โรคใหม่ล่าสุดของโลก กรมควบคุมโรคเตรียมประสานกรมสุขภาพจิตควบคุมป้องกัน ชี้มีโอกาสเสี่ยงป่วยโรคซึมเศร้าพุ่ง แนะ 2 วิธีรับมือ-จัดการ แนะสังเกตอาการ รู้สึกพลังหาย เบื่อหน่าย-คิดลบ ประสิทธิภาพงานด้อยลง นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า จากการประชุมองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เมืองเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ โดยมติที่ประชุมพิจารณาให้การจัดการภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ (Burnout) เป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์เป็นครั้งแรกในคู่มือวินิจฉัยและจัดประเภทของโรคระหว่างประเทศ (ICD-11) เพื่อให้เป็นมาตรฐานวินิจฉัยโรคและการประกันสุขภาพใหม่ทั่วโลก ซึ่งกรมฯจะได้หารือวางแผน เพื่อพิจารณาระบบเฝ้าระวังและบูรณาการกับกรมสุขภาพจิตในการควบคุมและป้องกันโรคต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ ลักษณะอาการที่เข้าข่ายภาวะเมื่อยล้าหมดไฟที่เกิดจากการทำงานคือ 1.รู้สึกหมดไฟ เหนื่อยล้า พลังชีวิตหดหาย 2.รู้สึกไม่อยากทำงาน ต้องการมีระยะห่างจากงานหรือมีทัศนคติเชิงลบต่องาน 3.ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ซึ่งลักษณะอาการดังกล่าวเป็นผลมาจากความเครียดในการทำงานหรือทำงานไม่ประสบผลสำเร็จตามที่คาดการณ์ไว้ อาจทำให้เสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าสูงขึ้น นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน อาจเกิดจากปัญหาสุขภาพจิตที่อยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล สภาพแวดล้อม การจัดการขององค์กร ทักษะและความสามารถของพนักงานในการจัดการปัญหาความไม่สมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัว รวมทั้งการสนับสนุนขององค์กร ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจกระทบสุขภาพจิตและเป็นสาเหตุอาการผิดปกติทางจิต หรือนำไปสู่การใช้แอลกอฮอล์หรือยาเสพติด การรังแกและคุกคามทางจิตวิทยาเป็นสาเหตุความเครียดที่เกี่ยวข้องกับการทำงานและเสี่ยงต่อสุขภาพคนงาน ส่งผลต่อปัญหาทั้งจิตใจและร่างกาย ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ทั้งนี้ กรมฯแนะนำวิธีจัดการกับภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ 2 ด้าน 1.การจัดการกับตัวเอง เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ นอนอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน, ผ่อนคลายอารมณ์ด้วยกิจกรรมอื่นๆ เช่น นอนดูหนัง ฟังเพลง ช็อปปิ้ง เพื่อให้รางวัลตนเอง, พูดคุยขอคำปรึกษากับผู้อื่น ว่าคุณรู้สึกหมดแรงหรือเบื่อ หากมีอาการรุนแรงมากกว่าปกติ ต้องการความช่วยเหลือหรือสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้ 2.คำแนะนำของ WHO ในการจัดการกับสิ่งแวดล้อมในการทำงาน โดยปรับสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้มีความรู้สึกทางบวกมากขึ้น ซึ่งต้องอาศัยวิสัยทัศน์และนโยบายผู้บริหาร เช่น สร้างเป้าหมายเส้นทางอาชีพให้พนักงานชัดเจน สร้างการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของพนักงาน นโยบายดูแลสุขภาพกายและใจพนักงาน เพื่อช่วยเหลือดูแลอย่างเหมาะสม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422