ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง: พนมรุ้ง–เมืองโบราณศรีเทพ เข้าคิวชื่อเบื้องต้นก่อนสู่มรดกโลก อัพเดดความเคลื่อนไหวมรดกโลกกันสักนิด ก่อนที่การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกจะมีขึ้นในปลายเดือนมิถุนายนนี้ การประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญครั้งที่ 43 ยูเนสโก จะเริ่มขึ้นระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 10 กรกฎาคม 2019 ที่กรุงบากู (Baku) สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน โดยทางเว็บไซต์เวิร์ดเฮอริเทจ whc.unesco.org ได้เผยแพร่วาระการประชุมของแต่ละหัวข้อออกมาแล้วว่ามีวาระอะไรบ้าง หัวข้อหลักๆ ที่ให้ความสนใจคงหนีไม่พ้น ได้แก่ วาระ 7A รายงานสถานะการอนุรักษ์มรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตราย (State of conservation of the properties inscribed on the List of World Heritage in Danger) วาระ 7B รายงานสถานะของการอนุรักษ์มรดกโลก (State of conservation of properties inscribed on the World Heritage List) วาระ 8A รายชื่อเบื้องต้นที่ส่งโดยรัฐภาคี ณ วันที่ 15 เมษายน 2019 (Tentative Lists submitted by States Parties as of 15 April 2019, in conformity with the Operational Guidelines) และวาระ 8B เสนอชื่อสู่มรดกโลก (Nominations to the World Heritage List) วัฒนธรรม ธรรมชาติ และผสม ในส่วนที่เกี่ยวข้องประเทศไทย วาระ 7B รายงานสถานะการอนุรักษ์อุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา (Historic City of Ayutthaya) วาระ 8A รายชื่อเบื้องต้นส่งโดยรัฐภาคี ณ วันที่ 15 เมษายน 2019 (Tentative Lists submitted by States Parties as of 15 April 2019) 2 แห่ง ได้แก่ กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำและปราสาทปลายบัด (Ensemble of Phanom Rung, Muang Tam and Plai Bat Sanctuaries) และเมืองโบราณศรีเทพ (The Ancient Town of Si Thep) วาระ 8B ผืนป่าแก่งกระจาน (Kaeng Krachan Forest Complex) ซึ่งมีวงเล็บ(see 8B Add, X) พ่วงท้ายอยู่ สำหรับ 2 แห่ง กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำและปราสาทปลายบัด จังหวัดบุรีรัมย์ และเมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ อยู่ในรายชื่อเบื้องต้นในขณะนี้ รอการรับรองอย่างทางการที่ประชุมมรดกโลก การมีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative Lists) นั้นเป็นเพียงปฐมบทหรือเริ่มต้น ที่รัฐภาคีอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกสามารถนำเสนอแหล่งสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นตามเกณฑ์ของยูเนสโกได้ ซึ่งปัจจุบันมีรายชื่อเบื้องต้นที่อยู่ในทำเนียบของศูนย์มรดกโลก จำนวน 1,732 แห่ง 178 รัฐภาคี ปัจจุบันไทยมีรายชื่อเบื้องต้น 7 แห่ง ทั้งด้านวัฒนธรรมและธรรมชาติ ได้แก่ ภูพระบาท (Phuphrabat Historical Park, 2004) ผืนป่าแก่งกระจาน (Kaeng Krachan Forest Complex (KKFC), 2011) วัดมหาธาตุนครศรีธรรมราช (Wat Phra Mahathat Woramahawihan, Nakhon Si Thammarat, 2012) อนุสรณ์สถาน ภูมิทัศน์วัฒนธรรมเชียงใหม่ล้านนา (Monuments, Sites and Cultural Landscape of Chiang Mai, Capital of Lanna, 2015) พระธาตุพนม (Phra That Phanom, its related historic buildings and associated landscape, 2017) และล่าสุด 2 แห่งที่กล่าวไปข้างต้น ดังนั้น การจะไปสู่มรดกโลก (Nominations to the World Heritage List) ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ยังต้องทำข้อมูลเพิ่ม อีกทั้งผ่านกระบวนการพิจารณาหลายขั้นตอนจากศูนย์มรดกโลก ทั้งความเป็นคุณค่าโดดเด่นสากลของแหล่งนั้นๆ การแปลเอกสารที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญประสบการณ์ความรู้ในการแปลด้านนี้โดยเฉพาะ ฯ เรื่องนี้ไทยเองมีประสบการณ์เหลือล้น โดยเฉพาะบทเรียนจากภูพระบาทเมื่อสามปีก่อน ที่คณะกรรมการมรดกโลกตีเอกสารกลับให้ไปแก้ไขใหม่ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ยังนับว่าโชคดีที่ให้โอกาส มิเช่นนั้นแล้วภูพระบาทจะไม่มีสิทธิ์เสนออีก จึงเป็นบทเรียนสอนอย่างดีให้กับแหล่งอื่นๆ ของไทยที่อยู่ในรายชื่อเบื้องต้น ต้องทำข้อมูลให้ดีก่อนไปสู่มรดกโลก มิเช่นนั้นแล้วจะตกม้าตายเหมือนกรณีภูพระบาท ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ, #หน้าต่างภาพ@บูรพา โชติช่วง ปราสาทปลายบัด อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ