บรรณาลัย / โชติช่วง นาดอน ดอกจาน–ทองกวาว กับพราหมณ์ , พุทธ “ต้นดอกจาน” (ภาษาฮินดีว่า -ปารัช) เป็นภาคส่วนหนึ่งของ “อัคนีเทพ” เรื่องนี้ไม่มีเรื่องราวละเอียดในภาษาไทย พบเพียงเรื่องย่อๆ ว่า ต้นดอกจานเป็นภาคหนึ่งขององค์อัคนีเทพ โดยพระนางปารวตี (พระอุมา) ลงโทษสาปให้พระอัคนีเทพกลายเป็นต้นดอกจาน เนื่องจากมารบกวนล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวของพระศิวะกับพระนางปารวตี เรื่องราวคล้ายๆ กันนี้มีในเรื่อง “กำเนิดพระขันทกุมาร” ที่แพร่หลายเป็นภาษาไทย เหล่าเทวดาและฤาษีพากันไปขอให้พระศิวะให้กำเนิดโอรสเพื่อปราบอสูรร้าย พระอัคนีแปลงเป็นนกพิราบล่วงล้ำเข้าไป จึงถูกธาตุ “เตชะ” ของพระอิศวร พระอัคนีรุ่มร้อนด้วยพิษธาตุเตชะ จนต้องบินลงไปในแม่น้ำคงคา .... เรื่องยืดยาวออกไป และมีรายละเอียดต่างๆ กันอีกมาก บางเรื่องก็ว่าพระอัคนีเอาพระขันนทกุมารไปซ่อน.... “ไฟ – เตชะ” ของพระศิวะนั้น เห็นทีจะเป็นอสุจิที่จะให้กำเนิดโอรสพระศิวะนั่นเอง น่าสังเกตว่า มเหสีของพระอัคนีนั้นชื่อนางสวาหะ (พระวายุนำอสุจิพระอิศวรไปใส่นางสวาหะ กำเนิดเป็นหนุมาน) ดอกปารัชหรือดอกจานนี้ก็เป็นดอกไม้ที่นิยมใช้บูชาพระนางปารวตีกันมากชนิดหนึ่ง ในเขต Telangana region ของแคว้นอันทรประเทศ Andhra Pradesh ดอกปารัชหรือดอกจานเป็นดอกไม้พิเศษในการบูชาพระศิวะ ในเทศกาลศิวะราตรี Shivratri ในภาษา Telugu เรียกต้นดอกจานว่า Modugu chettu. ในแคว้น Kerala เรียกต้นดอกจานว่า 'plasu' and 'chamata'. พราหมณ์ เกอราล Kerala Brahmin นับถือว่าไม้ดอกจานเป็นไม้พิเศษใช้พิธีบูชาไฟ (อัคนีโหตร) วิกีพีเดียภาษาไทยให้ข้อมูลว่า ต้นดอกจานเป็นพืชที่มีความสำคัญในศาสนาฮินดู ใช้เป็นสัญลักษณ์ของพระพรหม พระนารายณ์ พระอิศวร ไม้ต้นดอกจานใช้เป็นฟืนเผาศพ ถือเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาต้นไม้นั้น มีมาตั้งแต่ยุคหินแล้ว จนถึงทุกวันนี้คติความเชื่อเคารพบูชาต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ก็ยังไม่หมดสิ้นไป ความเชื่อเรื่องนี้มีต่างๆ นานาแตกต่างกันไปในแค่ละเผ่าพันธุ์และพื้นที่ เช่นนอกจากเคารพบูชาต้นไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งแล้ว ยังมีความเชื่อนั้นๆ แล้ว ในบางท้องที่ยังเกี่ยวโยงกับจำนวน (ตัวเลข) ด้วย เช่น ในอินเดียมีความเชื่อว่า หากใครปลูกต้นมะม่วง ห้าต้น ในสวนสาธารณะหรือริมถนนแล้ว จะปลดปล่อยบรรพชนทุกคนของผู้นั้นจากเบื้องทุกข์ หากใครปลูกต้น Siriha หกต้น จะคุ้มครอง “ครุฑโลก” หากใครปลูกดอกจาน (Palasha) เจ็ดต้น จะเป็นได้เกิดในพรหมโลก และ อุทุมพรโลก-จันทรโลก อ่านรายละเอียดได้ในเรื่อง “Some Plants and Flower’s religious and medical significance” ใน google) ชาวไทยช่วยกันปลูกต้นดอกจาน-ทองกวาว กันคนละเจ็ดต้น โดยด่วน แล้วทุกคนจะได้พบความสุขแห่งพรหมโลก ใครมีที่ดินก็ปลูกให้มาก ใครไม่มีที่ดิน นำไปปลูกในที่ดินของเพื่อน หรือนำไปปลูกป่ากันเถิด บุญกุศลจะเห็นทันตา มิ่งไม้มหามงคลทางพุทธศาสนา ในทางพุทธศาสนา เรียกต้นดอกจานว่า “กิงสุกะ” ต้นดอกจานเป็นไม้มหามงคล บางท่านเรียกว่า “โพธิญาณพฤกษา” เพราะเป็นร่มไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้ ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ตำราชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 2 พระนามว่า “พระเมธังกรพุทธเจ้า” ได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้ดอกจาน กิงสุโกปมชาดก- คนไม่รู้ธรรมด้วยญาณย่อมสงสัยในธรรม มีชาดกคำสอนพุทธธรรมเรื่องที่เกี่ยวกับต้นดอกจาน (กิงุสกะ) โดยตรงอยู่เรื่องหนึ่ง ชื่อ กิงสุโกปมชาดก ความว่า พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภกิงสุโกปมสูตร ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้ ได้ยินว่า ภิกษุ 4 รูปเข้าไปเฝ้าพระตถาคตทูลขอกรรมฐานพระศาสดาทรงบอกกรรมฐานแก่ภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่านั้นเรียนกรรมฐานไปสู่ที่พักกลางคืนที่พักกลางวัน ในภิกษุเหล่านั้นภิกษุรูปหนึ่งกำหนดผัสสายตนะ 6 บรรลุพระอรหัตแล้ว รูปหนึ่งกำหนดขันธ์ 5 รูปหนึ่งกำหนดมหาภูต 4 รูปหนึ่งกำหนดธาตุ 18 ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลคุณวิเศษที่ตนบรรลุแด่พระศาสดา ในบรรดาภิกษุเหล่านั้นมีรูปหนึ่งเกิดความปริวิตกว่ากรรมฐานเหล่านั้นมีข้อแตกต่างกัน แต่นิพพานเป็นอย่างเดียวกัน ภิกษุทั้งหมดบรรลุอรหัตได้อย่างไร จึงทูลถามพระศาสดา พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุเธอก็ไม่ต่างกันกับพี่น้อง 4 คนที่เห็นต้นดอกจาน ภิกษุทั้งหลายกราบทูลอาราธนาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์ทรงแสดงเหตุนี้แก่ข้าพระองค์เถิดทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระองค์มีพระโอรส 4 พระองค์ วันนี้โอรสทั้ง 4 ตรัสเรียกสารถีมาตรัสว่า ดูก่อนสหาย พวกเราอยากเห็นต้นดอกจาน ท่านจงแสดงต้นดอกจานมาให้พวกเราดูเถิด สารถีรับว่า ดีละ พระเจ้าข้า ข้าพระองค์จักแสดง แต่ไม่แสดงแก่ราชบุตรทั้ง 4 พร้อมกัน ให้ราชบุตรองค์หนึ่งประทับนั่งบนรถไปก่อน พาไปในป่าแล้วชี้ให้ดูต้นดอกจานในเวลาสลัดใบว่า นี้คือต้นดอกจาน อีกองค์หนึ่งให้ดูในเวลาออกใบอ่อน อีกองค์หนึ่งให้ดูเวลาออกดอก อีกองค์หนึ่งให้ดูเวลาออกผล ต่อมาราชบุตรทั้ง 4 พี่น้องประทับนั่งพร้อมหน้ากัน จึงไต่ถามกันขึ้นว่า ชื่อว่าต้นดอกจานเป็นเช่นไร องค์หนึ่งตรัสว่า เหมือนตอไหม้ไฟ องค์ที่สองตรัสว่า เหมือนต้นไทร องค์ที่สามตรัสว่าเหมือนชิ้นเนื้อ องค์ที่สี่ตรัสว่า เหมือนต้นซึก ทั้ง 4 พระองค์ไม่ตกลงตามคำของกันเและกัน จึงไปเฝ้าพระบิดา ทูลถามว่าข้าแต่พระบิดา ชื่อว่าต้นดอกจานเป็นอย่างไร เมื่อพระราชาตรัสว่า พวกเจ้าว่ากันอย่างไรเล่า จึงกราบทูลพระราชาตามที่ถกเถียงกัน พระราชาตรัสว่า พวกเจ้าแม้ทั้งสี่ได้เห็นต้นดอกจานแล้วเป็นแต่สารถีผู้แสดงต้นดอกจาน พวกเจ้ามิได้ไต่ถามจาระไนออกไปว่า ในกาลนี้ต้นดอกจานเป็นเช่นไร ด้วยเหตุนั้นความสงสัยจึงเกิดขึ้นแก่พวกเจ้า ตรัสคาถาแรกว่า : ๐ ท่านทุกคนเห็นต้นดอกจานแล้ว ยังจะสงสัยในต้นทองกวาวนั้น เพราะเหตุไรหนอ ท่านทั้งหลายหาได้ถามสารถีให้ถี่ถ้วนในที่ทั้งปวงไม่ ๐ พระศาสดาทรงแสดงเหตุนี้แล้วตรัสว่า แน่ะภิกษุ เหมือนอย่างพี่น้องทั้ง 4 เกิดความสงสัยในต้นทองกวาว เพราะมิได้ไต่ถามให้ถ้วนถี่ฉันใด แม้เธอสงสัยเกิดขึ้นในธรรมนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน พระองค์ได้ตรัสคาถาที่ 2 ว่า : ๐ บุคคลเหล่าใด ยังไม่รู้ธรรมทั้งหลาย ด้วยญาณทั้งปวง บุคคลเหล่านั้นแล ย่อมสงสัยในธรรมทั้งปวง เหมือนพระราชบุตร 4 พระองค์ทรงสงสัยในต้นดอกจานฉะนั้น ๐ เนื้อความแห่งคาถานั้นว่า เหมือนอย่างพี่น้องเหล่านั้นสงสัยแล้ว เพราะไม่เห็นต้นดอกจานทุกฐานะ ฉันใด ธรรมทั้งปวงแยกประเภทเป็นผัสสะ 6 อายตนะ ขันธ์ ภูต และธาตุ ชนเหล่าใดไม่ได้ให้เกิดด้วยวิปัสสนาญาณทั้งปวง คือมิได้แทงตลอด เพราะยังไม่ได้บรรลุโสดาปัตติมรรค เหมือนพี่น้องทั้งสี่สงสัยในต้นดอกจานต้นเดียวกันฉันนั้น พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า พระเจ้ากรุงพาราณสีในครั้งนั้น คือเราตถาคตนี้แล. ต้นดอกจาน นอกจากทุกๆ ส่วนจะมีคุณค่าเป็นประโยชน์ , ยามฤดูบานใหม่ดอกสีสดใสจะเบ่งบานปลุกอารมณ์รัก , เป็นไม้มงคลทั้งในทางพราหมณ์และทางพุทธศาสนาแล้ว ยังสามารถสอนปริศนาธรรมให้กับเรา มาช่วยกันปลูกต้นดอกจานหรือทองกวาวกันให้ครบคนละเจ็ดต้นเถิด หมายเหตุ..ภาพประกอบ