คนข้างวัด/อุทัย บุญเย็น ก่อนอื่น ขอแก้คำพิมพ์ผิดในฉบับที่แล้ว ที่ว่า พระพุทธศาสนาจักมีอายุแค่พันสองร้อยกว่าปี “พิมพ์ผิดเป็น” พระพุทธศาสนาจักมีอายุแค่สองร้อยก่วาปี” ผิดไปหนึ่งพันปี ผิดเยอะไปหน่อย และเป็นเรื่องระหว่างศาสนาด้วย คือท่านอับดุล เลาะฮ์ (อดีตพระที่หันไปถือศาสนาอิสลาม) ที่กล่าวว่าท่านเรียน 4 ปี สอบได้ ป.ธ.9 และได้ไปได้อ่านพระไตรปิฎกที่มหาวิทยาลัยนาลันทา (ประเทศอินเดีย) พบข้อความว่า พระศรีอริยเบตไตรย คือ พระศาสดา (นบี) ของศาสนาอิสลาม คือเป็นพระศาสดาของพระอัลเลาะฮ์ (พระผู้สร้าง) นั่นเอง ท่านพบอีกว่า พระไตรปิฎกนั้นใช้คำว่า พระพุทธเจ้า “ถูกส่งมา” แสดงว่า พระพุทธเจ้ามีพระเจ้า “(คือพระอัลเลาะฮ์) องค์เดียวกัน ผมไม่รู้จะว่าอย่างไร ได้แต่บอกให้กรมการศาสนาเร่งไปดูพระไตรปิฎกชุดนั้นว่า มีอยู่อย่างไรกันแน่ ข้อความที่ว่า “พระพุทธศาสนาจักมีอายุแค่พันสองร้อยปี” นั้นท่านอับดุล เลาะฮ์ กล่าวว่าเป็น “พุทธทำนาย” แต่พระไตรปิฎกของไทยแก้เป็น “จักมีอายุ 7,000ปี” ท่านอับดุล เลาะฮ์ ต้องการจะบอกว่า พระศรีอริยาเมตไตรย ก็คือ พระนบีของศาสนาอิสลาม ซึ่งเกิดขึ้นแล้วนั่นเอง แต่ผมก็ไม่เคยเจอ “พุทธทำนาย” ในพระไตรปิฎกดังว่านั้นเลย แต่ก็จะไม่ขอ “วิวาท” กับท่านอับดุล เลาะฮ์ ล่ะ ขอเขียนถึงงาน “พุทธวจน” (ไม่มีสระ ะ ที่ท้ายคำ) ของพระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตถิผโล วัดนาป่าพง ดีกว่า “พุทธจวน” จะพิมพ์ออกมาหลายเล่ม ท่านได้แนวคิดจากหนังสือชุด “จากพระโอษฐ์” ของท่านพุทธทาสภิกขุ (ซึ่งออกมา 5 เล่ม คือ 1. พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ (1 เล่ม) 2. ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ (2 เล่ม) 3. อริยสัจจากพระโอษฐ์ (1 เล่ม) 4. ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ (1 เล่ม) คำว่า “พุทธวจน” เป็นคำเดียวกับคำว่า “พุทธพจน์” แปลว่าคำ (วจนะ) ของพระพุทธเจ้า อีกคำหนึ่งที่มีความหมายอย่างเดียวกัน คือ “พุทธภาษิต” ท่านพระอาจารย์คึกฤทธิ์ต้องการจะให้ “พุทธวจน” สื่อความหมายว่า เป็นพระพุทธดำรัสในพระไตรปิฎกล้วนๆ ไม่มีคำกล่าวของพระสาวก อุบาสก อุบาสิกา พระภิกษุณี เทวดา หรือใครๆ ทั้งสิ้น แต่ท่านพระอาจารย์คึกฤทธิ์นั้น ไม่ได้เรียนภาษาบาลี อย่างท่านพุทธทาสภิกขุ เมื่อคัดพุทธวจนะจากพระไตรปิฎก ท่านก็ต้องคัดจากคำแปลเป็นไทย ส่วนท่านพุทธทาสภิกขุ ต้องแปลจากฉบับบาลี (พระไตรปิฎกสยามรัฐ)โดยตรง สมัยที่ยังไม่มีพระไตรปิฎกฉบับแปลเป็นไทย การแปลต้องอาศัยคัมภีร์อรรถกถาช่วยเป็นอย่างมาก เพราะข้อความหรือธรรมบางเรื่องเข้าใจได้ยาก อย่างพุทธวจนะว่า “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” ที่แปลว่า “ตนแล เป็นที่พึ่งแห่งตน” ปัญหาคือ อัตตา(ตน) นั้นหมายถึงอะไร เป็นที่พึ่งอย่างไร ก็ต้องอาศัยอรรถกถาช่วย ถ้าไม่อาศัยอรรถกถา ก็อาจจะคิดแปลเอาเองตามใจชอบ ซึ่งอาจจะผิดหรือถูกก็ได้ เคยสงสัยว่า ทำไมหลักสูตรเปรียญธรรมหรือบาลี จึงไม่เรียนตรงจากพระไตรปิฎกบาลีเลย ทำไมต้องเรียนจากคัมภีร์อรรถกถาก่อน เช่น ป.ธ.1-2-3 เรียนอรรถกถาธัมมบท (ธัมมปทัฏฐกถา) หรือ ป.ธ.8 เรียนคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ เป็นต้น มาเข้าใจตอนหลังว่า เมื่อเรียนอรรถกถาแล้ว จะแปลพระไตรปิฎกได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะจะไม่แปลผิดเพี้ยน ภาษาพระไตรปิฎก หรือ “พระบาลี” นั้น เป็นภาษามีไวยากรณ์มีการ “รจนา” จากภาษาพูด อันเป็นภาษาท้องถิ่นของชาวแคว้นมคธสมัยพุทธกาล รจนาคือ เรียบเรียง ส่วนหนึ่งใช้ไวยากรณ์และคำในภาษาสันสกฤตเป็นเครื่องปรุง การอ่านพระไตรปิฎกจำเป็นต้องมีความรู้ทางภาษาบาลี-สันสกฤต พอสมควร ท่านพุทธทาสภิกขุ เรียนบาลีได้ ป.ธ.3 สามารถอ่านคัมภีร์อรรถกถาได้ในระดับหนึ่ง ส่วนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) นั้น ท่านได้ ป.ธ.9 และอ่านภาษาอังกฤษได้ดีจึงแปลพระไตรปิฎกได้ดี ค้นคว้าได้ไกล สามารถเทียบเคียงพระไตรปิฎกได้หลายฉบับ เช่น ท่านพบว่า พระไตรปิฎกของพม่าเป็น วตํ (พรต) ของไทยเป็น วตฺตํ (วัตร) คำว่า “สีลพฺพตปรามาส” คือ สีล (ศีล) +วต (พรต) -ไม่ใช่ “สีลพฺพตฺต-” (ซึ่งความหมายต่างกัน) งานวิชาการ ยิ่งนานไป ยิ่งมีความก้าวหน้า เพราะมีการค้นคว้า-ค้นพบเพิ่มเติมมากขึ้น คำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกนั้น บางเรื่องก็มี “บริบท” หรือ สภาพแวดล้อมช่วยให้เข้าใจดีขึ้น หลายคำสอนมีเหตุการณ์เกิดขึ้น จึงมีการตรัส ช่วยให้เข้าใจคำสอนมากขึ้น การอ่านพระไตรปิฎกทั้งชุด ตั้งเรื่องราวและคำสอนต่างๆ จึงยังจำเป็น การเรียนบาลีตามหลักสูตรบาลียังมีความจำเป็น คิดว่า ใน 100 ปีหลักสูตรบาลีได้เพชรเม็ดงามอย่างท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ก็ประเสริฐยิ่งแล้ว จะหวังให้มหาเปรียญ (ป.ธ.9) อ่านพระไตรปิฎกได้เก่งทั้งหมด คงไม่ได้ สมเด็จฯ ป.อ. ปยุตฺโต กล่าวไว้น่าคิดว่า “การลอกคัดคัดความสั้นๆ จากพระไตรปิฎก มายืนยันทัศนะเกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธศาสนา บางครั้งทำให้ผู้อ่านผู้ฟังมองเห็นคำสอนเพียงบางส่วนบางแง่ที่ไม่สมบูรณ์ และทำให้เข้าใจพระพุทธศาสนาอย่างผิดพลาด ผู้แสดงคำสอนของพระพุทธศาสนาจึงควรคัดอ้างความด้วยความระมัดระวัง รู้จึกเลือกว่าคำสอนอย่างใดแสดงหลักทั่วไปอย่างกว้างๆ ของพระพุทธศาสนา คำสอนอย่างใดแสดงลักษณะคำสอนเฉพาะแง่เฉพาะด้านเฉพาะกรณี หรือมีเงื่อนไข ซึ่งควรนำมาแสดงหลายแง่หลายด้านให้เห็นครบถ้วน หรือชี้แจงกรณีและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องให้ผู้อ่านผู้ฟังทราบด้วย จะได้มองเห็นภาพของพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้องตามเป็นจริง” (พุทธธรรม หน้า 124) อย่างไรก็ตาม งาน “พุทธวจน” ของท่านพระอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ควรแก่การอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง ท่านนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยได้เยอะ สามารถเรียกข้อความที่เป็นพุทธวจนะ ที่ต้องการขึ้นจอได้ทันที ทำให้ผู้ฟังเข้าใจธรรมะได้เร็วขึ้น สมกับอยู่ในยุคสมัยแห่งดิจิตอล อยากช่วยท่านพระอาจารย์คึกฤทธิ์เรื่องหนึ่ง คือการแนะนำพระไตรปิฎกฉบับต่างๆ นั้น ขอเพิ่มเติมสักนิดหนึ่งว่า พระไตรปิฎกสยามรัฐ (ฉบับบาลี) นั้น เป็นภาษาบาลีคนทั่วไปคงอ่านไม่ได้ ขอแนะนำให้อ่านฉบับ 91 เล่มของมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย พระไตรปิฎก 91 เล่มนั้น เป็นฉบับแปล มีทั้งที่แปลจากฉบับบาลี (พระไตรปิฎกสยามรัฐ 45 เล่ม) มีทั้งอรรถกถาแปล คู่กันไป ท่านที่แปลอรรถกถา ถึงแก่กรรมไปแล้ว หามือแปลได้ขนาดนั้นคงยากแล้วอาจจะอ่านเข้าใจยากอยู่บ้าง ก็เพราะเป็นภาษาแปล ท่านพระอาจารย์คึกฤทธิ์ ก็คงรู้แล้วว่า ภาษาพระไตรปิฎกมีความยากอยู่ในตัวอย่างไร เพราะเมื่อท่านอ่านพุทธจวนะก็ต้องอ่านตามคำแปล คงอ่านให้ง่ายกว่านั้นได้ยาก พระไตรปิฎกสมัยพระสาวกครั้งพุทธกาลท่องจำเอาไว้ คงจะเป็นภาษาท้องถิ่น ยังไม่มีระเบียบภาษาด้วยไวยากรณ์ แต่เมื่อมีการจัดระเบียบภาษา การสังคายนาก็รักษาถ้อยคำอย่างเคร่งครัด สังเกตได้ว่าพระไตรปิฎกทุกภาษามีข้อความตรงกัน และน่าสังเกตว่า พระไตรปิฎกของสมาคมบาลีปกรณ์ (Pali Text society-PTS) ของประเทศอังกฤษ (ที่กรุงลอนดอน) ซึ่งมีฉบับบาลีอักษรโรมันด้วย ก็เป็นพระไตรปิฎกของนิกายเถรวาท ซึ่งมีเนื้อหาตรงกันทุกฉบับ จำได้ว่า สมัยรัชกาลที่ 4 (เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงผนวชอยู่) มีการส่งจดหมายและส่งพระไปขอคัดลอกพระไตรปิฎกที่พม่า (รัฐยะไข่) และที่ศรีลังกากันอยู่ แสดงว่า มีความพยายามอย่างยิ่งในการรักษาพระไตรปิฎกบาลีให้ดำรงอยู่จนถึงทุกวันนี้ อาณาจักรล้านนา เป็นประเทศหนึ่งที่พระไตรปิฎกบาลีรุ่งเรืองอย่างต่อเนื่องมีพระเถรนักปราชญ์ทางภาษาบาลีหลายรูปที่มีผลงานแต่งคัมภีร์ระดับพระอรรถกถจารย์ และที่คัมภีร์ใบลานมากมายอยู่ในบางวัดเ ช่น ที่วัดไหล่หิน จ.ลำปาง แสดงว่ามีการสืบทอดพระไตรปิฎกมาอย่างต่อเนื่อง ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ผมเห็นว่า งานสืบทอดพระไตรปิฎกก้าวไปอีกแบบหนึ่ง เป็นงานอ่านพระไตรปิฎกในเชิงวิชาการอีกแบบหนึ่งท่านพุทธทาสภิกขุเน้นการศึกษาคำสอนเรื่อง “อนัตตา” และ “ปฎิจจสมุปบาาท”ให้เห็นชัดขึ้น ส่วนสมเด็จฯ ป.อ. ปยุตฺโต ได้ทำการศึกษาพระไตรปิฎกเทียบเคียงหลายฉบับ ทำให้งานสืบทอดพระไตรปิฎกมีความต่อเนื่องตามยุคสมัย ท่านพระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตฺถผโล แม้จะไม่ได้เรียนบาลี ท่านก็ได้เผยแพร่พระไตรปิฎกช่วยกันอีกทางหนึ่ง ทำให้คำสอนของพระพุทธเจ้าดำรงอยู่ได้ท่ามกลางยุคสมัยที่บางศาสนาคิดแต่เรื่องจะแผ่ขยายพื้นที่ด้วยกุศโลบายที่น่าเป็นห่วง ดูเหมือนว่า ฝ่ายอาณาจักรจะไม่มีเวลามาดูแลงานด้านศาสนาเท่าที่ควร เกรงว่า ศาสนาจะก่อความแตกแยกจนยากจะแก้ไข