คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น
ระหว่างที่การเมืองไทยกำลังอยู่ในสภาพ “ไงง่อง” (ภาษาอีสาน แปลว่า ฝุ่นตลบ) อยู่นี้ ผมฆ่าเวลาในการเกิดรัฐบาลใหม่ ด้วยการดู และฟังธรรมทางมือถือ รายการเทศน์ของ “พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ” ทางยูทูบเป็นส่วนใหญ่
ได้รับความรู้ดีๆ ทางธรรมะมากมาย จนต้องตามดูทุกรายการธรรมะของพระอาจารย์สมภพ ทั้งสัปดาห์
พระอาจารย์สมภพ เกิดปี พ.ศ.2492 ที่จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีพระสายปฏิบัติ (กรรมฐาน) มากที่สุด ท่านอุปสมบทเมื่อปี 2528 ขณะอายุ 36 ปี (ประวัติทางยูทูบบอกว่า อายุ 38ปี)
ประวัติทางยูทูบบอกอีกว่า ท่านเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ชา วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี แต่ที่ได้ฟังจากคำบอกเล่าของท่านเอง (ทางยูทูบนั่นแหละ) บอกว่า “หลวงปู่จูม” บิดาของท่านต่างหากไปบวชอยู่ที่วัดหนองป่าพง ส่วนพระอาจารย์สมภพเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่คำสิงห์ สุภัทโท (เพื่อนของหลวงปู่ขุน) ซึ่งผมยังไม่ได้ตามดูว่า หลวงปู่ 2 รูปนั้นอยู่วัดไหน จังหวัดอะไร
พระอาจารย์สมภพนั้น ปัจจุบันอายุ 70 ปี กำลังอาพาธเป็นอัมพาตซีกซ้าย แต่ทำงานหนักในการบรรยายธรรม ในที่ต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ ท่านพูดได้หลายภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ท่านเคยทำงานในตำแหน่งบริหารงานบุคคลของบริษัทต่างชาติในตะวันออกกลาง เคยมีลูกน้องหลายชาติและภาษาจำนวน 2-3พันคน งานที่ทำคือการก่อสร้างสนามยิม
เมื่อทำงานอยู่ตะวันออกกลาง จึงพูดภาษาแขก (ตะวันออกกลาง) ได้ด้วย
เคยติดคุกที่ตะวันออกกลางถึง 6 ครั้ง เพราะไปช่วยเป็นทนายให้คนงานไทย เนื่องจากสื่อสารได้ดีทั้งภาษาอังกฤษและภาษาแขก
ท่านเรียนที่เมืองไทย จบแค่ ป.4 แต่ทำงานในตำแหน่งสูงและได้รับเงินเดือน 35,000บาท (สมัยนั้น) เคยไปถึอศาสนาคริสต์ ทั้งๆ ครอบครัว พ่อแม่ เป็นชาวพุทธที่เคร่งครัด ท่านเกือบจะได้เป็นบาทหลวง แต่บังเอิญในพิธีอาบน้ำ (พิธีบับติสต์) มีเหตุขัดข้องน้ำในการทำพิธีเหือดแห้ง ต้องเลื่อนวันทำพิธีเป็นวันฮอลิเดย์หน้า
พระอาจรย์สมภพศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าจากพระไตรปิฎกโดยตรง เข้าใจว่า น่าจะเป็นชุดแปล แต่ก็น่าแปลกว่า ในการบรรยายธรรมะของท่าน มีการอ้างคำเป็นภาษาบาลีในพระไตรปิฎกอยู่ตลอดเวลา ภาษาบาลีที่ท่านยกมาอ้างนั้นคล่องแคล่วขึ้นใจและกลมกลืนกับเนื้อเป็นอย่างยิ่ง
คำบางคำ ท่านพูดน่าคิด อย่างคำว่า “ศาสนา” ท่านกล่าวว่าศาสนา คือ “ปฏิปทา” หรือ “มรรค” (วิถีปฏิบัติ) ของแต่ละศาสนา
ทำให้นึกเห็นว่า ศาสนา ที่หมายถึง religion นั้น หมายถึงความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องระหว่างมนุษย์ กับเทพเจ้า แต่ในความเป็นจริง ศาสนาบางศาสนาไม่ได้เกี่ยวข้องหรือให้ความสำคัญกับเทพเจ้าเลย เป็นวิธีปฏิบัติล้วนๆ โดยขอพระพุทธเจ้า เป็นคำสอนเพื่อการปฏิบัติให้หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งสิ้น
พระอาจารย์สมภพเป็นคนอีสาน ที่คำบรรยายของท่านแทรกปนด้วยภาษาอีสานตลอดเวลา “คำพญา” และบทกาพย์กลอนภาษาอีสานเก่าๆ พรั่งพรูจากปากท่านอย่างเป็นธรรมชาติ มีความแคล่วคล่องกลมกลืนอย่างน่าอัศจรรย์
ครั้งหนึ่ง ท่านไปพบพระภิกษุชาวอินเดียถูกคนไล่ด่าตามหลัง ด้วยคำว่า
“ภูตา กาษี!”
ท่านฟังรู้เรื่อง ด้วยความเศร้าสลดใจ
(คำว่า “ภูตา กาษี!” แปลว่า “ไอ้คนเลว!” หรือ “ไอ้คนกาษี!)
มีบางคำ พระอาจารย์สมภพแปลได้อย่างน่าคิด เช่นคำว่า “นิโรธ” เคยแปลกันว่า ความดับทุกข์ ท่านแปลว่า “นิ” -ไม่มี “โรธ”-เขตกั้น คือ “ไม่มีเขตกั้นทุกข์ที่ไหลออก” ท่านมีความเห็นว่า นิโรธคือ ความไม่มีทุกข์ เพราะไม่มีเขตกั้นทุกข์เอาไว้
นานๆ จะมีคำที่ท่านอ่านผิดและเข้าใจผิด (คงเป็นเพราะไม่ได้เรียนบาลีมาโดยตรง) เช่นคำว่า
“อารัมมณูปนิชฌาน” และ
“ลักขณูปนิชฌาน”
ท่านออกเสียงว่า “อารัมมณูปะนิชะฌาน” และว่า “ลักขณูปะนิชะฌาน” (ออกเสียงว่า “ชะ ฌาน)
แต่ความจริง 2 คำนี้คือ
“อารัมมณ+อุปนิชฺ+ฌาน” (การเพ่งอารมณ์ - สมถะ) และ
“ลักขณ+อุปนิชฺ+ฌาน” (การเพ่งส่วนต่างๆ ของร่างกายให้เห็นตามความเป็นจริง-วิปัสสนา)
“ชฺ” ที่อยู่หน้าคำว่า ฌาน เป็นตัวสะกด ไม่ใช่ ช ที่แปลว่า “เกิด”
อีกคำหนึ่ง ท่านแยกคำว่า “เอกาหํ” เป็น “เอก+อหํ” (แปลว่า “วันเดียว)
แต่ความจริง “เอกาหํ” คือ เอก+อห”
เช่น พุทธวจนะว่า “เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย” (การมีชีวิตอยู่เพียงวัดเดีย” ประเสริฐกว่า)
อห แปลว่า “วัน” ส่วน อหํ แปลว่า “เรา” หรือ “ฉัน” (ข้าพเจ้า)
อย่างไรก็ตาม ก็น่าแปลกในว่า พระอาจารย์สมภพ รู้บาลี ในพระไตรปิฎกได้อย่างไร เมื่อท่านอ้างพระไตรปิฎกก็ดูเหมือนอ้างฉบับบาลีทั้งสิ้น และไม่ว่าจะเป็นการอ้างข้อ-อ้างหน้าในพระไตรปิฎก
แสดงว่า ท่านอ่านพระไตรปิฎกฉบับบาลีโดยตรง?
อ่านได้อย่างไร?
พระอาจารย์สมภพ เล่าเรื่องในคัมภีร์ธรรมบท (ซึ่งเป็นคัมภีร์ชั้นอรรถกถา) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมนุษย์ เทวด และสัตวต่างๆ ก็เล่าอย่างมีชีวิตชีวาทุกเรื่อง ท่านกล่าวถึงวิญญาณและภพต่างๆ อย่างสมจริงสมจังทำให้ผู้ฟังเหมือนสมจริงสมจังไปทุกเรื่อง
พระอาจารย์สมภพใช้เงินส่วนตัวที่สะสมจากเงินเดือนของท่าน ซื้อที่สร้างวัด เริ่มวัดแรก คือ “วัดนิพเพธพลาราม” (หลังจากไปเห็นวัดสวนโมกขพลาราม ของท่านพุทธทาสภิกขุ ที่ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี และวัดหนองป่าพง ของหลวงปู่ชา ที่วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี มาแล้ว) ต่อมาได้สร้างวัด “ไตรสิกขาทลามลตาราม” บนเนื้อที่ 300-400ไร่
ท่านให้ความหมายของชื่อ “วัดไตรสิกขาทลามลตาม” ว่า วัดที่อุดมด้วยป่าธารน้ำและสัตว์ป่า
ทุกวันนี้ วัดไตรสิกขาฯ บนที่ดินซึ่งแห้งแล้ง มีแต่หินลูกรัง กลายเป็นป่าอันอุดม ด้วยการปลูกและสร้างสรรค์เป็นแหล่งปฏิบัติธรรมที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของภาคอีสาน
เล่ากันว่า พระอาจารย์สมภพ (เมื่อเป็นเด็ก) ระลึกชาติได้บ้านเดิมของครอบครัวพ่อแม่อยู่ที่ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี เขาพาไปยังบ้านเกิด(ในชาติก่อน) ท่านจำได้หลายคนที่ยังมีชิวิตอยู่ใช้คำว่า “มึง-กู” กับคนหลายคน ด้วยความคุ้นเคย
พระอาจารย์สมภพเล่าถึงวัดหนองป่าพงว่า เมื่อไปกราบพ่อที่บวชเป็นหลวงตา ถวายเงินและจีวร หลวงตาก็ไม่รับ บอกว่ารับไม่ได้ ต้องให้ไปถวายเข้ากองกลางที่ภัณฑาคาริก เห็นพระฝรั่งฉันอาหารในบาตร ซึ่งผสมกันทั้งข้าวเหนียว แกงกับและของหวาน ก็ถามเป็นภาษาอังกฤษว่า ฉันอย่างนี้อร่อยหรือ?
พระฝรั่งแห่งวัดหนองป่าพงตอบเป็นภาษาไทยว่า ไม่ได้ฉันเอาอร่อย แต่ฉันเพื่อมีชิวิตอยู่ เพื่อปฏิบัติธรรม
“ท้องไม่เสียหรือ?” พระอาจารย์สมภพถามพระฝรั่ง
ได้รับคำตอบว่า
“โยมล่ะ ท้องไม่เสียหรือ? เพราะอาหารก็ไปรวมกันอยู่ในท้องเหมือนกัน!?”
ดูและฟังเรื่องราวของพระอาจารย์สมภพทางยูทูบแล้วก็เลื่อมใส จะตามดูและตามฟังไปอีก จนกว่า จะได้รัฐบาลใหม่ เพื่อฝ่ายบ้านเมืองจะได้รับมาดูแลด้านพระศาสนากันเสียที
กำลังเป็นห่วงว่า มีบางศาสนาอาศัย “ประชาธิปไตย” และ “กฎหมาย” ขยายพื้นที่เป็นการใหญ่ เกรงว่า ฝ่ายบ้านเมืองจะเผชิญกับปัญหาด้านศาสนาเป็นรายการต่อไป