ถูกยกให้อีกหนึ่งพื้นที่ “สงครามเย็นยุคใหม่” ร่วมสมัยแห่งยุคสหัสวรรษ อันส่งผลให้บรรดาผู้สันทัดกรณีด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ ต้องจับจ้องมองอย่างไม่กระพริบตา สำหรับ “ขั้วโลกเหนือ” ภูมิภาคอาร์กติก บริเวณที่ได้รับการขนานนามว่า “เย็นยะเยือกอย่างสุดๆ แห่งหนึ่งของโลก” ด้วยอุณหภูมิที่ “ติดลบ 30 องศาเซลเซียส (-30 C)” หรือ “ติดลบ 22 องศาฟาเรนไฮต์ (-22 C)” เป็นอย่างน้อย จนทำให้ภูมิประเทศเต็มไปด้วยกองหิมะแบบสูงเป็นภูเขาเลากา ไม่เว้นแม้กระทั่ง “แหล่งน้ำ” ที่กลายสภาพเป็น “ธารน้ำแข็ง” คือ “น้ำ” ก็ยังเป็น “น้ำแข็ง” ซึ่งยากที่สิ่งมีชีวิตทั่วไปจะดำรงชีวิตอยู่ได้ เว้นแต่ สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ที่เหมาะกับสภาพอากาศเย็นโดยเฉพาะ ทว่า ดินแดนแห่งนี้กลับกลายเป็นที่ประชันขันแข่งช่วงชิงการมีอิทธิพลของบรรดาชาติมหาอำนาจ ในพื้นที่ดังกล่าวกันอย่างดุเดือด ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนไม่ผิดอะไรกับการเผชิญหน้ากันระหว่างเหล่าประเทศมหาอำนาจในรูปแบบของ “สงครามเย็น” ทหารรัสเซีย พร้อมด้วยสุนัขลากเลื่อน ขณะปฏิบัติภารกิจซ้อมรบในบริเวณขั้วโลกเหนือ ไม่ว่าจะเป็น “รัสเซีย” เจ้าของฉายา “พญาหมี” ประเทศมหาอำนาจที่หวนกลับมาผงาดอีกครั้งหลังการล่มสลายของ “อดีตสหภาพโซเวียตรัสเซีย” ในฐานะที่เปรียบไป ก็เสมือนเป็น “เจ้าถิ่น” เพราะอยู่ใกล้ชิดติดกว่าชาติใดใครๆ เขาเพื่อน ที่ตั้งกองทหารประจำ ที่มีทั้งการปฏิบัติการภาคสนาม และลาดตระเวนกันอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ มหาอำนาจของอีกฟาก คือ “สหรัฐอเมริกา” สมญานาม “พญาอินทรี” เมื่อเห็น “พญาหมี” รุกคืบกันไปก่อนหน้าก็มิอาจนิ่งนอนใจได้ ส่งผลให้เมื่อเดือนที่แล้ว “ทางการวอชิงตัน” โดย “กระทรวงกลาโหม” หรือ “เพนตากอน” ได้ประกาศแผนการทางทหารใหม่สำหรับขั้วโลกเหนือเป็นการเฉพาะ เรียว่า “ยุทธศาสตร์ใหม่ว่าด้วยภูมิภาคอาร์กติก (New Artic strategy)” ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ทางการทหาร ควบคู่ไปกับการเดินเรือในมหาสมุทรอาร์กติก อันน่านน้ำในภูมิภาคข้างต้น พร้อมๆ กันนั้น ทาง “เพนตากอน” ก็ได้ส่ง “เรือพิฆาตบรรทุกเครื่องบิน” ที่ทรงพลานุภาพอย่าง “ยูเอสเอส แฮร์รี เอส.ทรูแมน” แห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ แล่นเข้าไปยังขั้วโลกเหนือ โดยเข้าไปถึงยังพื้นที่ที่เรียกว่า “วงกลาอาร์กติก (Artice Circle)” แบบประกาศศักดากันถึงภายในภูมิภาคอันสุดยะเยือกแห่งนี้กันเลยทีเดียว ทั้งนี้ ในปฏิบัติการดังกล่าว ก็ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การล่มสลายของอดีตสหภาพโซเวียตรัสเซีย ที่ทางการวอชิงตัน ส่งเรือรบระดับเรือพิฆาตบรรทุกเครื่องบินเข้าไปถึง “วงกลมอาร์กติก” ในลักษณะเยี่ยงนี้ แบบท้าทายพญาหมีรัสเซียกันอยู่ในที นอกจากส่งเรือรบเข้าไปแล้ว ทางการวอชิงตัน โดยกระทรวงการต่างประเทศ ภายใต้การนำของรัฐมนตรีว่าการฯ “ไมค์ พอมเพโอ” ก็ได้ประกาศถึงแผนการที่จะฟื้นฟู “กองเรือฝ่าน้ำแข็ง” ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ก่อนหน้านั้นในช่วง “สงครามเย็นครั้งก่อน” ทางการสหรัฐฯ ก็เคยมีกองเรือฝ่าน้ำแข็งมาครั้งหนึ่งแล้วในห้วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ผ่านมา แต่ได้ยกเลิกไป ใช่แต่เท่านั้น ทางการสหรัฐฯ ก็มีแผนการที่จะซ้อมรบกับเหล่าชาติพันธมิตรอื่นๆ ในทวีปยุโรป โดยใช้ภูมิภาคอาร์กติกเป็นสถานฝึกซ้อมรบ ซึ่งก็เป็นไปตามสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ใหม่เกี่ยวกับภูมิภาคแห่งนี้ที่ประกาศไปข้างต้น มิใช่เพียงแต่สองมหาอำนาจหน้าเดิมเท่านั้น ทว่า มหาอำนาจหน้าใหม่ที่กำลังมาแรงแซงโค้งเหนือกว่าใครๆ อย่าง “พญามังกร – จีนแผ่นดินใหญ่” ก็ได้มียุทธศาสตร์ขยายอิทธิพลเข้ามายังภูมิภาคอาร์กติกแห่งนี้ด้วยเช่นกัน ผ่านโครงการความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจต่างๆ ทหารรัสเซีย ที่ประจำการในขั้วโลกเหนือ ใช้สกีและสกูตเตอร์หิมะ ในภารกิจลาดตระเวน เมื่อบรรดามหาอำนาจ ต่างพยายามกลุ้รุมกันเข้าไปในภูมิภาคอาร์กติกกันเยี่ยงนั้น ก็ส่งผลให้ “พญาหมี-รัสเซีย” ในฐานะ “เจ้าถิ่น” มิอาจนิ่งนอนใจต่อไปได้ ล่าสุด ทางการมอสโกของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ก็ได้เผยโฉม “กองเรือฝ่าน้ำแข็ง” ด้วยการอวดประสิทธิภาพของเรือตัดน้ำแข็ง ที่สร้างขึ้นใหม่จำนวน 3 ลำ ได้แก่ อาร์กติกา ไซบีร์ และอูราล ให้โลกได้ประจักษ์ โดยทางการรรัสเซีย เผยว่า เรือตัดน้ำแข็งทั้ง 3 ลำข้างต้น ใช้พลังงานนิวเคลียร์ สามารถตัดน้ำแข็งขนาดความหนา 3 เมตร ได้อย่างสบายๆ จนถือได้ว่า เป็นเรือตัดน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดในโลก และทรงพลังที่สุดชุดหนึ่ง ซึ่งกองเรือฝ่าน้ำแข็ง พร้อมลูกเรือ 75 นาย ในแต่ละลำ จะประจำการในขั้วโลกเหนือ หรือภูมิภาคอาร์กติกเร็วๆ นี้ ประชาชนชาวรัสเซีย ในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ร่วมงานฉลองเปิดตัวเรือตัดน้ำแข็ง “อูราล” เขี้ยวเล็บใหม่แห่งกองทัพเรือของรัสเซีย ที่จะไปประจำการในขั้วโลกเหนือ นอกจากการสร้างเรือตัดน้ำแข็งที่ทรงพลังแล้ว ทางการมอสโกของประธานาธิบดีปูติน ก็กำลังยกเครื่องบรรดาท่าเรือต่างๆ ในขั้วโลกเหนืออีกด้วย เพื่อสร้างความสะดวกในการเดินเรือของรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นเรือสินค้า หรือเรือรบ เพื่อกระชับอำนาจในการขยายอิทธิพลบนภูมิภาคอาร์กติกแห่งนั้น โดยมีทรัพยากรอันล้ำค่าอย่างน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมแล้วกว่า 4.12 แสนล้านบาร์เรล หรือคิดเป็นร้อยละ 22 ของแหล่งพลังงานทางธรรมชาติทั่วโลก เป็นบำเน็จกำนัลมือ แบบมิอาจให้ชาติใดๆ มหาอำนาจตหน้าไหนได้มาครอบครอง