เห็นข่าวราคาหมูแล้วก็อดสงสารเกษตรกรคนเลี้ยงหมูไม่ได้ เพราะนอกจากต้องร้อนๆหนาวๆกลัวโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู (ASF) ที่กำลังระบาดในประเทศเพื่อนบ้านจะกระโดดเข้ามาสร้างความเสียหายกับหมูไทยแล้ว ตอนนี้ยังมีคนจับตาราคาหมู กลัวว่าจะ “แพง” จนกรมกองที่เกี่ยวข้องร่ำๆว่าจะออกมาแก้ไขให้กลายเป็น “ถูก” หวังเอาใจผู้บริโภค โดยลืมมองความทุกข์ของคนเลี้ยง และคงลืมไปแล้วว่ากว่าที่เนื้อหมูจะมาถึงมือผู้บริโภค ต้องผ่านวงจรการผลิตถึง 3 ขั้นตอน ตั้งแต่หมูเป็นจากฟาร์ม เข้าโรงฆ่าและชำแหละได้หมูซีก แล้วถึงจะวางขายที่เขียงหมูให้ได้จับจ่าย ซึ่งแต่ละขั้นตอนต่างมีปัจจัยมีต้นทุนที่ส่งผลต่อราคาหมูแทบทั้งสิ้น ที่สำคัญเนื้อหมูที่คนบ่นว่าแพงนั้นก็ไม่ใช่เนื้อหมูทั้งตัว เพราะชิ้นส่วนของหมูไม่ได้ขายในราคาเดียวกันทั้งหมด โดยหมูขุน 1 ตัว น้ำหนักประมาณ 100 กิโลกรัม เมื่อถูกชำแหละ นำเอาเลือด ขน เครื่องใน และของเสียในทางเดินอาหารออกแล้ว จะได้ซากหมูที่ขายได้จริงเพียง 75 กิโลกรัม ในจำนวนนี้มีแค่ 42 กิโลกรัมเท่านั้น ที่เป็นเนื้อแดงซึ่งขายได้ราคาที่สุดของตัวหมู ทั้งนี้ สังวาลย์ สยาม นักวิชาการอิสระ ได้วิเคราะห์ว่า สิ่งที่เกษตรกรได้รับจึงไม่ใช่กำไรมหาศาลอย่างที่ผู้บริโภคหรือภาครัฐเข้าใจ มีเพียงรายได้ที่พอต่อลมหายใจ ลดความบอบช้ำจากภาวะขาดทุนในช่วง 3 ปีมานี้ นับตั้งแต่ปลายปี 2560 เรื่อยมาจนตลอดปี 2561 พอจะลืมต้าอ้าปากได้บ้างก็ช่วงเมษายนที่ผ่านมา เพราะหมูกระทบร้อน โตช้า เสียหายมาก ประกอบกับการผลิตที่ลดลง เพราะคนเลี้ยงจำเป็นต้องปลดแม่พันธุ์หมูทิ้งถึง 20% หนีภาวะขาดทุนหนักเมื่อปีที่แล้ว สวนทางกับความต้องการบริโภคที่มากขึ้นจากเทศกาล แถมมีวันหยุดยาวหลายช่วง และยังเป็นช่วงที่โรงเรียนเปิดเทอม ราคาหมูจึงกลับมาดีในช่วงสั้นๆ ด้วยหลักอุปสงค์-อุปทาน ทำให้กลไกตลาดเริ่มทำงาน แต่ใช่ว่าคนเลี้ยงหมูจะฉวยเอาจังหวะดีอย่างนี้เป็นโอกาสขึ้นราคาหมูหน้าฟาร์ม เพราะสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและเกษตรกรผู้เลี้ยง ใช้ราคาอ้างอิงที่ให้ไว้กับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ มาตั้งแต่เดือนเมษายน คือ ร่วมมือกันตรึงราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มไม่ให้เกินกิโลกรัมละ 75 บาท ซึ่งจะมีผลต่อราคาเนื้อหมูชำแหละไม่เกินกิโลกรัมละ 150 บาท เท่ากับว่าราคาหมูมีชีวิตทรงตัวมาตลอด 3 เดือน เพื่อไม่ให้กระทบผู้บริโภค จึงไม่เกี่ยวกับราคาหมูขายปลีกที่ปรับสูงขึ้นในวันนี้อย่างที่บางคนพยายามโยนบาปให้คนเลี้ยง เรื่องนี้กรมกองที่เกี่ยวข้องจึงควรไปตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีเหตุสมควรหรือไม่ ไม่ใช่จ้องกดดันเกษตรกรเช่นนี้ ในทางกลับกันภาครัฐเองควรใช้โอกาสนี้ ในการสนับสนุนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงได้มีโอกาสในอาชีพบ้าง ควรปล่อยให้ราคามีการปรับเปลี่ยนไปตามกลไกตลาด ตามแต่ดีมานด์-ซัพพลายที่เกิดขึ้นจริง เพราะปัจจัยข้อนี้มีส่วนทำให้เกษตรกรที่เพิ่งจะผ่านภาวะขาดทุนมาแบบบัวปริ่มน้ำ พอมีรายได้เพิ่มแค่ช่วงสั้นๆ นำไปใช้หนี้ก้อนเดิมของปีที่ผ่านมาได้บ้าง และช่วยให้ยังสามารถเดินหน้าอาชีพนี้ต่อได้ ยิ่งปัจจุบัน มีสถานการณ์ของโรค ASF เข้ามาเกี่ยวข้องเพราะหลายประเทศในภูมิภาคนี้กำลังเผชิญปัญหาเดียวกัน ส่งผลให้หมูขาดแคลน ขณะที่ไทยเป็นประเทศเดียวที่ป้องกัน ASF ได้ ทำให้เป็นที่ต้องการของหลายประเทศ จึงนับเป็นโอกาสทองของไทยด้วยซ้ำ หากแต่ข่าวสารที่ภาครัฐปล่อยออกมา กลับเป็นการปิดโอกาสเกษตรกรไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องห่วงโรค ASF จะทำหมูแพง กลัวคนไทยกินหมูกิโลละ 300 บาทเหมือนคนจีน หรือการเตรียมออกมาตรการควบคุมราคา และการห้ามส่งออกหมูทันที ถ้าหมูเป็นกับหมูหน้าเขียงราคาไม่เป็นไปตามที่กำหนดข้างต้น โดยหารู้ไม่ว่าเรื่องนี้กลายเป็นผลทางจิตวิทยา ทั้งต่อสถาบันการเงินที่ต้องคิดหนักหากจะปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกร เพราะไม่มั่นใจว่าจะสามารถผ่อนชำระเงินกู้ได้หรือไม่ ขณะที่คนเลี้ยงหมูก็เกิดความกังวลและไม่แน่ใจว่าจะสู้ต่อได้ไหม จนหลายคนตัดสินใจออกจากวงการเลี้ยงหมูไปแล้ว นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมด้วยว่า ผู้บริโภคมีทางเลือกมากมาย สามารถเลือกทานเนื้อสัตว์ชนิดใดก็ได้ตามต้องการ ทั้งไก่ ไข่ ปลา ฯลฯ เพื่อทดแทนการบริโภคเนื้อหมู แต่เกษตรกรมีเพียงการเลี้ยงหมูอาชีพเดียวที่เลี้ยงตัวเอง ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าเกษตรกรก็คือผู้บริโภคคนหนึ่งเช่นกัน ดังนั้นหากภาครัฐยังยืนยันที่จะปกป้องผู้บริโภค ก็จำเป็นต้องไตร่ตรองให้รอบด้าน ถ้าเกษตรกรเหล่านี้ต้องถูกควบคุมราคาอย่างไม่เป็นธรรม จะมีเหลืออะไรมาเลี้ยงชีพได้อีก วันนี้สิ่งที่เกษตรกรอยากขอก็คงเป็น “ความเข้าใจ” ถ้ารู้สึกว่าราคาสินค้าแพงไป ก็หันไปทานอย่างอื่นทดแทน เท่านี้กลไกตลาดก็จะทำงาน ราคาก็จะลดลงเอง โดยที่รัฐไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเข้ามากดดันแต่อย่างใด ถึงบรรทัดนี้คงต้องขอเรียกร้องให้หยุดความคิดที่ว่า สินค้าเกษตรแพงไม่ได้เสียที