กรมชลประทานเดินหน้า EIA ประตูระบายน้ำพระนครศรีอยุธยา ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด 13 อำเภอ บรรเทาน้ำท่วม–แล้งซ้ำซาก พร้อมเปิดแผนโครงการจัดการลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 9 โครงการ นายอรรถพร ปัญญาโฉม รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ทำการสำรวจพื้นที่ดำเนินโครงการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมประตูระบายน้ำพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยโครงการดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด 13 อำเภอได้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยา ประกอบด้วยพื้นที่ อ.บางไทร อ.บางบาล อ.บางปะหัน อ.บางปะอิน อ.ผักไห่ อ.พระนครศรีอยุธยา อ.มหาราช และ อ.เสนา ส่วนในพื้นที่ จ.อ่างทองประกอบด้วย อ.ไชโย อ.ป่าโมก อ.โพธิ์ทอง อ.เมือง และ อ.วิเศษชัยชาญ โดยมีพื้นที่หัวงานโครงการตั้งอยู่ในเขต ต.บ้านใหม่ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา พื้นที่หัวงาน 76.93 ไร่ ระบายน้ำได้สูงสุด 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที จากปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยในพื้นที่ดังกล่าว 10,970 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี นายวรวิทย์ บุณยเนตร ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางบาล กล่าวว่า กรมชลประทานได้เร่งศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประตูระบายน้ำพระนครศรีอยุธยา เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย และป้องกันความเสียหายต่อชุมชนเมืองและแหล่งโบราณสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์ และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีอัตราการไหลรวดเร็ว โดยในการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้ง 4 ปัจจัยได้แก่ ทรัพยากรทางกายภาพชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต โดยมีการประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตลอดจนให้ความสำคัญกับกระบวนการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน สำหรับจุดประสงค์ของโครงการประตูระบายน้ำพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ประสบปัญหาทั้งน้ำท่วมและภัยแล้ง โดยเฉพาะน้ำท่วมที่เกิดซ้ำซากและมีแนวโน้มระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้น สร้างความเสียหายต่อพื้นที่ชุมชน เกษตรกรรม อุตสาหกรรม รวมทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ขณะเดียวกัน พื้นที่ดังกล่าวกลับเก็บกักน้ำได้น้อยในช่วงฤดูฝน ทำให้ในช่วงฤดูแล้ง ปริมาณน้ำใช้มีไม่เพียงพอต่อความต้องการ อีกทั้งยังพบปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและพื้นที่เพาะปลูกอีกด้วย “การจัดทำประตูระบายน้ำพระนครศรีอยุธยาจะทำให้สามารถป้องกันกลุ่มโบราณสถานสำคัญในพื้นที่ประวัติศาสตร์ของพระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม จากอุทกภัยซ้ำซากหรือปริมาณน้ำฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากลำน้ำมีลักษณะคดเคี้ยว แคบและเป็นคอขวด ตลอดจนริมสองฝั่งแม่น้ำเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งเป็นที่ตั้งชุมชนเมืองปิดกั้นเส้นทางการระบายน้ำและกีดขวางการไหลของน้ำตามธรรมชาติ อีกทั้งยังเพื่อเพิ่มการใช้ประโยชน์ให้แก่พื้นที่การเกษตรในช่วงฤดูแล้งและเป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการอุปโภค บริโภคของประชาชนในพื้นที่ และด้วยโครงการดังกล่าวเข้าข่ายโครงการหรือกิจการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมชลประทานจึงได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของประตูระบายน้ำพระนครศรีอยุธยา” ทั้งนี้นอกเหนือจากโครงการประตูระบายน้ำพระนครศรีอยุธยา กรมชลประทานยังได้ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างทั้งระบบอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยได้นำเสนอในที่ประชุม กนช. 3 ครั้ง และครม. 2 ครั้ง จากนั้นที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการแผนงานบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 9 แผนงาน ประกอบด้วย1.ปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง ผ่านการปรับปรุงคลองระพีพัฒน์และโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันออก เพื่อให้สามารถเพิ่มการระบายน้ำจากแม่น้ำป่าสักสู่ทะเล จากเดิม 210 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 400 ลบ.ม.ต่อวินาที เริ่มดำเนินการไปแล้วบางส่วนเช่น ประตูระบายน้ำพระมหินทร์ ประตูระบายน้ำพระศรีศิลป์ ประตูระบายน้ำพระศรีเสาวภาค ประตูระบายน้ำพระธรรมราชา เป็นต้น 2.คลองระบายน้ำหลากเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ซึ่งแบ่งเป็น การปรับปรุงคลองชัยนาท–ป่าสัก เป็นคลองส่งน้ำคู่คลองระบายน้ำ เป็นการปรับปรุงคลองชัยนาท–ป่าสัก ซึ่งมีอยู่เดิมให้ระบายน้ำหน้าเขื่อนเพิ่มขึ้นจาก 130 เป็น 930 ลบ.ม.ต่อวินาที ความยาว 134 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างสำรวจออกแบบรายละเอียดในช่วงแรก และคลองระบายน้ำหลากป่าสัก–อ่าวไทย เป็นคลองระบายน้ำขุดใหม่ขนาด 600 ลบ.ม.ต่อวินาที ยาว 135 กม.ระบายน้ำจากแม่น้ำป่าสักลงสู่อ่าวไทย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณารายงาน EIA 3.คลองระบายน้ำคู่ถนนวงแหวนรอบที่ 3 ซึ่งระบายน้ำได้ 500 ลบ.ม.ต่อวินาที มีความยาว 110.85 กิโลเมตร โดย JICA ศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นแล้วเสร็จเมื่อเดือนก.พ.61 ปัจจุบัน สทนช.กำลังจะศึกษาเปรียบเทียบแนวทางและทางเลือกการดำเนินการ 4.ปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตก ซึ่งมีต้องปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ด–บางยี่หน ให้สามารถระบายน้ำออกสู่ทะเลได้เพิ่มจาก 52 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 130 ลบ.ม.ต่อวินาที วงเงินรวม 34,300 ล้านบาท 5.เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา โดยขุดลอกให้สามารถระบายน้ำได้ 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ที่ระดับตลิ่ง ดำเนินงานโดยกรมเจ้าท่า6.การบริหารจัดการพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ มีชุมชนที่ได้รับผลกระทบ 14 ชุมชน บริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา กรมโยธาธิการ โดยได้สร้างพนังป้องกันแล้ว 6 ชุมชน และอยู่ในแผนดำเนินการอีก 3 ชุมชน ในส่วนที่เหลือกรมโยธาธิการจะเข้าแผนศึกษาเพี่อดำเนินการต่อไป 7.คลองระบายน้ำหลากบางบาล–บางไทร สามารถระบายน้ำเลี่ยงเมืองอยุธยา 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยคลองระบายน้ำยาว 22.4 กิโลเมตร ครม.เห็นชอบในการดำเนินโครงการแล้ว 8.เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน โดยการขุดลอก และปรับปรุงบริเวณคอขวดและช่องลัด เพิ่มประสิทธิภาพการระบายแม่น้ำท่าจีน ได้สูงสุดอีก 90 ลบ.ม.ต่อวินาที ดำเนินงานโดยกรมเจ้าท่า และกรมชลประทานในส่วนที่เป็นทางน้ำชลประทาน 9.พื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำนอง เริ่มดำเนินการแล้วใน พ.ศ.2560 เป็นการบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำ 1.15 ล้านไร่ ตั้งแต่จ.นครสวรรค์ลงมา โดยปรับแผนการเพาะปลูกรองรับน้ำหลากได้ประมาณ 1,500 ล้าน ลบ.ม.