ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง: Young Artists Talent # 10 ศิลปินรุ่นใหม่เติมพลังศิลปะที่คางาวะ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เกาะทั้งเกาะเต็มไปด้วยงานศิลปะ อีกหนึ่งของประสบการณ์การเดินทางต่างแดน ได้เห็นในมุมที่ไม่เคยเห็น ทั่วเกาะเต็มไปด้วยงานศิลปะจัดแสดงในหอศิลป์ กลางแจ้ง ตามชายหาด ป่าเขา อีกวิถีวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของชาวเกาะที่แสนเรียบง่าย อ้าแขนและรอยยิ้มต้อนรับคนแปลกหน้า ที่นั่นคือเกาะนาโอชิมะ เทชิมะ โชโดะชิมะ และอีกหลายเกาะ ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดคางาวะ ประเทศญี่ปุ่น คางาวะ (Kagawa) จังหวัดที่เล็กที่สุดในญี่ปุ่น ตั้งอยู่ในส่วนตะวันออกเฉียงหนือของภูมิภาคชิโกกุ ภูมิภาคที่เล็กที่สุดในญี่ปุ่นเช่นกัน ทว่าที่นี่แล้วกับเต็มไปด้วยงานศิลปะ หากใครชอบแนวนี้คางาวะให้คุณได้เพลินชมกันอิ่มตาทีเดียว ทั้งที่ตั้งจัดแสดงในเมืองและตามเกาะต่างๆ อย่างที่น้องๆ กลุ่มเยาวชนด้านศิลปะ 12 คน ค่ายโครงการพัฒนาศักยภาพศิลปินรุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2562 (Young Artists Talent # 10) ของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ได้ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์และความรู้ดูงานสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยของศิลปินระดับแม่เหล็ก พิพิธภัณฑ์ศิลปะ หอศิลป์ต่างๆ และศึกษากระบวนการจัดแสดงงานมหกรรมศิลปะ Setouchi Triennale 2019 ตลอดระยะเวลาร่วม 2 สัปดาห์ (27 พ.ค. – 9 มิ.ย. 62) ชนิดอิ่มทางศิลปะกันทีเดียว ฟักทองลายจุด Pumpkin, 1994 Yayoi Kusama เกาะ Naoshima แค่ก้าวท้าวขึ้นฝั่งเกาะนาโอชิมะ (Naoshima) สายตาชวนให้สะดุดตาผลงานฟักทองแดงลายจุด (Pumpkin, 1994) ของคุณป้า Yayoi Kusama ศิลปินหญิงญี่ปุ่นแนวป๊อป-อาร์ตระดับโลก ถูกยกให้เป็นแลนด์มาร์กของเกาะนี้ ทั้งยังตื่นตาผลงานของศิลปินท่านอื่นๆ ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะชิชู (Chichu Art Museum) อีกสถาปัตยกรรมอาคารพิพิธภัณฑ์ได้รับการออกแบบพื้นที่ให้ซ่อนอยู่ใต้ดินโดยไม่รบกวนภูมิทัศน์เกาะ หรือผลงาน “ความทรงจำในขวดแก้ว” (MEMORY BOTTLE) ศิลปิน Mayumi Kuri งานศิลปะเรียบง่ายแต่ชวนให้ทรงจำ ที่จัดแสดงเกาะ Ogijima และงานศิลปะตามเกาะอื่นๆ Megijima, Teshima, Shodoshima ฯ โดยมี 2 อาร์ตติส ศิลปินแห่งชาติของไทย ดร.กมล ทัศนาญชลี และนายปัญญา วิจินธนสาร ถ่ายทอดมุมมองให้กับยังอาร์ตติสทั้ง 12 คน ได้พัฒนาทักษะ ความรู้ เทคนิควิธีการต่อยอดสร้างงานศิลปะร่วมสมัยใหม่ๆ อีกด้วย ศิลป์สัมพันธ์ ดร.วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผอ.สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ดร.กมล ทัศนาญชลี และนายปัญญา วิจินธนสาร 2 ศิลปินแห่งชาติ เข้าพบ Keizo Hamada ผู้ว่าราชการจังหวัดคางาวะ โครงการพัฒนาศักยภาพศิลปินรุ่นใหม่นี้ก้าวมาหนึ่งทศวรรษ ดร.วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กล่าวว่า เป็นการบ่มเพาะเมล็ดพันธ์ศิลปินรุ่นใหม่งานด้านศิลปะ เป็นการสร้างโอกาสพัฒนาต่อยอดงานศิลปะร่วมสมัยก้าวไปสู่ความเป็นมืออาชีพ ทั้งด้านจัดแสดงผลงานนิทรรศการในประเทศและต่างประเทศ ทั้งไปด้านภัณฑารักษ์ศิลปะ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้านศิลปะ โครงการได้รับความสนใจจากนิสิต นักศึกษาด้านศิลปะจากทั่วประเทศและประเทศกลุ่มอาเซียน ในปีนี้มีผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมคัดเลือกกว่า 163 คน จาก 36 มหาวิทยาลัย ทางคณะกรรมการฯได้คัดเลือกผลงานโดดเด่น จำนวน 74 คน มาเข้าร่วมกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการและแต่ละคนได้สร้างสรรค์ชิ้นงานขึ้นใหม่ เพื่อประกวดผลงานภายใต้หัวข้อ “อาเซียนสัมพันธ์” ช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมอันดามัน จังหวัดกระบี่ จากนั้นคณะกรรมการคัดเลือกผลงานโดดเด่นที่สุดเพื่อเดินทางไปศึกษาดูงานศิลปะประเทศญี่ปุ่น จำนวน 12 คน โดยหนึ่งในนี้มีฟิลิปปินส์ “หลังจากกลับศึกษาดูงานแล้ว นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้พบเห็นมาเป็นแรงบันดาลใจสร้างสรรค์ผลงานศิลปะขึ้นใหม่ 12 ชิ้น มาจัดแสดงพร้อมกับผลงานของเพื่อนๆ ในรุ่นเดียวกันทั้งหมด ระหว่างวันที่ 1 – 20 กรกฎาคม 2562 ที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน” ด้าน ดร.กมล ทัศนาญชลี กล่าวว่า “เด็กๆ ทั้ง 12 คน ให้ความสนใจเรียนรู้งานศิลปะหลากหลายของศิลปิน จะเป็นประสบการณ์การทำงานด้านศิลปะของน้องๆ บางคนอยากเป็นศิลปิน ครูศิลปะ ซึ่งการจะเป็นศิลปินนั้นจะต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ศิลป์โลก เพราะว่าถ้าเราทำไปแล้วไม่รู้เรื่อง ไปชนงานกับเขา จะไม่มีประโยชน์ เสียเวลา ดังนั้นการจะเป็นศิลปินนั้นมันไม่ง่าย ต้องรู้ปรัชญาการดำเนินชีวิตด้วย อีกอย่างการได้มาเห็นและวิธีคิดของญี่ปุ่น จุดไหนที่เขาทำประสบความสำเร็จ จะเห็นว่าพิพิธภัณฑ์ศิลปะ หอศิลป์ กระจายอยู่ทั่วทั้งในเมืองและเกาะ ป่าเขามีอยู่ทั่วไปหมด ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเข้าคิวซื้อตั่วแถวยาวเยียดเพื่อเข้าไปชมงานศิลปะ ฯ สิ่งที่น้องๆ เห็นจะเป็นการสร้างโอกาสงานด้านศิลปะของเขาได้เป็นอย่างดี” อ.ปัญญา วิจินธนสาร และ Young Artists ชมผลงานกลางแจ้งชายหาดเกาะ Megijima นาขั้นบันไดกับงานศิลปะ Love in Shodoshima ความทรงจำในขวดแก้ว MEMORY BOTTLE, Mayumi Kuri เกาะ Ogijima ส่วนยังอาร์ตติส นางสาวชนิสรา วรโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวประสบการณ์ครั้งนี้ว่า “เป็นครั้งแรกที่เดินออกจากประเทศไทย ได้เห็นงานศิลปะและวิธีคิดของญี่ปุ่น แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น ถุงห่อขนม เขายังใส่ใจในรายละเอียด คิดขึ้นมาทำให้น่าสนใจ ซึ่งสิบกว่าวันที่ได้จากที่นี่ ทำให้รู้ว่าการจะสร้างงานชิ้นหนึ่งต้องมีกระบวนการคิด แม้จะเป็นดีเทลเล็กๆ ก็ตาม” ทางด้าน MS.CAMILLE MANALO CABATINGAN มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ กลุ่มอาเซียน บอกประสบการณ์สิบกว่าวัน“ได้เห็นและเรียนรู้นำไปพัฒนางานด้านศิลปะ เพื่อที่ให้คนฟิลิปปินส์เข้าใจงานศิลปะมากขึ้น” Young Artists Talent # 10ศิลปินรุ่นใหม่ เติมพลังศิลปะที่คางาวะ