บริษัทเซอร์ทิส และมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ร่วมมือพัฒนาเครื่องมือเอไออัจฉริยะ Data and Impact Assessment,Monitoring,and Development System หรือ “DIAMONDS”เพื่อวิเคราะห์การเรียนรู้ของนักเรียนพร้อมสร้างข้อสอบ ตามตัวชี้วัด ช่วยลดภาระงานครูและสร้างห้องเรียนที่มีคุณภาพ นายธี วชิรมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท เซอร์ทิส จำกัดเปิดเผยว่า ความร่วมมือในการพัฒนาเครื่องมือ DIAMONDS ในครั้งนี้มีจุดเริ่มต้นของโครงการนี้มาจากความมุ่งมั่นของเซอร์ทิส ที่จะใช้ความเชี่ยวชาญทางด้านข้อมูล(data)กับปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ(Artificial Intelligence: AI) ของเรามาสร้างให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมนอกเหนือจากงานทางด้านธุรกิจ โดยในครั้งนี้ได้พันธมิตรทางธุรกิจที่เข้าใจด้านการศึกษาอย่างมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ และพนักงานของบริษัทที่ช่วยผลักดัน DIAMONDS ให้เป็นผลผลิตที่สร้างการเรียนรู้ของนักเรียนไทยให้ดีขึ้น โดยการใช้ข้อมูลมาสร้างข้อสอบที่เหมาะสมกับศักยภาพของนักเรียนแต่ละคน (Personalized test) เพื่อประเมินการเรียนรู้อย่างตรงจุดที่สุด โดยในอนาคตเราอยากเห็น ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับองค์กรอื่นๆที่มีแนวคิดในการร่วมกันช่วยพัฒนาและเปลี่ยนแปลงให้การศึกษาของไทยดีขึ้น ดร.รชยา ศรีสุริฉัน ผู้อำนวยการด้านข้อมูลและผลกระทบ มูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์กล่าวว่า ความร่วมมือกับบริษัทเซอร์ทิส ในการพัฒนาคุณภาพ การสอนผ่านเทคโนโลยีเอไอเป็นตัวอย่างของการทำงานระหว่างบริษัทเอกชนและองค์กรเพื่อสังคมที่ทำงาน เพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกันในการขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้มีคุณภาพ จากประสบการณ์ทำงานในโรงเรียนของเราที่เจอความท้าทายในการการวัดและประเมินผล มองเห็นถึงความเป็นไปได้ของ DIAMONDS ในการต่อยอดไปสู่การสนับสนุนครูทั่วประเทศไทยผ่านการทดสอบการใช้งานใน 29 โรงเรียนเครือข่ายที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกแก่นักเรียนเกือบ 10,000 คน ภายใต้การดำเนินการ ของครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงจากทีช ฟอร์ ไทยแลนด์” สำหรับเครื่องมือ Data and Impact Assessment,Monitoring,and Development System หรือ DIAMONDS เป็นระบบวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียน ปัจจุบันอยู่ในช่วงปรับปรุงและพัฒนา โดยระบบดังกล่าวประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วนได้แก่1.การสร้างข้อสอบ ซึ่งทำหน้าที่สร้างข้อสอบตามตัวชี้วัดของหลักสูตรที่ผู้สอนต้องการวัด เพื่อวัดผลกระทบเชิงบวกที่เกิดขึ้นต่อ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของนักเรียน และช่วยให้ผู้สอนสามารถเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนรู้สำหรับนักเรียนของตนได้อย่าง เหมาะสม 2.การรายงานผล ซึ่งทำหน้าที่วิเคราะห์และรายงานผลการเรียนรู้ของนักเรียน รวมถึงจุดเด่นและจุดที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติมสำหรับ นักเรียนเป็นรายบุคคลและโดยภาพรวม โดยในอนาคตมีแผนที่จะพัฒนาระบบดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงการวัดและประเมินผลกระทบเชิงบวกที่มีต่อนักเรียนในด้านต่างๆเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาทักษะและลักษณะนิสัยที่จำเป็นของนักเรียนด้วย คาดหวังว่าจะเสร็จสิ้นในช่วงปลายปีนี้ และพร้อมที่จะขยายผลไปสู่โรงเรียนและครูทั่วประเทศไทย เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกในวงกว้างต่อไป