นายวินทร์ เลียววารินทร์ ศิลปินแห่งชาติ โพสต์ข้อความในเพจเฟสบุ๊กส่วนตัวระบุว่า...โชเชียล เน็ตเวิร์ก เปิดกล่องดำในหัวใจคนทั้งโลก มันเป็นกล่องดำที่เก็บด้านมืดของคนเมื่อเปิดออก วาจาแห่งความเกลียดชัง (hate speech) ก็พุ่งสูงทะลุฟ้ามันเปลือยตัวตนของเราออก ทำให้ใครคนหนึ่งสามารถด่าทอคนที่ไม่รู้จักได้ราวกับจองล้างจองผลาญมาห้าร้อยชาติ บางทีโดยพันธุกรรม เราทุกคนมีสัญชาตญาณปลดปล่อยความเลวร้ายเมื่อมีโอกาสโชเชียล เน็ตเวิร์ก ก็คือโอกาสนั้นไม่ใช่เฉพาะบ้านเราที่ตกในปรากฏการณ์นี้ ประเทศในยุโรปที่เจริญแล้วก็เช่นกัน ข้อแตกต่างคือชาวยุโรปพยายามที่จะรณรงค์ลด hate speech ลงอย่างเป็นรูปธรรม เป้าหมายเพื่อให้เฟซบุ๊คเป็นพื้นที่ดีขึ้น ทำอย่างไร? พวกเขารวมตัวกันเป็นเน็ตเวิร์กใหม่ ใช้ชื่อกลุ่ม #IAmHere วันๆ ทำงานลด hate speech ในโลกโชเชียล วิธีการคือลดความขัดแย้งในคอมเมนต์ของชาวโชเชียลในเรื่องต่างๆ เช่น การเมือง การเหยียดผิว การเหยียดเพศ ฯลฯ โดยเข้าไปให้ข้อมูลจริง ให้เหตุผลแย้ง เปิดมุมมองต่าง ให้มุมมองอื่นที่ผู้ด่ามองไม่เห็น เพื่อให้การโต้เถียงในโลกโชเชียลเกิดสมดุล แน่นอน-ทำอย่างสุภาพ พวกเขาไม่พยายามเปลี่ยนใจใคร พวกเขาแค่ปรับสมดุลในวงสนทนาที่คุร้อนเท่านั้น ชาว #IAmHere เป็นอาสาสมัคร ทำงานฟรี สละเวลาส่วนตัวทำเรื่องนี้เพื่อสังคม #IAmHere ถือกำเนิดที่ประเทศสวีเดน โดย Mina Dennert นักข่าวที่เกิดในอิหร่าน เธอพบว่าโลกโชเชียลนั้นรุนแรงมาก และเต็มไปด้วยอคติ การเหยียดหยาม จึงคิดโครงการนี้ขึ้นมา กลุ่ม #IAmHere ค่อยๆ ขยายตัวในสวีเดนจนมีสมาชิก 75,000 คน แล้วขยายต่อไปในประเทศอิตาลี ฝรั่งเศส อังกฤษ ฯลฯ วันนี้มี #IAmHere ถึง 14 กลุ่มทั่วโลก ใช้ภาษาต่างๆ เป้าหมายเหมือนกันคือลดความเกลียดชังในสังคมเป็นงานยาก เหนื่อย แต่คนเหล่านี้เห็นว่าเป็นเรื่องพึงกระทำ โชเชียล เน็ตเวิร์ก อาจเผยสัญชาตญาณดิบของมนุษย์ออกมา แต่เราทุกคนที่ยังเชื่อว่าเราสร้างสังคมที่ดีกว่านี้ได้ สามารถช่วยโดยไม่เติมเชื้อเข้าไปในกองไฟแห่งความเกลียดชัง ใช้น้ำเย็นเข้าลูบ รองรับด้วยเหตุผลและความสุภาพ พวกเขาพยายามแสดงให้โลกเห็นว่า ยิ่งมีความรู้ ยิ่งมีปัญญา ก็ต้องยิ่งสุภาพอาจจะยากที่เปลี่ยนคน แต่หากเราไม่ทำ เราจะปล่อยให้ลูกหลานเราอยู่ในโลกเลวร้ายแบบนี้หรือ? อาจจะยากที่เปลี่ยนคน แต่หากเราไม่ทำ ใครจะทำ?