แกะรอย ม.44 ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ออกคำสั่งให้เหมืองแร่ทองคำ อัครา รีซอร์สเซส ซึ่งตั้งอยู่ที่ ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร ที่ดำเนินกิจการขุดหาแร่ทองคำ ว่า มีมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อม จึงสั่งการให้หยุดกิจการตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2559 ทำให้คนงานนับพันคนต้องถูกลอยแพ ธุรกิจของเหมืองทองอัคราฯ ที่ลงทุนไปเกือบ 5 พันล้านบาท ต้องพังราบลง จนล่าสุดเป็นกระแสโด่งดัง ว่า บริษัท คิงส์เกต ประเทศออสเตรเลียได้ทำการฟ้องไปยังอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ เรียกค่าเสียหาย 3 หมื่นล้านบาท นั่นคือ สายล่อฟ้าที่อาจส่งผลกระทบต่อเงินภาษีของประชาชนชาวไทย หากรัฐบาลต้องพ่ายแพ้คดี แต่วันนี้เราจะแกะรอยลงไปในพื้นที่ดูว่าจากคำสั่ง ม.44 ที่ผ่านมาแล้ว 2 ปีเศษ ได้เกิดอะไรขึ้นบ้างในพื้นที่ นายอรุณ จันทร์ศร อายุ 59 ปี เป็นครูอยู่ที่โรงเรียนบ้านดงหลง หมู่ 8 ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งโรงเรียนดังกล่าวตั้งอยู่ในชุมชนที่อยู่ห่างจากเหมืองทองอัคราฯ ประมาณ 2 กิโลเมตร เล่าให้ฟังว่า ตนเองเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนนี้เป็นเวลายาวนานกว่า 10 ปี ในช่วงที่มีเหมืองแร่ทองคำอัคราฯ ดำเนินกิจการอยู่ ถือเป็นช่วงที่ชุมชนและโรงเรียนรุ่งเรืองมากที่สุด เนื่องจากเหมืองทองมีงบประมาณในการทำกิจกรรมเพื่อดูแลสังคมและชุมชน หรือที่เรียกว่า โครงการ CSR โรงเรียนอยากได้อะไรก็ทำเรื่องขอไปทางเหมืองทอง แม้แต่อาคารเรียนขนาดใหญ่มูลค่ากว่า 5 ล้านบาท เหมืองทองอัคราก็เป็นผู้สร้างอาคารพร้อมบริจาคอุปกรณ์การศึกษาให้ ในปีการศึกษา 2559 ก่อนที่เหมืองทองอัคราฯจะโดน ม.44 สั่งให้ปิดดำเนินกิจการ ที่โรงเรียนบ้านดงหลง มีเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษา ป.1 – ป.6 ประมาณเกือบ 90 คน แต่หลังจากที่เหมืองทองอัคราฯ ต้องปิดตัวลง บรรดาผู้ปกครองที่เป็นชาวบ้านและคนงานในเหมืองทองอัคราฯ ก็ต้องตกงาน ระเห็ดระเห เร่ร่อน ไปหางานทำ ละทิ้งถิ่นฐาน พร้อมทั้งอพยพครอบครัวพาลูกหลานไปอยู่ด้วย จึงทำให้เด็กนักเรียนค่อยๆทยอยลดลง จนเหลือเด็กไม่ถึง 40 คน อีกทั้งมีครูเหลืออยู่แค่ 3 คน ซึ่งจะปลดเกษียณพร้อมๆ กัน ในวันที่ 30 กันยายน 2562 นี้ด้วยเช่นกัน จึงทำให้เขตพื้นที่การศึกษามองว่าไม่คุ้มค่าแก่การลงทุน และไม่ส่งครูมาเพิ่มให้อีก ดังนั้นพอถึงวันนี้โรงเรียนบ้านดงหลงจึงต้องถูกยุบ แล้วให้ทั้งครูและเด็กนักเรียนที่เหลืออยู่ไปเรียนควบรวมที่โรงเรียนบ้านวังชะนาง หมู่ 5 บ้านวังชะนางใต้ ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งอยู่ห่างจากโรงเรียนบ้านดงหลงไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร ครูอรุณ... ที่ถือได้ว่าเป็นครูผู้อาวุโสคนสุดท้ายของโรงเรียนบ้านดงหลง พาดูความรุ่งเรืองในอดีต ที่ถึงวันนี้กลับกลายเป็นว่าร่วงโรย ซึ่งก็อาจมาจากการปิดตัวของเหมืองทองอัคราฯดังกล่าว เช่นเดียวกับ นายวิสูตร แคฝอย อายุ 50 ปี และ นางยุพา แคฝอย อายุ 48 ปี สองสามีภรรยา เจ้าของร้านอาหารตามสั่งและขายก๋วยเตี๋ยวเรือ อยู่บ้านเลขที่ 153/1 หมู่ 8 ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ เล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า ในอดีตในช่วงที่เหมืองทองอัคราฯ เปิดดำเนินกิจการมีการจ้างคนงานนับพันคน เศรษฐกิจดีมาก ตนเองขายอาหารตามสั่งและก๋วยเตี๋ยวในยุคนั้นขายได้วันละ 4 - 5 พันบาท แต่พอถึงวันนี้เหมืองทองอัคราฯ ต้องปิดตัวลง บรรดาชาวบ้านและวัยรุ่น หนุ่มสาว ที่เคยเป็นคนงานของเหมืองทองอัคราฯ พอตกงานก็ต้องดิ้นรนออกไปหางานทำในเมืองหลวงและต่างจังหวัด ทำให้ทุกวันนี้ในหมู่บ้านเงียบเหงา มีประชากรอาศัยอยู่เพียงแค่ 15-20% เท่านั้น นับได้ว่าเป็นความล่มสลายทางสังคมและวิถีชีวิตของชาวบ้าน ที่ตนเองก็ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นได้ เพียงเพราะคำสั่ง ม.44 ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ในส่วนของ นางมาลี ควรคำนวณ และ นายมนัส วงษ์ประยูร เล่าให้ฟังว่าตนเองเป็นชาวบ้าน ตำบลตะกุดไร อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่มีอาชีพใช้รถเร่ขายส่งน้ำแข็งไปตามร้านค้าต่างๆในหมู่บ้าน ที่อยู่รอบเหมืองทอง ในยุคที่เหมืองทองอัคราฯดำเนินกิจการ มีคนงานคึกคักเต็มไปหมด ร้านค้าร้านขายสินค้าต่างๆ รวมถึงรถเร่ขายส่งน้ำแข็งของตนเองก็พลอยขายดิบขายดีไปด้วย แต่พอถึงวันนี้ยอมรับเลยว่าร้านค้าที่อยู่รอบเหมืองทองอัคราฯ เงียบเหงาซบเซาจริงๆ ทุกคนต่างตั้งความหวังว่าคงจะมีสักวันที่เหมืองทองอัคราฯ จะกลับมาเปิดดำเนินกิจการอีกครั้ง และหวังว่าคนในชุมชนที่อพยพไปหางานทำในต่างถิ่นจะกลับคืนมาอีกครั้ง… ซึ่งทั้งหมดนี้คือเสียงครวญและคำบอกเล่าของชาวบ้านตัวจริงที่อยู่รอบพื้นที่เหมืองแร่ทองคำอัคราฯ จังหวัดพิจิตร ดังกล่าว