นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความเห็นกรณีเงินบาทแข็งค่าผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า...
มีคนสอบถามว่า เงินบาทที่แข็ง เป็นจุดที่จะชื่นชมผลงาน 5 ปีของรัฐบาลลุงตู่ หรือไม่? มีคนจัดทำภาพที่แสดงค่าเงินบาทที่แข็งที่สุดในอาเซียน และนอกจากนั้น การที่ไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูง ก็อาจเป็นผลงานอีกอย่างหนึ่ง หรือไม่? บาทแข็งขึ้น 1.4% ในขณะที่สิงค์โปรอ่อนลง 9% ฟิลิปปินส์อ่อนลง 17% อินโดนีเซียอ่อนลง 22% และมาเลเซียอ่อนลง 26% แต่ก่อนที่จะสรุปว่า ฝีมือของคนไทย เก่งกว่าสิงค์โปร ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ต้องเข้าใจก่อนว่า บาทแข็งนั้น ไม่ดีแก่ผู้ส่งออก แต่ดีกับผู้นำเข้า ในรูปข้างล่าง Wealthplus Today คาดว่าบาทแข็งมีผลกระทบธุรกิจในทางลบในปี 2562 ไปแล้ว 1.7 หมื่น ลบ. ส่งออกกำไรหดกว่า 6.6 หมื่น ลบ. และเนื่องจากราคาตลาดโลกกำหนดราคาสินค้าเกษตรเป็นดอลลาร์ ดังนั้น บาทที่แข็ง ย่อมจะทำให้รายได้สินค้าเกษตรที่แปลงเป็นสกุลบาท เป็นจำนวนเงินน้อยลง เกษตรกรจึงจะได้เงินบาทในมือน้อยลง ทั้งนี้ บาทแข็ง ควบคู่ไปกับทุนสำรองที่เพิ่มขึ้น อาจจะสะท้อนปัญหาพื้นฐานประการหนึ่ง ปัญหาที่กล่าว ก็คือ 5 ปีที่ผ่านมา เอกชนมีการลงทุนกิจการใหม่ หรือขยายกิจการเดิมไม่มากเท่าที่ควร เมื่อเอกชนมีการลงทุนน้อย ก็ไม่ค่อยนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับขยายการผลิต สรุปแล้ว เอกชนลงทุนน้อยลง นำเข้าสินค้าส่วนทุนน้อยลง ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากขึ้น ทำให้บาทแข็งขึ้น เงินบาทที่แข็งขึ้น ก็ทำให้ส่งออกลดลง ส่วนเกษตรกรที่ส่งออกสินค้าต่างๆ ก็จะได้เงินบาทน้อยลง คิดอย่างนี้ บาทแข็งเป็นตัวสะท้อนปัญหาการลงทุนต่ำนั่นเอง และบาทแข็งยิ่งทำให้ปัญหาส่งออกแก้ยากขึ้นด้วย กำลังซื้อเกษตรกรฟื้นยาก ผู้ที่ร่ำรวยมีแต่บริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาดหุ้นซึ่งส่วนใหญ่เน้นการนำเข้าและขายในประเทศมากกว่าการส่งออก วันที่ 16 มิถุนายน 2562 ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล Facebook Thirachai Phuvanatnaranubala (เครดิตภาพตามแหล่งที่แสดงชื่อ) หมายเหตุ: การกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ