“กฤษฏา" โชว์พลัง การตลาดนำการผลิต ดัน “ไข่ยุคบิ๊กตู่” ขยับฟองละ 3 บาท ฟุ้งผลสำเร็จทุกโครงการไม่ใช้งบสิ้นเปลืองพยุงราคาเหมือนอดีต เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.62 นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า อาชีพเกษตกรยังถูกปล่อยให้ทำเกษตรตามยถากรรม อยู่กับความโชคร้าย มากกว่าโชคดี บางปีเจอทั้งน้ำท่วมภัยแล้ง ซึ่งรัฐบาลนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มุ่งมั่นปฏิรูปภาคเกษตรเกิดความเข้มแข็ง ปรับโครงสร้างลงฐานรากที่ยังอ่อนแอมาก โดยไม่แก้เฉพาะหน้าปัญหาเรื่องราคาที่เป็นปลายทาง เพราะความเสี่ยงทำเกษตรมีตลอดเวลา ต้นทุนการผลิตสูง สินค้าล้นตลาด หาที่ขายไม่ได้ ตนได้นำแนวคิดปฏิรูปภาคเกษตร การตลาดนำการผลิต กระทรวงเกษตรฯ ลงพื้นที่จูงใจชาวนางดทำนาปรังรอบสอง เข้าโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ในพื้นที่ 33 จังหวัด พื้นที่ 2.8 ล้านไร่ มี 5 ทหารเสือ เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมสหกรณ์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อสนับสนุนและเป็นพี่เลี้ยงให้เกษตรกร ทำผลผลิตเกษตรที่มีคุณภาพปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกข้าวและปรับสมดุลการปลูกพืชให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆในช่วงฤดูแล้งที่ยังประหยัดใช้น้ำลงได้ “ดึงเอกชนเข้ารับซื้อทุกพื้นที่ ซึ่งขณะนี้เกษตรกรปลูกข้าวโพด เห็นผลสำเร็จมีกำไรไร่ละ3พันบาท สูงสุดในการทำพืชไร่ จึงเรียกว่า “กฤษฏาโมเดล” ได้สั่งให้นำโมเดลปลูกข้าวโพดหลังนา เร่งดำเนินการพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น ในช่วง 1 ปี 6 เดือน นี้เห็นผลสำเร็จหลายชนิดได้ราคาที่มีเสถียรภาพ และนำยางพาราทำถนนทุกชุมชนกว่า3แสนกม. ปฏิรูประบบบริหารนมโรงเรียน เกลี่ยโควตา5ภูมิภาค เพื่อให้ได้น้ำนมโคที่มีคุณภาพดี ส่งครบถึงมือเด็กนักเรียนทุกวัน แก้ปัญหาโควตาลม นมบูดเสีย นมตกเกรด แก้หนี้สินเกษตรกรกองทุนฟื้นฟู (กฟก.) กว่า 4.5 แสนราย ไม่เป็นภาระรัฐบาลหน้า โดยไม่ใช้งบมากกระทบการเงินการคลังของประเทศเหมือนอดีต"รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่อย่างยั่งยืน ไม่ต้องใช้เงินรัฐโดยราคาไข่ไก่หน้าฟาร์ม ปรับขึ้นมา3บาทต่อฟอง ทั้งนี้จากเมื่อปลายปีที่แล้ว สมาคมฯและเครือข่ายผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยเข้าร้องเรียนเร่งแก้ไข่ไก่ราคาตกต่ำเพราะผลผลิตไข่ล้นตลาด ราคาฟองละ 1.80–1.90 บาท โดยได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการรายใหญ่ 16 บริษัทที่นำเข้าพ่อแม่พันธุ์(PS)และปู่ย่าพันธุ์ (GP) ปรับลดแม่ไก่ยืนกรงและรวบรวมไข่ส่งออก อาทิ ปรับลดปริมาณไก่ไข่ยืนกรง รอบ 1 ช่วง ม.ค.–มิ.ย.61 ปลดไก่ยืนกรง 8 แสนตัว รอบ 2 ช่วง พ.ย.–ธ.ค.61 ปลดไก่ยืนกรง 1 ล้านตัว รอบ 3 ช่วง มี.ค.62 ปลดไก่ยืนกรง 3 ล้านตัว เพิ่มปริมาณการส่งออกไข่ไก่ รอบ 1 ช่วง เม.ย.–มิ.ย.61 รวม 46 ล้านฟอง รอบ 2 ช่วง ก.ค.–ต.ค.61 รวม 52 ล้านฟอง รอบ 3 ช่วง มี.ค.–พ.ค.62 รวม 130 ล้านฟอง สำหรับมาตราการเพื่อแก้ปัญหาไข่ล้นตลาดที่ยั่งยืน ปรับแผนการนำเข้าเลี้ยง GP และ PS ซึ่งเป็นต้นทางผลิตแม่ไก่ยืนกรงให้ลดลงเพื่อให้เหมาะสมกับผลผลิตไข่ที่ต้องการในท้องตลาด โดยปี 2562 มีเป้าหมายควบคุมให้เลี้ยง GP 3,800 ตัว PS 460,000 ตัว แม่ไก่ไข่ยืนกรง 50 ล้านตัว ได้ผลผลิตไข่ประมาณ 40 ล้านฟองต่อวัน และปรับลดปริมาณ PS รอบ 1 ช่วง มิ.ย.61 ปลด PS 95,173 ตัว รอบ 2 ช่วง พ.ย.62 ปลด PS 100,000 ตัว สถานการณ์ปัจจุบันมีปริมาณแม่ไก่ไข่ยืนกรง 48 ล้านตัว ผลผลิตไข่ 38-39 ล้านฟองต่อวัน