“สับปะรด” นับเป็นอีกสินค้าเกษตรสำคัญ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้วางเป้าหมายในการส่งเสริมให้มีการนำ “ระบบเกษตรพันธสัญญา” เข้ามาเป็นกลไกสำคัญกอบกู้แก้วิกฤติปัญหาให้กับชาวไร่สับปะรดของไทยแบบยั่งยืนในอนาคต โดยวางยุทธศาสตร์ระยะยาวให้มีการบังคับใช้ระบบเกษตรพันธสัญญาตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาปี 2560 เพื่อประกันราคารับซื้อขั้นต่ำกับปริมาณที่ซื้อขายกับเกษตรกร ซึ่งแนวทางดังกล่าวเกษตรกรเองก็ดูตอบรับเป็นอย่างดีที่จะให้โรงงานรับซื้อทำสัญญาตกลงซื้อ-ขายในระบบเกษตรพันธสัญญาเพื่อให้ตลาดและราคามีความมั่นคงมากขึ้นลดปัญหาการเอาเปรียบของพ่อค้าลง นายพีรพันธ์ คอทอง ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวไร่สับปะรดประสบปัญหาเรื่องผลผลิตล้นตลาดและราคาผันผวนมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเกษตรกรขาดการบริหารจัดการเรื่องต้นทุน ปริมาณผลผลิตและการตลาด ดังนั้น เมื่อมี พ.ร.บ.ระบบเกษตรกรพันธสัญญา ประกาศใช้ กระทรวงเกษตรฯจึงมองว่าน่าจะเป็นกลไกสำคัญที่จะเข้ามาแก้วิกฤติปัญหาให้กับชาวไร่สับปะรดของไทย เนื่องจากเกษตรกรจะสามารถบริหารการผลิต บริหารต้นทุน บริหารการตลาดได้และรู้ว่าจะขายผลผลิตได้ราคาเท่าไหร่ ซึ่งจะช่วยสร้างความชัดเจนให้กับเกษตรกรว่าจะต้องบริหารจัดการอย่างไรต่อไป หากเกษตรกรสามารถผลิตผลผลิตได้คุณภาพ ก็มีโอกาสที่จะขายผลผลิตได้ทั้ง 100% ในขณะที่อดีต เกษตรกรมักจะขายผลผลิตเฉพาะเกรดดีๆ ส่วนเกรดไม่ดี เกษตรกรก็ต้องแบกภาระนำไปขายเองและประสบปัญหาไม่มีตลาด แต่ในระบบเกษตรพันธสัญญาเกษตรกรจะต้องผลิตสินค้าคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนดจึงขายผลผลิตได้ทั้งหมด เกษตรกรจึงได้รับประโยชน์อย่างชัดเจน สิ่งสำคัญเมื่อเกษตรกรเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญาจะต้องขยันและมีวินัยที่จะดำเนินการตามกระบวนการผลิตที่ตกลงร่วมกันไว้ และทั้งสองฝ่ายต้องมีความรับผิดชอบต่อสัญญาและบริหารสัญญาด้วยตัวเอง หากมีเหตุขัดข้องประการใดจะต้องพูดจากันต่อเนื่องตลอดเวลาเพื่อหาทางออกร่วมกัน เกษตรกรต้องรู้และเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ของตัวเอง รู้และเข้าใจในหลักวิชาการที่จะผลิต ทั้งสองฝ่ายต้องรู้และเข้าใจร่วมกันว่าการลงทุนมีความเสี่ยง แต่เราสามารถทำให้ความเสี่ยงลดน้อยลงด้วยการศึกษาหาข้อมูล ใช้เทคโนโลยีและความขยันหมั่นเพียร ก็จะช่วยให้มีรายได้อย่างมีเสถียรภาพตามที่เขียนระบุไว้ในสัญญา อย่างไรก็ตาม การจะทำสัญญาอะไรหากเกษตรกรไม่เข้าใจในข้อความหรือไม่เข้าใจในสิ่งที่คู่สัญญาเขียน ก็แนะนำให้มาปรึกษาเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯได้ตลอดเวลา ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ พร้อมที่จะดูแลเกษตรกรตั้งแต่เริ่มต้นเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญา เพราะการบริหารสัญญาร่วมกัน 3 ฝ่ายระหว่างเกษตรกรผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่รัฐตั้งแต่เริ่มต้นก่อนที่จะเซ็นสัญญาเป็นสิ่งที่ดีและเกิดประโยชน์สูงสุดที่จะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับทุกฝ่ายลดปัญหาความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ บริษัท โดล ไทยแลนด์ จำกัด ต.หนองพลับ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โรงงานผู้ผลิตผลไม้กระป๋องรายใหญ่ เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ได้จดแจ้งเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญา ปัจจุบันมีโรงงานอยู่ 2แห่งมีความต้องการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรปีละ200,000ตัน ครอบคลุมพื้นที่ปลูกใน3จังหวัดคือ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรีและระยอง ด้าน นายวันเพ็ญ เรืองโรจน์ เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด ต.หินเหล็กไฟ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันตนเองปลูกสับปะรดบนพื้นที่ 100 ไร่และอยู่ในขั้นเตรียมการลงนามสัญญาตกลงซื้อ-ขายผลผลิตสับปะรดผลสดกับบริษัท โดลฯภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญา ก่อนหน้านี้ตัวแทนบริษัทฯ ได้เรียกประชุมเพื่อชี้แจงเงื่อนไขให้ทราบและเห็นว่าระบบดังกล่าวเป็นแนวทางที่ดีที่จะเข้ามาเป็นกลไกกลางในการช่วยเกษตรกรชาวไร่สับปะรดให้หลุดพ้นจากปัญหาวังวนเดิมๆคือผลผลิตล้นตลาดราคาขึ้นๆลงๆไม่แน่นอน ดังนั้นในการผลิตฤดูกาลใหม่นี้ ตนได้ตัดสินใจเข้าสู่ระบบพันธสัญญากับบริษัท โดลฯ ซึ่งทางบริษัทฯ ได้กำหนดราคา กำหนดเกรด ซึ่งเราจะต้องทำให้ได้ตามสัญญาถึงจะได้ราคา 7 บาทตามที่ตกลง แต่ก็มั่นใจว่าสามารถทำได้ เนื่องจากจะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาให้คำแนะนำ ทั้งในเรื่องเทคโนโลยีและสนับสนุนปัจจัยการผลิตต่างๆแล้วค่อยหักค่าใช้จ่ายเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตโดยไม่คิดดอกเบี้ย ในขณะที่สัญญาเก่าไม่มีการสนับสนุนเรื่องปัจจัยการผลิต เกษตรกรต้องจัดหาเอง ทำให้ควบคุมต้นทุนการผลิตได้ ขณะที่ นายฉัตรชาย ราชรองเมือง เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด ต.หนองพลับ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ตนเองปลูกสับปะรดบนพื้นที่80ไร่ ฤดูกาลเพาะปลูกใหม่นี้ถึงจะเซ็นสัญญาซื้อ-ขายภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญากับบริษัท โดลฯโดยสัญญาระบบเก่าได้หมดอายุเมื่อ 30 มีนาคม 62ที่ผ่านมา ซึ่งที่ผ่านมาราคาผลผลิตจะขึ้นๆลงๆ เงื่อนไขสเปคการซื้อ-ขายจะเปลี่ยนไปตามปริมาณผลผลิตมากและน้อยในแต่ละช่วงฤดูกาล เช่น กรณีผลผลิตมีความสุกตั้งแต่ 7-10 ลูก ราคาก็อยู่ประมาณ 6.10 บาท และอีกเกรดหนึ่งก็เริ่มหน้าป้ายเลย ราคา 5.40 บาทส่วนสัญญาเดิมบริษัท จะรับประกันราคาอยู่ประมาณกก.ละ 3 บาท หรือกรณีเราทำสัญญาไว้ 100 ตัน เราได้ผลผลิต 120 ตัน เหลือ 20 ตันเราก็ต้องไปขายนอกสัญญา คือ ราคาที่ไม่ได้ประกัน เมื่อก่อนทำประมาณ 200 ไร่ ตอนนี้ลดเหลือ 100 ไร่ ผมเช่าที่ บริษัท โดลฯ ด้วย ผลผลิตที่ได้ต่อไร่ ถ้าต้นใหม่ก็ได้อยู่ประมาณ 8 ตันต่อไร่/รอบการผลิต ส่วนปี 2562 แนวโน้มราคาค่อนข้างดีคืออยู่ที่บริษัท ประกันราคาให้กก.ละ 6.1 บาท ซึ่งปีนี้ตนทำสัญญาซื้อขายไว้1,000ตัน ซึ่งตนมีความเชื่อมั่นว่าหลังปรับเปลี่ยนระบบตกลงซื้อ-ขายเป็นระบบเกษตรพันธสัญญาจะทำให้กลไกด้านราคามีความนิ่งมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง ลดความวิตกเรื่องราคาและลดปัญหาผลผลิตล้นตลาดเหมือนทุกๆ ปีไปได้