อย่างชัดเจน (ในคืนดังกล่าวจะสามารถสังเกตจุดแดงใหญ่ได้ในเวลาประมาณ 02.00-04.00 น.) ทั้งนี้ #ปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน ถือเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เนื่องจากดวงจันทร์และดาวเคราะห์เปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ ตามคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ ดังนั้น การที่ ดวงจันทร์และดาวเคราะห์ปรากฏบนท้องฟ้าในทิศเดียวกัน หรือเคลื่อนที่มาอยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกันจึงถือเป็นเรื่องปกติ อธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์