สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page ได้โพสต์เรื่องราวที่ทำให้เราได้รู้จักเข้าใจและใกล้ชิดกับดวงจันทร์ที่เรากันเห็นมาตั้งแต่เกิดได้มากขึ้น “อาจเคยมีดาวเคราะห์แคระพุ่งชนดวงจันทร์! #ดวงจันทร์ เป็นบริวารเพียงหนึ่งเดียวของโลกที่ไม่ว่าเราจะแหงนมองสักกี่ครั้ง ก็จะหันเพียงด้านเดียวเข้าหาโลกเสมอ ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าอีกซีกหนึ่งของดวงจันทร์มีลักษณะอย่างไร ในปี พ.ศ.2502 ดาวเทียมลูน่า 3 ของสหภาพโซเวียต เป็นดาวเทียมดวงแรกที่ถ่ายภาพด้านไกลของดวงจันทร์ไว้ได้ ทำให้ทราบว่าพื้นผิวด้านไกลของดวงจันทร์นั้นซีดจางและเต็มไปด้วยร่องรอยหลุมอุกกาบาตเล็ก ๆ นับพันหลุม ซึ่งแตกต่างกับพื้นผิวด้านใกล้ที่เราเห็นอยู่ทุกวันอย่างสิ้นเชิง ความแตกต่างระหว่างพื้นผิวทั้งสองด้านของดวงจันทร์นั้น ทำให้นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่า ในอดีตอาจมีวัตถุขนาดใหญ่พุ่งชนด้านใกล้ของดวงจันทร์ เนื่องจากด้านใกล้ของดวงจันทร์นั้นมีที่ราบกว้างเป็นแอ่งหลุมขนาดใหญ่ เรียกว่า มาเร (Mare) เป็นภาษาละติน แปลว่า “ทะเล” เม้ง ฮัว ชู (Meng Hua Zhu) นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ของมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเก๊า ใช้ข้อมูลจากปี พ.ศ. 2555 จำลองสถานการณ์การพุ่งชนพื้นผิวด้านใกล้ของดวงจันทร์โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ผลจากการทดลองพบว่า แอ่งหลุมขนาดใหญ่บนด้านใกล้ของดวงจันทร์นั้น น่าจะเกิดจากวัตถุที่มีขนาด 1 ใน 3 ของขนาดดาวพลูโต หรือ 1 ใน 4 ของขนาดดวงจันทร์ ซึ่งเป็นขนาดที่ใกล้เคียงกับดาวเคราะห์แคระ พุ่งเข้าชนด้วยความเร็วประมาณ 23,500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ขณะที่เกิดการชนนั้นดวงจันทร์ยังมีอายุน้อยและมีอุณหภูมิภายในสูง สัณฐานของดวงจันทร์จึงค่อย ๆ ปรับสภาพเป็นทรงกลมจนถึงปัจจุบัน นักดาราศาสตร์เชื่อว่าการศึกษาความแตกต่างระหว่างด้านใกล้กับด้านไกลของดวงจันทร์นั้น จะทำให้เราสามารถเข้าใจเกี่ยวกับการกำเนิดและองค์ประกอบที่สำคัญของดวงจันทร์ได้มากยิ่งขึ้น เรียบเรียง : กฤษดา รุจิรานุกูล - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. อ้างอิง :https://www.sciencealert.com/a-colossal-smash-up-with-a-dwa…"