จับจ้องรอดูความชัดเจนกรณีการประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าสูงถึง 2.9 แสนล้านบาท หลังศาลปกครองกลาง ประกาศยกคำขอทุเลาของ “กลุ่มซีพี” แต่ขณะเดียวกันก็รับคำฟ้องของกลุ่มซีพี มีคำถามเกิดขึ้นแล้วเรื่องนี้จะมีหาทางออกอย่างไร?!!! ทั้งนี้เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา กลุ่มซีพียื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองขอให้ศาลวินิจฉัย ยกเลิกมติที่ประชุมคณะกรรมพิจารณาคัดเลือก และขอให้ยังคงพิจารณาซองเอกสารทั้งหมดของซีพี ซึ่งประเด็นสำคัญนี้ ศาลรับคำฟ้องของกลุ่มซีพีไปในวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเมื่อศาลรับคำฟ้อง ต้องใช้เวลาในการพิจารณาไม่น้อย และหากมีผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลก็อาจใช้เวลามากขึ้นไปอีก ทำให้กลุ่มซีพีต้องยื่นคำขอทุเลาเพิ่มเติมควบคู่กัน เพื่อรักษาสิทธิ์ของตัวเองกับการที่จะได้รับการพิจารณาซองอย่างทัดเทียมกับเอกชนผู้ยื่นซองประมูลรายอื่น หากเทียบราคาแล้วเกิดชนะขึ้นมา แต่หากผลของศาลออกมาว่า ซีพีแพ้ไม่ให้รับพิจารณาซอง นั่นหมายถึง ผู้เสนอราคาที่ได้เป็นรายที่สอง จะเป็นผู้ชนะทันที ซึ่งรัฐจะไม่เสียประโยชน์ เพราะได้เห็นราคาของซีพี เทียบกับคู่แข่งที่เหลือ และกระบวนการเดินหน้าได้โดยไม่ติดขัด อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 ศาลได้ยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง นั่นหมายถึงกระบวนการพิจารณาซองอาจฝืนเดินหน้าต่อไปโดยไม่มีซองของซีพี และไม่รอผลการพิจารณาของศาล อันนี้น่าเป็นห่วงและน่าเห็นใจคณะกรรมการคัดเลือก เพราะหากได้ผู้ชนะไปแล้ว แต่ในภายหลังหากศาลวินิจฉัยว่า ซีพียังมีสิทธิ์ ... ในสถานการณ์เช่นนี้ วลีเดิมๆว่า รัฐเสียค่าโง่ คงถูกนำมาใช้ เพราะอาจมีการฟ้องเรียกร้องค่าเสียหาย และไม่รู้ว่าจะจบเมื่อใด ทั้งนี้โครงการดังกล่าวมีภาคเอกชน 3 รายใหญ่ที่สนใจยื่นซองประมูล รายแรกกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตรได้แก่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK,บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD,บริษัท บี.กริม.จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด และ Fraport AG Frankfurt Airport Services Worldwide จากเยอรมนี ส่วนรายที่ 2 เป็นกลุ่มแกรนด์ คอนโซเตียม(GRAND Consortium) ประกอบด้วย บริษัท แกรนด์ แอสเสท โอเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน)หรือ GRAND อยู่ในกลุ่มบริษัท พร็อพเพอร์ซี่ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน)หรือ PF สัดส่วน 80%บริษัทไทยแอร์เอเชีย จำกัด (บ.ย่อยของ บริษัท เอเชียเอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV )ถือ 10% และบริษัทคริสเตียนีและนีลเส็น(ไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CNT ถือ 10% โดยให้ GMR Airport Limited จากอินเดียมาบริหารสนามบิน และ China Harbour Engineering Company Limited รายที่ 3 เป็นกลุ่มกิจการร่วมค้า BBS ซึ่งประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS,บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC เรื่องนี้ ....หากพิจารณาด้วยใจเป็นกลาง ยึดมั่นผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลักสำคัญ คณะกรรมการคัดเลือกควรพิจารณาเปิดซองประมูลของภาคเอกชนทั้ง 3 ราย เพื่อเปรียบเทียบจุดเด่น-จุดด้อย อย่างชัดเจน ย่อมดีกว่าการตัดสิทธิ์เพียงเพราะเหตุผลส่งซองช้าไป 9 นาที ในขณะที่คณะกรรมการคัดเลือกยังไม่ได้รับซองเอกสารของผู้ยื่นข้อเสนอครบถ้วน แต่ในเมื่อไม่มีทางเลือก จึงต้องเดินเข้าสู่การตัดสินของศาลสถิตย์ยุติธรรมที่ต่างฝ่ายต่างนำข้อเท็จจริงมามอบแก่ศาล และให้ศาลชี้ทางออกที่ประเทศได้ประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญกระบวนการพิจารณาซอง ต้องรอการพิจารณาจากศาลไปโดยปริยาย และคณะกรรมการคัดเลือกก็ไม่ต้องกลัวถูกฟ้องกรณีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ เพราะต้องรอกระบวนการและผลจากศาล โดยจะเปิดซองก่อนมิได้ ทำให้งานนี้ดูเหมือนว่า ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ รวมถึงประโยชน์ของประเทศชาติ และการทำงานทุกขั้นตอนต้องโปร่งใส ชัดเจน และตรวจสอบได้ โครงการสนามบินอู่ตะเภาเป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องทำให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็ว เพราะถือเป็นโอกาสของคนไทยทั้งประเทศ สิ่งที่ดีที่สุดคือ ต้องเปิดทางให้ภาคเอกชนที่เข้าร่วมยื่นซองประมูลทุกรายได้มีโอกาสแสดงศักยภาพเต็มที่ ที่สำคัญต้องตระหนักเสมอว่า โครงการสนามบินอู่ตะเภา ต้องอาศัยเอกชนไทยรายใหญ่ที่มีศักยภาพสูง ได้รับการยอมรับในระดับโลกมาช่วยกันพัฒนา เสริมศักยภาพผลักดันให้สนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินระดับโลก อีกทั้งยังเป็นการยกระดับการพัฒนาพื้นที่ภายในสนามบินให้กลายเป็นเมืองการบินภาคตะวันออกยกระดับให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน(Aviation Hub) ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต.