(12 มิ.ย.62) ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่2) ประจำปี พ.ศ. 2562 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร ศาลาว่าการกทม.1 (เสาชิงช้า) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 โดยกรุงแทพมหานครได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 83,398.92 ล้านบาท เป็นงบประมาณรายจ่ายของกรุงเทพมหานคร จำนวน 83,000 ล้านบาท เป็นรายจ่ายประจำ และ งบประมาณรายจ่ายของการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร จำนวน 398.92 ล้านบาท โดยกรุงเทพมหานครมีนโยบายจัดทำงบประมาณแบบสมดุล โดยพิจารณาจากประมาณการรายรับ จำนวน 83,674.11 ล้านบาท ประกอบด้วย ประมาณการายรับของกรุงเทพมหานคร จำนวน 83,000 ล้านบาท และประมาณการรายรับของการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร จำนวน 674.11 ล้านบาท และกรุงเทพมหานครยังได้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลเป็นเงินอุดหนุนอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐบาล ซี่งโดยสรุปงบประมาณรายจ่าย จำแนกตามด้านของงบประมาณ 7 ด้าน มีดังนี้ 1.ด้านการบริหารทั่วไป จำนวน 25,474.58 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 30.69 2.ด้านการโยธาและระบบจราจร จำนวน 16,362.41 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 19.71 3.ด้านการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย จำนวน 13,586.99 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 16.38 4.ด้านการระบายน้ำและบำบัดน้ำเสีย จำนวน 9,863.02 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.88 5.ด้านการสาธารณสุข จำนวน 6,733.26 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8.11 6.ด้านการพัฒนาและบริการสังคม จำนวน 6,345.50 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.65 และ 7.ด้านการศึกษา จำนวน 4,634.24 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.58 ทั้งนี้ ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ได้พิจารณาถึงเหตุผล ความจำเป็นในการใช้จ่ายงบประมาณตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่จะต้องเกิดความคุ้มค่า ประหยัด คำนึงถึงผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ และความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาต่างๆ ได้แก่ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 วิสัยทัศน์ประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2556-2575) ที่ได้กำหนดวิสัยทัศน์กรุงเทพฯไปสู่ “มหานครแห่งเอเชีย” ในปี พ.ศ.2575 และแผนปฏิบัติราชการกรุงเทพมหานครประจำปี พ.ศ.2563 ที่กำหนดไว้ 7 ด้าน 28 มิติ เพื่อพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองในฝันของประชาชน