ผู้ใช้เฟซบุ๊ก "นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว" โพสต์บทความ บูชาครูในพิธีไหว้ครู โดยมีเนื้อหาระบุว่า... เดือนมิถุนายนของทุกปี เป็นช่วงกาลสำคัญของเด็กนักเรียน ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัยที่จะเข้าร่วมในพิธี “ไหว้ครู” ดิฉันเป็นเด็กบ้านนอกของแท้ เป็นไพร่บ้านตระกูลชาวสวนชาวนา และยังทำมาหากินอยู่กับกำพืดของตัวเองด้วยการเขียนสารคดีเรื่องชาวบ้านไทยมาจนบัดนี้ ดิฉันเรียนหนังสือจบชั้นประถมที่เมืองเพชรบุรี จากโรงเรียนวัดดอนไก่เตี้ย(ชื่อเท่ไหมจ๊ะ) เรียนมัธยมต้นที่ รร.เบญจมเทพอุทิศ เมืองเพชร มัธยมปลายที่ รร.เตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพ ฯ ในวัยเยาว์การจัดพานไหว้ครูของเด็กๆเป็นเรื่องสนุกเบิกบานของเพื่อนนักเรียน มาระดมช่วยกันหาดอกรักขาว รักม่วง ดอกมะเขือ ดอกบานไม่รู้โรยสีขาว สีชมพูเข้ม และดอกไม้หอมอีกหลายชนิดมาออกแบบจัดพานไหว้ครูอย่างเอิกเกริก ทุกห้องเรียน เด็กๆต่างสุมหัวรุมช่วยกันเต็มสามารถ เป็นโมงยามแสนสนุกของพวกเรา-เด็กๆเมื่อหลายสิบปีก่อนกันมากๆ แต่ครั้นดิฉันเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นเด็กทำงานกิจกรรมนักศึกษา ที่เรียกกันในยุคดิฉันว่า “แอคติวิสต์” อยู่ในสภานักศึกษา-องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(อมธ.) ช่วงก่อนปีพ.ศ.๒๕๓๐ ดิฉันไม่เคยเข้าร่วมพิธีไหว้ครูสักครั้ง ไม่สนใจใดๆด้วยซ้ำ จำได้เลาๆว่ามีรุ่นพี่นายกฯอมธ. ขึ้นไปอ่านแถลงการณ์ต่อต้านพิธีไหว้ครูในหอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ ในวันไหว้ครูนั้นแหละ จนเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นจะจบลงอย่างไร ดิฉันจำไม่ได้แล้ว เพราะไม่ใส่ใจ ถือว่า ไม่ใช่เรื่องใดๆ ของเรา หรือของเพื่อนเรา ครั้นมาเรียนปริญญาโท ทางด้านจารึกภาษาไทย คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีแรกของการศึกษา ดิฉันก็ไม่ไปเข้าร่วมพิธีไหว้ครูของภาควิชา ด้วยสาเหตุง่ายๆ คือไม่สบอารมณ์กับรุ่นพี่ปากเสียบางคน จนอยาก “กวนตีน” และไม่อยากยุ่งยากกับชีวิต ด้วยความตั้งใจว่า ดิฉันจะตั้งใจเรียนหนังสือให้ดีที่สุด และนำวิชาความรู้มาใช้ให้เกิดคุณค่ามากที่สุด เพื่อเป็นการ “สักการะ” ครูทางด้านอักษรโบราณ อย่างเต็มหัวจิตหัวใจด้วยความเคารพ ขอกราบบูชาด้วยวิธีการนี้เถิด แต่จะให้ไปนั่งปั้นหน้าอยู่ร่วมพิธีกับคนที่เหม็นขี้หน้า ขอไม่เอาด้วย ไว้ท่านๆเหล่านั้นจบคอร์สเวิร์คออกไปเมื่อใดแล้ว ดิฉันค่อยไปเข้าพิธีไหว้ครูของชาวศิลปากรเถอะน่ะ เมื่อรุ่นพี่ปากเป็นพิษบางคนจบคอร์สเวิร์คออกไปแล้ว ดิฉันก็เดินเข้าไปร่วมพิธีไหว้ครูของภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี ของชาวศิลปากรอย่างเต็มหัวใจ กราบครูทุกท่านด้วยความนอบน้อมยิ่งในวิชาความรู้ที่ครูบาอาจารย์ค้นหามาสอนศิษย์ ดิฉันเข้าพิธีไหว้ครูของชาวศิลปากรทุกปี จนเรียนจบปริญญาโทมา และเมื่อจบปริญญาโทมาแล้ว ดิฉันก็ยังไปเข้าร่วมพิธีไหว้ครูของคนเรียนจารึกโบราณ ม.ศิลปากรอย่างต่อเนื่องอยู่หลายปี อาจจะร่วมสิบปีด้วยกระมัง ในเวลานั่งเงียบใคร่ครวญว่า ทำไมดิฉันถึงเต็มใจไปเข้าพิธีไหว้ครูของชาวศิลปากรอย่างต่อเนื่องมาตลอด แต่ในช่วงเรียนม.ธรรมศาสตร์ดิฉันไม่ใส่ใจใดๆในพิธีไหว้ครูเอาเลย ดิฉันได้คำตอบแจ้งชัดว่า ช่วงเรียนปริญญาตรี ดิฉันพบ “ครูที่แท้” ใน ม.ธรรมศาสตร์น้อยมาก ในชีวิตการเรียนธรรมศาสตร์ ดิฉันพบ “นักวิชาการ” ของแท้ มากมาย ธรรมศาสตร์เต็มไปด้วยนักวิชาการ ท่านทำงานวิชาการกันอย่างเข้มข้น เต็มที่ เก่งมากๆ แต่ครูที่แท้หายากมาก ดิฉันได้พบเพียง ๒ ท่านคือ รศ.ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ และ ดร.ภัทรพร สิริกาญจน์ แต่ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ดิฉันพบครูที่แท้ทั้งภาควิชา ท่านทุ่มเทสอนนักศึกษาอย่างเต็มที่ ใจกว้างมากๆ ในการรับฟังความคิดเห็นจากนักศึกษาบ้าๆบวมๆ หลายต่อหลายคน ไม่มีอาฆาต ไม่มีตามเข่นตามกระทืบนักศึกษาคนไหน มีแต่เมตตาธรรมและอภัยทานให้กับนักศึกษาอย่างเต็มที่ หากในช่วงที่ดิฉันเรียนอยู่ศิลปากร อาจมีเพียง ศาสตราจารย์ดร.ประเสริฐ ณ นคร ที่เป็นเสาหลักในการทำงานวิชาการด้านการอ่านจารึกโบราณไว้ แต่ครูท่านอื่นๆทุกท่านที่ดิฉันเคารพบูชาในความเป็นครูที่แท้ ต่างทำงานทางวิชาการไว้ไม่มากนัก ธรรมศาสตร์และศิลปากร ในช่วงที่ดิฉันเรียนหนังสือ ต่างกันมาก ในจุดนี้ หลายปีหลังจบการศึกษาในมหาวิทยาลัยออกมา เมื่อดิฉันได้มาทำงานทางด้านวัฒนธรรมชาวบ้านไทย เขียนงานสารคดีชาวบ้านและภูมิปัญญาไทย ดิฉันก็ได้พบอีกหลายมิติของพิธีกรรมไหว้ครู ที่ดิฉันเคยไม่สนใจในช่วงเรียนปริญญาตรีที่ม.ธรรมศาสตร์ แต่กลับไปเข้าร่วมพิธีอย่างเต็มใจยิ่งในช่วงเรียนปริญญาโทที่ม.ศิลปากร ยิ่งเมื่อมาทำงานเขียนสารคดีเต็มตัวแล้ว ดิฉันยิ่งได้แลเห็นด้วยมุมมองที่ซาบซึ้งยิ่งนักของการเป็น “ศิษย์มีครู” ครั้นทำงานกับชาวบ้านไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ดิฉันก็ได้พบความจริงหลายอย่าง ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ พี่ชาติ เชิดชำนาญ-นายหนังตะลุงชื่อดังของเมืองเพชรบุรีเมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อนนั้นแหละที่สอนดิฉันเป็นครั้งแรก ให้ยกมือไหว้ตัวหนังรูปฤษีที่ปักไว้บนหยวกกล้วยกลางจอตั้งแต่ก่อนโหมโรง และทุกครั้งที่ตั้งจอขาวเล่นหนังตะลุง ไม่ว่าจะคณะไหน เป็นต้องจัดพานตั้งเครื่องเซ่นไหว้ครูหนัง จุดธูปควันขาวจรุงกลิ่น หอมวังเวงชวนให้กลัวผี และดูศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก หลังจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูลเรื่องลิเก โนรา หนังใหญ่ เพลงพื้นบ้าน เล่นผี ละครชาตรี ดนตรีไทย ละครชาวบ้านไทยและการแสดงทุกประเภท ดิฉันก็ได้เห็นการทำพิธี “ไหว้ครู” ในทุกครั้งที่ตั้งเวที ตั้งจอแสดงนาฏศิลป์ต่างๆ และยังมีการจัดพิธี “ไหว้ครู” ครั้งใหญ่ ประจำปี ทุกปี ของคณะนาฏลีลา และศิลปินชาวบ้านเหล่านั้น ช่างเมืองเพชร ช่างไทย สาขาต่างๆ ช่างเขียน ช่างปั้น ช่างแทงหยวก ฯลฯ นานาสารพัดช่าง ทุกสาขาวิชา ล้วนแล้วแต่จัดพิธี “ไหว้ครู” อย่างเคร่งครัดด้วยกันทั้งสิ้น และในบทไหว้ครูของแต่ละสาขาศิลปะ ก็จะบอกชื่อ “ครู” แต่ครั้งบรรพกาลสืบต่อเนื่องนำกันมา เป็นประวัติศาสตร์วิชาช่างชาวบ้านไทย ดังที่นายหนังตะลุงที่ชื่อตาป่วน เชิดชำนาญ เกิดเมื่อปีพ.ศ.๒๔๖๖ พ่อของพี่ชาติ เชิดชำนาญ ครูใหญ่ทางหนังตะลุงผู้เป็นที่รักเคารพยิ่งของดิฉัน พี่ชาติตายไปหลายปีแล้ว แต่ได้วิชาจากพ่อคือตาป่วนมาเต็มที่ และครั้งหนึ่งเมื่อราว ๔๐ ปีก่อนตาป่วนก็เคยให้สัมภาษณ์พี่เอนก นาวิกมูลไว้ว่า “เริ่มต้น...เขาจะต้องเชื้อเชิญครูก่อน เชิญวิญญาณของครูน่ะ ที่ล่วงชีวิตไปแล้ว วิญญาณทุกวิญญาณมารับเครื่องสักการบูชา ไหว้ครูน่ะ ครูมากครับ ครูฉิ่ง ครูฉาบ ครูกรับ ครูโหม่ง ครูโทน ครูกลอง ครูตะโพน ครูฆ้อง ครูดนตรีตีเป่าต่างๆ นานา นี่บรรยายถึงครูนะ... แล้วทีนี้มีครูเรื่องรามเกียรติ์ ทางวรรณคดีไทยก็มีครูนาเรศ ครูนารายณ์ ครูพระพุทธ ครูพระพาย ครูทสะ ครูจตุพักตร์ ครูทศเศียร ถ้าจะไหว้ครูทั้งหมด ๒ ชั่วโมงก็ไม่พอ” ศิษย์มีครูของทุกสาขาวิชา จึงเป็น “วิญญาณ” เป็น “รากแก้ว” ของงานช่าง ของศิลปะทุกสาขาในเมืองไทย โดยมีความเชื่อ ศรัทธา ข้อห้ามกำกับมาด้วยว่า ศิษย์จะต้อง “ไหว้ครู” หากช่างแขนงต่างๆ ไม่มีครู ไม่ไหว้ครู บุคคลผู้ละเมิดกฎ ข้อห้าม (Taboo) ของบรรพชนที่สืบเนื่องกันมานี้ จะป่วยไข้ วิบัติ เป็นบ้า ร่วม ๒๐ ปีมานี้ดิฉันเข้าร่วมในพิธีไหว้ครูของหลากหลายสาขาวิชาช่างไทยและการเลี้ยงผีพื้นบ้านไทยมาโดยตลอด ทั้งได้รวบรวมข้อมูลจากสมุดไทยขาวไทยดำ สมุดไทยใบลานจำนวนมาก ปริวรรตถอดอักษรโบราณออกมาศึกษาไม่มีร้างรา แต่ไม่เคยใส่ใจที่จะไปไหว้ครูอักษรโบราณใดๆ ทั้งสิ้น ในขณะที่หลายปีมานี้ ดิฉันป่วยหนัก ป่วยด้วยโรคคลื่นไฟฟ้าสมองมากขึ้นเรื่อยๆ จนครั้งหนึ่ง ดิฉันได้สนทนากับอ.เรณู วิชาศิลป์ ที่ทำงานด้านเอกสารโบราณ อ.เรณู วิชาศิลป์ เป็นเพื่อนคุณแม่ดิฉัน เคยสอนที่วิทยาลัยครูมหาสารคามมาด้วยกัน อ.เรณูได้เข้าเป็นรุ่นพี่ ศึกษาปริญญาโท ทางด้านจารึกภาษาไทย คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ก่อนดิฉันอยู่ร่วมสิบปี มาภายหลังอ.เรณู ได้ย้ายมาสอนที่วิทยาลัยครูเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ.เรณูมีผลงานด้านปริวรรตถอดความอักษรไทอาหม และเขียนผลงานทางด้านภาษาไต-ไท ของคนไทยฟากตะวันตกของแม่น้ำสาละวินไว้มาก แต่ขณะเดียวกัน อ.เรณูก็ป่วยหนักด้วยโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท และประสาทสันหลัง นั่งไม่ได้ เดินไม่ได้ นอนไม่ได้ ทรมานมาก ก่อนที่อ.เรณูจะเข้าผ่าตัดรักษาโรคประสาทสันหลัง อ.เรณูได้ไปกราบหลวงพ่อที่เคารพในวัดเมืองเชียงใหม่ บอกเล่าอาการป่วยไข้ให้หลวงพ่อฟัง หลวงพ่อถามอ.เรณูว่า ที่ทำงานกับสมุดไทยใบลานโบราณมานี้ เคยไหว้ครูบ้างไหม อ.เรณู บอกว่า ไม่เคยเลยค่ะท่าน หลวงพ่อบอกว่า งั้นอาจารย์โดนครูทำเข้าแล้ว ไปไหว้ครูเอกสารโบราณซะ จะหายป่วย ไม่ต้องลำบากผ่าตัด ถ้ายังทำงานเอกสารโบราณอยู่แล้วไม่ไหว้ครู ผ่าตัดไปก็ไม่หายหรอกน่ะ อ.เรณูไปเข้าพิธีไหว้ครูเอกสารโบราณของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่นานก็หายป่วยหายปวดหลัง ไม่ต้องเข้าผ่าตัด เมื่อดิฉันได้สนทนากับอ.เรณู และท่านได้เปิดเผยการถูก “ครูทำ” ให้ดิฉันฟังแล้ว อ.เรณูก็ถามดิฉันว่า ทำงานใช้เอกสารโบราณตลอด เอียดเคยไหว้ครูบ้างไหม คนใช้เอกสารโบราณแล้วไม่ไหว้ครูน่ะ จะป่วยด้วยโรคทางสมอง เส้นประสาท และระบบประสาททั้งนั้น นี้เป็นข้อกำกับที่ครูเอกสารโบราณบอกมาเลยนะ “ไอ๊หยา” ฟังแล้วดิฉันหัวหด ขนลุกขนพอง เพราะสิบกว่าปีมานี้ ดิฉันไม่เคยเข้าพิธีไหว้ครูเอกสารโบราณอีกเลย ทั้งที่ทำงานใช้สมุดไทยใบลานมาโดยตลอด ครั้นได้ยินผู้ใหญ่เตือนมา ดิฉันก็ได้ไปเข้าพิธีไหว้ครูเอกสารโบราณของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ที่อ.แสนประเสริฐ ปานเนียม จัดให้กับนักศึกษาเอกภาษาไทย โดยมีคุณพ่อดิฉันเป็นประธานของพิธีนี้อยู่ทุกปี แต่ก่อนหน้านี้ไม่เคยชวนลูกตัวเองเข้าพิธีสักครั้ง เพราะเห็นชัดว่า ลูกไม่สนใจ เมื่อไปเข้าพิธีไหว้ครูเอกสารโบราณต่อเนื่องมาถึง ๓-๔ ปี ดังที่อ.เรณูเตือนมาแล้วนี้ อาการป่วยไข้ทางคลื่นไฟฟ้าสมองของดิฉันก็ทุเลาเบาบางลงไปมาก และออกจะเกิดอาการ “เข็ดขยาด” พร้อมจะ “ไหว้ครู” วิชาช่างไทย อย่างไม่อินังขังขอบ หรือตั้งคำถาม “กวนตีน” ใดๆ กับครูโบราณเหล่านั้นอีกแล้ว ยังมีอีกมิติหนึ่ง ที่ดิฉันซาบซึ้งยิ่งก็คือ ครูท่านเหล่านี้ “ทิ้งไม่ได้” คนในแต่ละสาขาวิชาชีพจะต้องเลี้ยง บูชา ดูแล ส่งต่อ “ครู” ให้ศิษย์รุ่นหลัง ได้ทำพิธีสักการะกันต่อไป ด้วยวิถีบูชาครูเช่นนี้เอง จึงทำให้วิชาช่าง นาฏศิลปะของคนไทยทุกระดับชนชั้นทั้งเจ้าและไพร่ มีอายุสืบเนื่องยืนยาว(มาให้ขายฝรั่งเอาเงินเข้ากระเป๋า)ได้ ด้วยการดูแลบูชาครู ผ่านทางพิธี “ไหว้ครู” ที่จะต้องหาคนรุ่นหลังมาเป็น “นักเรียน” สืบต่อวิชาความรู้กันต่อไป เพราะถ้าทิ้ง “ครู” เสียแล้ว วิบัติจะมาเยือนตัวเองและครอบครัวแน่ๆ ดังคำสาปแช่งของครูช่างโบราณที่กำกับวิชาชีพไว้ ในช่วงปีพ.ศ.๒๕๖๑ ที่ผ่านมา นักการเมืองรุ่นใหม่ของไทยบางคน ออกมาตำหนิ วิพากษ์พิธี “ไหว้ครู” ของนักเรียนไทย ว่า ดังที่มีข่าวปรากฏในแทบลอยด์ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๑ จนมีผู้ใหญ่ในสังคมออกมาตำหนิติเตียนกันอลหม่าน ถ้าเกือบจะลืมกันไปแล้ว ดิฉันขอนำมาทบทวนความจำกันอีกสักครั้งหน่อยว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พูดถึงเรื่องการศึกษาและพิธีกรรมไหว้ครู ในครั้งนั้น ถึงแนวคิดนโยบายของพรรคอนาคตใหม่ ต่อการแก้ปัญหาระบบการศึกษาของประเทศไทยว่า (ดูรายละเอียดใน https://www.thaipost.net/main/detail/10320) “การศึกษาไทยไม่เคยพูดเรื่องประชาธิปไตย สิทธิพลเมือง ไม่เคยพูดเรื่องความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ และไม่เคยพูดเรื่องคุณค่าหรือศักยภาพความเป็นมนุษย์ แม้แต่คำเดียวในการศึกษาไทยทั้งหมด "ลองย้อนกลับไปนึกในสิ่งที่เรียน อย่างเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕เหตุการณ์ที่ใหญ่ขนาดนั้น สมัยผมหนึ่งย่อหน้ากับเหตุการณ์ ๒๔๗๕ พูดถึงนายปรีดี พนมยงค์ครั้งเดียว ในแบบการเรียนการศึกษาไม่เคยพูดเลยว่าประชาชนมีศักยภาพอย่างไรในตัวเอง สอนแต่ให้ทุกคนยอมจำนน สอนแต่ให้ทุกคนสยบยอม แม้แต่ความไม่เป็นธรรม ความไม่ยุติธรรมก็ต้องสยบยอม นี่คือการศึกษาไทย" “ผู้สัมภาษณ์ถามว่าแล้วพรรคอนาคตใหม่มีนโยบายเรื่องการศึกษาอย่างไร? นายธนาธร ตอบว่า ทำลาย disrupt มัน เขย่ามัน ดึงรัฐออกไป ให้ประชาชน กรรมการโรงเรียนตัดสินเอง ยกตัวอย่างง่ายๆ พิธีไหว้ครู เป็นพิธีกรรมที่ล้าหลังมาก เอาพิธีกรรมที่เจ้ายศเจ้าอย่างออกไปทั้งหมด จากระบบการศึกษา ยกตัวอย่าง โรงเรียนไหนอยากจะมีการไหว้ครู ก็เป็นเรื่องของโรงเรียน ไม่ต้องไปบังคับเขา โรงเรียนไหนไม่อยากมีก็ไม่ต้องมี โรงเรียนไหนอยากให้นักเรียนไว้ผมยาวได้หรือจะให้ไว้ผมทรงนักเรียน หรือโรงเรียนไหนอยากให้นักเรียน นักศึกษาใส่ชุดนักศึกษาหรืออยากจะให้ใส่ชุดอะไรก็ได้มาเรียน ก็ให้เป็นเรื่องของโรงเรียน ต้องเอารัฐออกจากรูปแบบ เนื้อหาของการเรียนอยากสอนอะไรก็สอน ไม่ต้องไปออกแบบวิธีการประเมินจากส่วนกลาง ให้ท้องถิ่นออกแบบตัวเอง" ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๒ นี้ เป็นเดือนแห่งการไหว้ครู ของโรงเรียน สถานศึกษาทั่วประเทศอีกครั้ง ต้อนรับช่วงระยะเวลาเปิดเทอม และด้วยวิถีเดียวกัน ทุกหน่วยงานศิลปะพื้นบ้าน หนังตะลุง ลิเก ละคอนชาตรี เพลงฉ่อย เพลงปรบไก่ งานช่างทุกสาขา ฯลฯ ต่างล้วนจัดพิธีไหว้ครูทั้งสิ้น เพื่อทั้งบูชาครู และส่งต่อครูให้ลูกศิษย์ รับไปสืบต่อบูชา อันเป็นหนทางสืบต่อชีวิตของศิลปะไทยทุกแขนงมาแต่โบราณ และล่าสุด ก็มีการจัดพานไหว้ครู เสียดสีล้อเลียนทางการเมืองของเด็กนักเรียนนักศึกษาโผล่เข้ามาในพิธีไหว้ครู เป็นลักษณาการของมิติทางสังคม-มานุษยวิทยา ที่ปะทะโดยตรงกับรากลึกของวัฒนธรรมไหว้ครูไทย ที่ได้สืบทอดกันมา แรงสะเทือนนี้จะเขย่าสังคมอีกหลายมิติ อีกพักใหญ่ กว่าจะไปสู่จุดตกผลึกอันสมดุลและลงตัว แต่วามจริงหนึ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังสภาวการณ์นี้ก็คือ คนรุ่นใหม่ที่ออกมาด่าพิธีไหว้ครู เด็กรุ่นใหม่ที่สนุกสนานกับการจัดพานไหว้ครูล้อเลียนการเมือง พวกเขาเหล่านั้น ล้วนยังต้องหาฤกษ์ยามในการแต่งงาน ปลูกบ้าน ซื้อที่ดิน ออกรถ ออกลูก ให้พระเจิมรถ ไหว้ศาลพระภูมิ เข้าพิธีไหว้เจ้าตรุษจีน ดูดวง ใช้ยันต์ติดรถ แขวนตระกรุด เครื่องราง พระเครื่องกันให้ควั่ก หรือเด็กหลายคนที่จัดพานล้อเลียนการเมืองนั้น พ่อแม่พวกเขาทำกระทั่งหาฤกษ์มาผ่าท้องคลอด โกนผมไฟ ฯลฯ นานาสารพัด ของการไหว้ผี ไหว้เจ้า เหล่านี้ล้วนเป็นรากแขนง รากฝอย ร่วมรากมากับรากแก้วแห่งการเคารพ บูชาผี บูชาครูเทพ พลังลึกลับศักดิ์สิทธิ์ของธรรมชาติในสังคมไทยที่อยู่มาตลอดหลายพันปี เป็นหมื่นๆปีตั้งแต่มีมนุษย์มาบนโลกใบนี้แล้วก็ว่าได้ คุณพ่อดิฉัน อ.ล้อม เพ็งแก้ว สอนลูกเสมอว่า “การจะยิงธนูให้ไกล ต้องน้าวสายธนูไปข้างหลังให้มากๆ ดังนั้นถ้าอยากรู้เรื่องปัจจุบันให้ลึกซึ้ง ก็จำเป็นต้องตรวจสอบสืบค้นเรื่องราวในอดีตให้มากๆ เพราะเหตุการณ์ในอดีตจะเป็นตัวกำหนด หรืออธิบายสภาพปัจจุบันได้ดีที่สุด อดีตนั้นเป็นฐานให้กับอนาคต เจดีย์จะใหญ่ต้องมีฐานกว้างโต ถ้าฐานเล็กก็เหมาะกับเจดีย์เล็ก ถ้าอดีตใหญ่ก็คาดการณ์ได้เลยว่าอนาคตจะใหญ่ได้” พระยาอนุมานราชธนก็เคยกล่าวถ้อยคำที่ลึกซึ้งยิ่งไว้ในเรื่องการสืบต่อภูมิปัญญาจากบรรพชนไว้ว่า “ถ้าผู้ใดไม่มีอดีตเป็นของตน ก็หมายความว่า ผู้นั้นยังเป็นเด็กอยู่เสมอ ไม่มีวันเติบโตเจริญเป็นผู้ใหญ่ได้ เปรียบเสมือนน้ำในกระแสธารที่ไหลเรื่อย ก็ต้องมีน้ำเก่าไป น้ำใหม่มา ต่อเนื่องกันไปไม่ขาดตอน จึงเป็นกระแสธารที่มีน้ำเต็มอยู่เสมอ และไม่เน่าฉะนั้น” นอกจากนี้อาจารย์เขมานันทะ ครูทางธรรมของดิฉัน ก็เคยพูดไว้เช่นกันว่า “ต้นไม้ที่มีรากลึกย่อมไม่กลัวพายุคุกคาม” พิธีไหว้ครูทั้งของนักเรียนชั้นประถม มัธยมศึกษา มหาวิทยาลัย และพิธีไหว้ครูของครูช่างทุกสาขาในเมืองไทย จึงเป็นรากลึกยิ่ง สำคัญยิ่งในการปลูกสร้างสืบต่ออนาคตของชาติบ้านเมืองเรา ไม่ให้ “เน่า” ไปด้วยการไร้สติ ไร้ปัญญา ที่คนรุ่นใหม่มุ่งมั่นจะมาแก้ปัญหาชาติบ้านเมือง แต่กลับตื้นเขินยิ่ง แทบจะไร้ปัญญาในการรู้จักบ้านเมือง สังคม และวัฒนธรรมของคนทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นเจ้า ไพร่บรรพชนคนรากหญ้า ที่ปลูกร่างสร้างสังคมไทยร่วมกันมา การที่นักการเมืองรุ่นใหม่บางคน มองเห็นพิธีไหว้ครูเป็นเพียงเรื่องล้าหลัง เจ้ายศเจ้าอย่าง โบราณ คร่ำครึ จึงเป็นแค่ความไร้สติ ไร้ปัญญา ที่พูดออกมาโดยไม่ตระหนักด้วยซ้ำว่า “หยาบ” และ “โง่” ไม่รู้กระทั่งว่า ไอ้ที่คิด ที่พูด ที่ทำ ออกมานั้น กำลังกระทำการ “ทุบหม้อข้าว-เผายุ้งฉาง” ของแผ่นดิน และของตัวเอง ชนิดน่าสังเวช ชวนให้เวทนานัก สติปัญญาในการรู้จักแผ่นดิน-สังคม-วัฒนธรรมไทยยังแทบไม่มี เป็นเช่นนี้จะไปแก้ปัญหาบ้านเมืองอะไรได้