เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2562 เวลา 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา โรงหนัง SIFF Uptown ในเมืองซีแอทเทิล (Seattle) จัดฉายหนังสารคดีเรื่อง The Ghost Fleet สารคดีที่สะท้อนแรงงานทาสในธุรกิจประมงของไทย เป็นครั้งแรกในงานเทศกาล Seattle International Film Festival 2019 โดยเทศกาลดังกล่าวเป็นการเปิดตัวหนังสารคดีรอบแรกในเทศกาลหนังนานาชาติ สหรัฐอเมริกา มีคนเข้าชมประมาณ 300 คน โดยทางทีมผู้สร้างได้เชิญคณะของมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน(แอลพีเอ็น ) ประกอบด้วย น.ส.ปฎิมา ตั้งปรัชญากูล ผู้ประสานงานมูลนิธิแอลพีเอ็น นายชัยรัตน์ ราชปักษี และนาย ทุน ลิน อดีตลูกเรือประมงที่เคยเป็นแรงงานทาส ร่วมพบปะและตอบคำถามคนดูเกี่ยวกับประเด็นแรงงานทาสในธุรกิจประมงด้วย Shannon Service ผู้กำกับหนังและสื่อมวลชนอิสระ กล่าวว่า ภายหลังการเปิดตัวหนังสารคดี นอกจากการเปิดตัวหนังในฐานะหนังส่งเสริมสิทธิมนุษยชนแล้ว ครั้งนี้ยังเป็นการฉายหนังเนื่องในโอกาสที่องค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นประกาศให้วันที่ 8 มิถุนายนของทุกปี เป็นวัน World Oceans Day ทางทีมงานและผู้มีส่วนร่วมจึงได้เดินสายฉายหนังต่อเนื่อง โดยที่มาของการทำหนังนั้นเรียกได้ว่าเป็นความโชคดีของเธอที่ได้เข้าไปทำข่าวในหลายพื้นที่แล้วเกิดความคิดอยากต่อยอดเรื่องราวออกมาให้คนได้เห็นสารคดีที่สะท้อนถึงชีวิตคนที่ถูกใช้ไปเพื่ออาหารทะเล และทรัพยากรทางทะเลที่ถูกล่าแบบล้างผลาญ เพื่อให้ผู้บริโภคได้หยุดคิดสักนิดว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่จริง และสารคดีชิ้นนี้ไม่ใช่เป็นแค่ศิลปะ แต่เป็นการนำเสนอชีวิตจริงที่ทำให้รู้ว่าประเทศไทยยังมีวิกฤตการใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมง “ถ้าคุณดูแล้วจะคิดต่อจากหนังยังไงก็ได้ แต่อย่างหนึ่งที่คุณเห็น คือ พวกเขาถูกละเมิด อยากให้ทุกคนที่ดูหนังร่วมสื่อสารออกไปด้วยกันว่า คุณคิดยังไงกับเรื่องราวทุกข์ยากของลูกเรือประมงที่มันเป็นอยู่อย่างนั้นนานนับปี” Shannon กล่าว ผู้กำกับกล่าวด้วยว่า หนังเรื่องนี้ได้นำเสนอต่อรัฐบาลไทยแล้ว แต่ยังไม่มีการตอบรับว่าได้เข้าฉายหรือไม่ และยังไม่มีใครยืนยันได้ว่า จะสามารถฉายที่เมืองไทยได้ น.ส.ปฎิมา กล่าวว่า ไม่เคยคาดคิดว่าจะมีการฉายหนังเรื่องนี้ออกมา แต่ก็เคยอธิษฐานขอพรกับสุสารลูกเรือประมงที่เกาะเบนจินา ประเทศอินโดนีเซียว่า ขอให้เรื่องราวของแรงงานทาสชาวไทย เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา ถูกเผยแพร่ให้คนทั่วโลกรู้ และให้ไปได้ไกลเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้รู้ว่าอุตสาหกรรมอาหารทะเลยังมีธุรกิจที่กดขี่แรงงานอยู่จริง และเรื่องนี้ไม่ควรคิดถึงศักดิ์ศรีของความเสียหน้า แต่ควรคิดว่า เป็นเรื่องของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ “เคยคิดว่าคงมีหนังออกมา แต่ไม่เคยคิดว่าจะมีตัวเองเข้าไปอยู่ในหนัง เราไม่เคยอยากเป็นตัวเอก แต่เราอยากให้เรื่องนี้ไปไกล กว่าการรับรู้ว่ามีแรงงานทาส อยากให้มันหมดไป เพราะไม่ควรมีมนุษย์คนไหนถูกทำร้ายด้วยพลังของธุรกิจที่มุ่งหารายได้ สร้างเศรษฐกิจอย่างเดียว ดีใจมากที่หนังมาไกล และจะฉายในอีกหลายที่ในสหรัฐ หลังจากฉายในยุโรปมาแล้ว หลายแห่ง และหวังว่าจะได้เข้าฉายในประเทศไทยได้อย่างราบรื่น เพราะตัวแทนรัฐบาลดูแล้วก็บอกว่าดี แต่ไม่แน่ใจว่า บริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประมงจะยินดีให้นำเสนอหรือไม่ ” น.ส.ปฎิมา กล่าว ด้านนายทุน ลิน กล่าวว่า ตนไม่อยากให้หนังจบและคนลืมเรื่องลูกเรือประมงที่เป็นแรงงานทาส แต่อยากให้ทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเฝ้ามองแรงงานทาส เพื่อให้พวกเขารอดชีวิตออกมาเหมือนกับ 5,000 กว่าคนที่ทางแอลพีเอ็นและหลายหน่วยงานได้ช่วยเหลือ ขณะที่ Emma ตัวแทนผู้ชมจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน กล่าวว่า ระหว่างดูหนัง เธอนั่งร้องไห้ตลอดเวลา ตัวเธอเองไม่เคยได้ไปประเทศไทย แต่การได้ดูหนังครั้งนี้ทำให้เธอศรัทธาคนที่มีชีวิตรอดจากการทำงานเป็นแรงงานทาส มากๆ และรู้สึกชอบการนำเสนอของหนังมาก โดยเฉพาะฉากตอนที่ นายกรัฐมนตรีของไทย ลงจากรถแล้วยืนคุยกับแรงงานทาสแค่ประโยคสั้นๆ มันตีความหมายได้หลายอย่างมากระหว่างที่ประชาชนไปเจอเรื่องร้ายๆมา แต่รัฐบาลให้ความหมายแค่การพูดถึงกฎหมาย แต่ไม่ได้พูดถึงค่าชดเชยของการดูแลแรงงานที่พิการหรือเสียชีวิตเลย ส่วน Olivia อาจารย์สอนภาษาอังกฤษให้นักเรียนพม่า กล่าวว่า เธอพานักเรียนในชั้นมาดูหนังด้วยกัน 12 คน ทุกคนต่างเห็นใจแรงงานทาสที่ต้องมีชีวิตแย่ๆ บนเรือ และถูกทำร้ายร่างกายมากขนาดนั้น เธอตั้งใจจะพานักเรียนที่เหลือในชั้นมาชมหนังที่จะฉายใน Seattle อีก 3 วัน เพื่อให้นักเรียนร่วมวิเคราะห์สถานการณ์ของหนังไปด้วยกันจะได้รู้ว่าชะตากรรมแรงงานในประเทศพม่า ไทย และกัมพูชาเป็นอย่างไร “ฉันใจสลาย มันพูดไม่ออก ตอนที่แรงงานคนหนึ่งโทรหาพ่อ แล้วพ่อช็อค หลังติดต่อลูกไม่ได้ 7 ปี คือถ้าเป็นฉัน อาจจะไม่หายใจอีกเลย เพียงแค่ลูกหายไป 7 วัน” เมื่อถูกถามว่า มองการละเมิดสิทธิแรงงานประมงในประเทศไทยอย่างไร เธอตอบว่า ประเทศไทยสวยงามเสมอ แต่จะสวยงามกว่านี้ ถ้ามันไม่มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น ทั้งนี้หลังจากเสร็จสิ้นการฉายหนังและร่วมตอบคำถามคนดูในรัฐวอชิงตัน ทางทีมงานจะเดินทางไปต่อที่เทศกาลหนังนานาชาติใน กรุงวอชิงตันดี.ซี และนิวยอร์ก จากนั้นเดินทางกลับประเทศไทย สำหรับคนไทยที่อาศัยอยู่ในที่ต่างในสหรัฐอเมริกาสามารถรับชมหนังได้ฟรีในสัปดาห์ World Oceans Day เป็นเวลา 1 สัปดาห์ จากนนั้นผู้สนใจทั่วไปสามารถซื้อตั๋วได้ตามโรงภาพยนต์ทั่วไป จนถึงวันที่ 27 กรกฎาคม นี้ ติดตามตารางการฉายหนังได้ที่ เว็บไซต์ https://www.vulcanproductions.com/ghostfleet/TheFilm