เงินเฟ้อเดือน พ.ค.เพิ่มขึ้น1.15% จากปัญหาภัยแล้ง ดันกลุ่มอาหารสด ผักสดสูงขึ้น-ชาวบ้านโอดจ่ายค่าโดยสารขสมก./บขส.เพิ่ม เผยทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 0.7-1.7% น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรืออัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ค.62 ราคาสินค้าที่นำมาคำนวณอัตราเงินเฟ้อ 422 รายการ มีสินค้าที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นถึง 233 รายการ จากสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 2.83 โดยเฉพาะผักสดสูงขึ้นถึงร้อยละ 29.34 เช่น ต้นหอมสูงขึ้นร้อยละ 150 และพริกสดสูงขึ้นร้อยละ 50 รวมถึงเนื้อหมูสูงขึ้นร้อยละ 9.99 เนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัดและฝนเริ่มตกบางช่วง ทำให้พืชผักโตช้าและเน่าเสียง่าย และค่ารถโดยสารสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพฯของรถเมล์ ขสมก.และ บขส.ในต่างจังหวัดปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5.63 ทั้งนี้หากดูราคาพลังงานที่กลับมาลดลงถึง 4 ครั้ง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ค.62 สูงขึ้นร้อยละ 1.15 ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.23 และภาพรวม 5 เดือนแรกของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นร้อยละ 0.92 ยังคงอยู่ในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ ส่วนสินค้าที่ราคายังทรงตัวมี 91 รายการ และสินค้าที่ราคาปรับลดลง 98 รายการ เช่น ส้มเขียวหวาน เงาะ และสินค้ากลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง โดยราคาน้ำมันดิบดูไบในเดือนพฤษภาคมเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 69.13 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลหรือลดลงร้อยละ 6.1จากปีก่อน โดยจากภาพรวมสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการยังอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพและการบริโภค ยังมีแนวโน้มที่ดีสอดคล้องระหว่างปริมาณผลผลิตและความต้องการ จึงยังคงกรอบอัตราเงินเฟ้อปี 2562 ไว้ที่ร้อยละ 0.7-1.7 หรือเฉลี่ยร้อยละ 1.2 โดยจะขอรอดูเฉลี่ยเงินเฟ้อครบ 6 เดือนก่อน เพื่อนำมาคำนวณเฉลี่ยค่ากลางจากมองไว้อยู่ที่ร้อยละ 1.2 โดยจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ขอดูความชัดเจนก่อน