ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งประเทศต้นแบบในการคิดค้น และพัฒนาสิ่งใหม่ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรให้ดีขึ้น รวมไปถึงสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ด้วยการประยุกต์ใช้ความคิดสร้างสรรค์และศิลปะในการเพิ่มมูลค่าให้กับความหลากหลายทางชีวภาพที่มีอยู่ ในท้องถิ่น โดยพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชนให้เจริญก้าวหน้าไปพร้อมกับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม และรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน
ญี่ปุ่นจึงเป็นจุดหมายปลายทางการเรียนรู้ของ พัชชธร หนูปลอด ชั้น ม.4 โรงเรียนมหาวชิราวุธ จ.สงขลา, ธนัช กาญจนจินดา ชั้น ม.4 โรงเรียนบ้างฉางกาญจนกุลวิทยา จ.ระยอง และ เจณิชตา เจริญชัยดี ชั้น ม.4 โรงเรียนวัดทรงธรรม จ.สมุทรปราการ เยาวชนดีเด่น 3 คน ที่ได้รับคัดเลือกจากโครงการค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม "เพาเวอร์กรีน" ปีที่ 13 ภายใต้หัวข้อ "การบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพกับการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์" ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่าง บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจด้านพลังงานแบบครบวงจรแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ที่มุ่งมั่นพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ รวมทั้งเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน โดยมุ่งหวังว่าพวกเขาจะสามารถถอดบทเรียนจากความสำเร็จเหล่านี้และนำมาสร้างสรรค์หรือประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่และประเทศชาติเมื่อมีโอกาส
การเดินทางในครั้งนี้ได้ผสมผสานความรู้ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ศิลปะ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวญี่ปุ่นที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพื่อเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ และสร้างเสริมประสบการณ์แก่เยาวชนอย่างไรก็ตาม ยังคงมุ่งเน้นให้เยาวชนได้ต่อยอดการเรียนรู้การสร้างมูลค่าเพิ่มจากความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ทักษะด้านศิลปะและความคิดสร้างสรรค์มาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างแนวทางการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น สามารถเกิดขึ้นได้จริงในมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น เริ่มกันที่ "พื้นที่ เอจิโกะ-ซึมาริ" เมืองโทคะมะจิ จังหวัดนีงาตะ แหล่งท่องเที่ยวด้านศิลปะที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น หลังจากเดินทางมาสักระยะ เรามั่นใจว่าได้มาถึงจุดหมายแล้ว เพราะเราเริ่มเห็นชิ้นงานศิลปะรูปร่างแปลกตาที่ตั้งอยู่กลางทุ่งนา สวนสาธารณะ กลางหุบเขา และพื้นที่อื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งงานศิลปะเหล่านี้สามารถตีความได้ต่างๆ นานาตามแต่จินตนาการของผู้เสพงานศิลปะ แอ๊นท์ - พัชชธร หนูปลอด นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนมหาวชิราวุธ จ.สงขลา สะท้อนมุมมองของเด็กไทยที่มีต่อ "พื้นที่ เอจิโกะ-ซึมาริ" ว่า หากเรานำแนวคิดนี้ไปปรับใช้กับประเทศของเรา โดยนำศิลปะของไทยที่ผสมผสานความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นไปจัดวางตามสถานที่สำคัญต่างๆ มั่นใจว่าต้องสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เช่นกัน ที่มากกว่านั้นยังเป็นการเผยแพร่ศิลปะ และวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จัก เกิดเป็นความสำนึกรักและสืบสานให้คงอยู่ต่อไป จากนั้นได้เดินทางไปชมจุดต้นกำเนิด "ตาน้ำพุร้อน" ที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยธรรมชาติ เกิดจากพลังงานความร้อนที่ถูกกักเก็บอยู่ภายใต้ผิวโลก ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินชีวิตและการพัฒนาชุมชนในย่านมะสึโนะยามะ โดย บูม - ธนัช กาญจนจินดา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้างฉางกาญจนกุลวิทยา จ.ระยอง กล่าวว่า ผมไม่เคยคิดเลยว่าจะนำความร้อนจากใต้ดินมาใช้ประโยชน์ได้มากขนาดนี้ ซึ่งนับเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรันำมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอย่างหลากหลายของบ้านเรา และที่ต้องกล่าวถึงคือการกลับมาของ "นกโทกิ" นกที่เคยถูกประกาศว่าสูญพันธุ์ไปแล้วจากญี่ปุ่นในปี 2524ต่อมารัฐบาลญี่ปุ่นได้รับนกโทกิจำนวน 5 ตัว จากรัฐบาลจีน และประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์นกโทกิ เพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติบนเกาะซาโดะอีกครั้ง หนึ่งปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จที่สำคัญ คือ ความร่วมมือร่วมใจกันของชาวบ้านบนเกาะ ที่ช่วยกันรักษาระบบนิเวศท้องนาอันเป็นที่อยู่และแหล่งอาหารของนกชนิดนี้ให้กลับมาปลอดสารเคมีและอุดมสมบูรณ์ เมื่อชาวบ้านยอมเสียสละปรับตัวเพื่อให้สิ่งแวดล้อมคงอยู่ได้แล้ว ก็ย่อมได้รับผลตอบแทนที่ดีเช่นกัน ผลผลิตข้าวที่มีรสชาติอร่อยจากกระบวนการผลิตที่สะอาดจนมีชื่อเสียงโด่งดัง และได้รับการยอมรับด้วยตราสัญลักษณ์นกโทกิบนบรรจุภัณฑ์ ที่บ่งบอกว่าข้าวในถุงนี้ปลูกด้วยกระบวนการที่เป็นมิตร ต่อสิ่งแวดล้อมรวมทั้งนกโทกิ สัตว์ที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญ เกิดเป็นจุดขายของผลิตภัณฑ์ในชุมชน ที่นำความหลากหลายทางชีวภาพมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม ออม - เจณิชตา เจริญชัยดี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวัดทรงธรรม จ.สมุทรปราการ บอกว่า รู้สึกประทับใจแนวทางการอนุรักษ์นกโทกิบนเกาะซาโดะมาก เพราะได้เห็นถึงความใส่ใจสิ่งแวดล้อมของคนในชุมชน และความเสียสละในการปรับตัวให้สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้นกโทกิ ยังกลายเป็นจุดเชื่อมโยงที่ทำให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมีในการทำนา เพื่อเอื้อต่อการมีชีวิตอยู่ของนกโทกิและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในธรรมชาติ อีกสิ่งหนึ่งที่คิดว่าสำคัญต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คือ จิตสำนึกและความร่วมมือกันของทุกคนที่จะสามารถสร้างโลกของเราให้น่าอยู่ขึ้นได้ค่ะ นอกจากสถานที่สำคัญเหล่านี้แล้ว เยาวชนทั้ง 3 คน ยังได้เปิดโลกทัศน์การเรียนรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพในสถานที่ที่แปลกใหม่อีกมากมาย ทั้งได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการทำเหมืองแร่ทองคำสมัยโบราณ พร้อมทดลองร่อนทองคำตามแบบฉบับคนท้องถิ่น ได้นั่งเรืออ่างไม้ "ทาไรบุเนะ" แบบใกล้ชิดธรรมชาติ ชมความมหัศจรรย์บนเกาะซาโดะที่ถูกบันทึกให้เป็นหนึ่งในพื้นที่ "อุทยานธรณี" (Geopark) ได้เรียนรู้วิธีการเลี้ยงหอยนางรม พร้อมทดสอบฝีมือการแกะหอยนางรมตามวิถีพื้นบ้าน และได้เข้าชม MORI Building DIGITAL ART MUSEUM: teamLab and Borderless แลนด์มาร์กพิพิธภัณฑ์ศิลปะดิจิทัลสุดยิ่งใหญ่ที่เชื่อมต่อผู้คนเข้ากับธรรมชาติผ่านงานศิลปะได้อย่างไร้ขอบเขต อุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-องค์กรสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพนี้ ค่าย "เพาเวอร์กรีน" เราได้สื่อสารและให้เยาวชนได้เรียนรู้มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แล้ว และปีนี้เราได้เชื่อมโยงเรื่องธุรกิจและศิลปะเข้ามาด้วย เพราะชีวิตจริงการรวบรวมความคิดจากหลากหลายส่วนทำให้เกิดประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่และยั่งยืนกว่า จุดหมายปลายทางการเรียนรู้ที่หลากหลายจากประเทศต้นแบบนี้เป็นเหมือนจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ช่วยให้น้องๆ ทั้ง 3 คน ได้นำความรู้จากการทัศนศึกษาในหลากหลายมิติมาเชื่อมโยงกัน เพื่อต่อยอดการพัฒนาและสร้างสรรค์แนวคิดในการอนุรักษ์และนำความหลากหลายทางชีวภาพมาใช้ประโยชน์ ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและพัฒนา ด้านสิ่งแวดล้อมในเชิงบวกต่อชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่และประเทศชาติในอนาคต" "การเรียนรู้" คือสิ่งที่บ้านปูฯ ได้ให้ความสำคัญมาโดยตลอด ซึ่งนอกจากการทัศนศึกษาในประเด็นที่เชื่อมโยงกันแล้ว เยาวชนทั้ง 3 คน ยังมีความเข้าใจการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพกับการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์อย่างลึกซึ้ง จากผู้มีประสบการณ์ตรงอย่างตัวแทนชุมชนจากจังหวัดนีงาตะ และประธานสมาคม แหล่งออนเซ็นมะสึโนะยามะ รวมทั้งวิทยากรจากศูนย์อนุรักษ์นกโทกิ และสำนักงานการท่องเที่ยว เกาะซาโดะ นอกจากนี้ รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ ประธานโครงการค่ายเพาเวอร์กรีน ปีที่ 13 ยังร่วมเดินทางไปให้ความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับสถานที่ทัศนศึกษาอีกด้วย