คุยเฟื่องเรื่องต่างประเทศ / ดร.วิวัฒน์ เศรษฐช่วย ประเทศสหรัฐอเมริกานับว่ามีความแปลกและแตกต่างจากนานาประเทศในด้านการจัดตั้งฟอร์มรัฐบาล โดยทุกๆสี่ปีของเดือนธันวาคมและเดือนมกราคมคนอเมริกันจะให้ความสนใจต่อการฟอร์มรัฐบาล และตำแหน่งที่ได้รับความสนใจมากที่สุดก็คือ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ทั้งนี้เริ่มต้นตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน ที่ตำแหน่งรัฐมนตรีทั้งสี่นี้ถือเป็นตำแหน่งหลักและได้กลายเป็นตำแหน่งที่สำคัญที่สุดทางด้านการรับผิดชอบประเทศ!!! และหากมีเหตุการณ์ที่เกินความคาดหมายใดๆเกิดขึ้นกับประธานาธิบดีแล้วละก็ ลำดับของผู้ที่จะเข้าไปสืบทอดตำแหน่งต่ออันดับหนึ่งก็คือ รองประธานาธิบดี อันดับสองได้แก่ ประธานสภาผู้แทนราษฎร อันดับสามก็คือ ประธานชั่วคราววุฒิสภา (Pro Tempore of the Senate) และในอันดับสี่ได้แก่ รัฐมนตรีฯต่างประเทศ ถัดไปคือ รัฐมนตรีฯคลัง รัฐมนตรีฯกลาโหม และ รัฐมนตรีฯยุติธรรม ตามลำดับ อนึ่งตามหลักปฏิบัติแล้ว ประธานาธิบดี รองประธานาธิบดีและรัฐมนตรีของกระทรวงต่างๆทั้ง15 กระทรวงของสหรัฐอเมริกามักจะไม่รวมตัวอยู่ ณ สถานที่แห่งเดียวกัน ทั้งนี้ก็เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของบรรดาท่านผู้นำ!!! สำหรับตำแหน่งสองรัฐมนตรีหลักอันได้แก่ รัฐมนตรีฯต่างประเทศและรัฐมนตรีฯคลังนั้น ประธานาธิบดีในทุกๆสมัยจะทำการแต่งตั้งเป็นอันดับแรกๆ จะเห็นได้ว่าในสมัยของ “ประธานาธิบดีบารัก โอบามา” ก็ได้ทำการแต่งตั้ง “ฮิลลารี คลินตัน” เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีฯต่างประเทศหนึ่งวันหลังจากที่เขาเข้ารับพิธีสาบานตัว ทั้งๆที่ครั้งนั้นฮิลลารี คลินตัน ยังสองจิตสองใจในการเข้ารับตำแหน่ง เพราะเธอต้องการจะเป็นวุฒิสมาชิกจากรัฐนิวยอร์กเนื่องจากเธออาจจะเล็งเห็นว่า “ตำแหน่งนี้เธอแสดงบทบาทได้ดีกว่า” ทั้งนี้ตำแหน่งรัฐมนตรีในทุกๆกระทรวงจะต้องผ่านการกลั่นกรองและเห็นชอบจากวุฒิสภา โดยครั้งนั้น ฮิลลารี คลินตัน ได้รับการรับรองจากวุฒิสมาชิกค่อนข้างสูงคือ 94 ต่อ 2 เสียง ส่วนการรับรอง ทิมโมธี ไกท์เนอร์ ในตำแหน่งรัฐมนตรีฯคลังสมัยของประธานาธิบดีบารัก โอบามาครั้งนั้น ดูเหมือนว่า แสนจะขลุกขลักเต็มทน เนื่องมาจากเขาติดค้างการจ่ายภาษีเวลานานหลายปีเป็นเงินถึง 35,000 เหรียญ และถึงแม้ว่าเขาจะออกมากล่าวสารภาพถึงความเลินเล่อแล้วก็ตาม แต่กว่าเขาจะผ่านการรับรองจากวุฒิสมาชิกก็ค่อนข้างกระท่อนกระแท่นหืดขึ้นคอด้วยเสียง 60 ต่อ 34 เสียง แถมเขายังต้องเสียค่าปรับ 15,000 เหรียญอีกด้วย อย่างไรก็ตามในครั้งนั้นประธานาธิบดีบารัก โอบามา ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวต้องการที่จะผลักดันให้ทิมโมธี ไกท์เนอร์ได้ผ่านการรับรอง เพราะโอบามาเล็งเห็นว่าไกท์เนอร์มีประสบการณ์อย่างกว้างขวางในธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา และถือได้ว่าประธานาธิบดีโอบามาเลือกคนไม่ผิด เพราะไกท์เนอร์ก็สามารถช่วยบริหารประเทศที่ขณะนั้นกำลังอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ล่อแหลมสุดๆให้ผ่านพ้นไปได้อย่างงดงามจากวิกฤติ จนทำให้ฐานะเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯแข็งแกร่งตราบเท่าทุกวันนี้ โดยประธานาธิบดีทรัมป์หยิบยกเอามาอวดอ้างว่าเป็นผลงานของตนเอง!!! นอกเหนือจากนั้นประธานาธิบดีโอบามายังใจกว้างเชื้อเชิญนักการเมืองของพรรครีพับลิกันให้เข้าร่วมรัฐบาลด้วย โดยเชิญให้โรเบิร์ต เกตส์ ซึ่งเคยดำรงรัฐมนตรีฯกลาโหมในสมัยของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู.บุช เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีฯกลาโหม โดยครั้งนั้นโอบามาได้สัญญาระหว่างหาเสียงว่า “หากข้าพเจ้าได้รับเลือกแล้ว ข้าพเจ้าจะแต่งตั้งนักการเมืองต่างพรรคให้เข้ามาร่วมในรัฐบาลด้วย” เพราะเขายึดเอาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก และหลังจากที่รัฐมนตรีฯกลาโหมโรเบิร์ต เกตส์ เกษียณอายุราชการแล้ว เขาได้ไปรับตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัย Texas A&M โดย ลีออน พาเตตา นักการเมืองผู้คร่ำหวอดอยู่ในสภาผู้แทนฯเป็นเวลายาวนานเข้าไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีฯกลาโหมต่อ ซึ่งครั้งนั้นพาเตตาได้รับการรับรองจากวุฒิสภา 100 ต่อศูนย์ สำหรับคณะรัฐมนตรีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นั้น กว่าจะได้รับการรองจากวุฒิสภาก็แสนจะลำบากยากเย็น โดยเฉพาะรัฐมนตรีฯคลังสตีเวน มนูชิน อดีตนักการธนาคารและนักลงทุน ซึ่งผ่านการรับรองจากวุฒิสภาไปอย่างหวุดหวิดคือ ได้รับเพียง 53 ต่อ 47 เสียง โดยวุฒิสมาชิกของพรรครีพับลิกันทั้งหมดเทคะแนนสนับสนุนให้ และยังมีวุฒิสมาชิกของค่ายพรรคเดโมแครตอีกหนึ่งคนที่แตกแถวไปออกเสียงสนับสนุน!!! ส่วนรัฐมนตรีต่างประเทศคนแรกของประธานาธิบดีทรัมป์ “เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน” อดีตซีอีโอผู้บริหารใหญ่ของบริษัทเอ็กซอน ซึ่งเป็นบริษัทในภาคพลังงานขนาดใหญ่ที่สุดของโลก และกว่าที่ทิลเลอร์สันจะผ่านการรับรองของวุฒิสภาได้นั้น ก็ได้กลายเป็นศึกที่ดุเดือด เพราะเขามีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดสนิทสนมกับรัสเซียอีกทั้งเขาไม่ค่อยลงรอยกับประธานาธิบดีทรัมป์ตั้งแต่แรกเริ่ม โดยทิลเลอร์สันมองว่าประธานาธิบดีทรัมป์ไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ท้ายที่สุดเขาถูกปลดออกจากตำแหน่งภายหลังที่อยู่ในตำแหน่งได้เพียงหนึ่งปีกับหนึ่งเดือน โดยผู้ที่เข้ารับช่วงต่อก็คือ “ไมค์ ปอมเปโอ” อดีตผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรอง และถึงแม้ว่าประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาจะได้รับสิทธิ์เป็นผู้แต่งตั้งตำแหน่งรัฐมนตรีต่างๆก็ตาม แต่มีหลายครั้งด้วยกันที่วุติสภาไม่เห็นชอบและไม่ผ่านการรับรองด้วยเหตุผลต่างๆอาทิ ไม่จ่ายภาษี จ้างคนต่างด้าวมาทำงานเป็นแม่บ้าน มีพฤติกรรมด้านเพศสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสม หรือเหตุผลทางการเมืองเป็นต้น โดยวุฒิสภาจะให้โอกาสผู้ที่ไม่ผ่านการรับรองยื่นทำการถอดถอนตนเอง!!! อย่างไรก็ตามกระบวนการกลั่นกรองด้านความเหมาะสมของรัฐมนตรีแต่ละคนนั้น นับว่าเป็นเรื่องที่แสนจะละเอียดอ่อน ซึ่งจะต้องมีทั้งความโปร่งใสและเป็นไปอย่างเปิดเผย ส่วนการประชุมคณะรัฐมนตรีจะมีกี่ครั้งก็ตามจะต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของประธานาธิบดีแต่ละคน อาทิในสมัยของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ.เคนเนดี้และประธานาธิบดีลินดอน จอห์นสัน ซึ่งทั้งสองประธานาธิบดีนี้จะเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเดือนละครั้ง ส่วนคณะรัฐมนตรีของอังกฤษและเยอรมันมักจะจัดให้มีการประชุมกันในทุกๆสัปดาห์ กล่าวโดยสรุปทั้งนี้และทั้งนั้นการแต่งตั้งและเลือกเฟ้นคณะรัฐมนตรีในเมืองลุงแซม มิได้มีการตกลงต่อรองกันนอกรอบระหว่างพรรคการเมือง เพราะว่าประธานาธิบดีมีอำนาจสิทธิ์ขาดแต่เพียงผู้เดียว แต่ก็ต้องผ่านการรับรองเห็นชอบจากวุฒิสมาชิก ซึ่งถือเป็นแม่แบบของการเฟ้นหาบุคคลที่เหมาะสมที่สุด ในการเข้าไปช่วยเหลือให้คำปรึกษาแบ่งเบาภาระอันหนักหน่วงของประธานาธิบดี ซึ่งในเรื่องที่กล่าวมาข้างต้นขณะนี้ประเทศไทยเราก็กำลังยุ่งและวุ่นวาย โดยผู้บริหารของไทยน่าจะเก็บเอามาคิดและหยิบมาประยุกต์ใช้บ้างก็คงจะดีมิใช่น้อยทีเดียวละครับ