เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 2 มิ.ย.62 ที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) สาขาจังหวัดนครราชสีมา (นม.) นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน สร.รฟท. ให้สัมภาษณ์ถึงผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ว่า สหภาพ ฯ ได้รับข้อร้องเรียนจากประชาชนที่มีบ้านพักและที่ทำกินในละแวกพื้นที่ก่อสร้างรถไฟทางคู่อย่างต่อเนื่อง รฟท.รับนโยบายให้ดำเนินก่อสร้างรถไฟทางคู่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางราง แต่ต้องแบกรับภาระปัญหาที่เกิดจากกระบวนการก่อสร้าง โดย รฟท.ไม่ได้ออกแบบและกำกับดูแลแต่อย่างใดออกแบบ ประเด็นสำคัญ รฟท.ไม่มีกำลังก่อสร้างเอง จึงได้ว่าจ้างให้เอกชนรับดำเนินการ แต่เอกชนไม่ได้สื่อสาร สร้างความเข้าใจและเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับประชาชนในพื้นที่ อ้างดำเนินการตามแบบที่ถูกกำหนดขึ้นมา ปัญหาจึงไม่ได้การแก้ไขและเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำให้ชาว จ.ขอนแก่น และ จ.นครราชสีมา ร้องเรียนตามช่องทางต่างๆ ทั้งศูนย์ดำรงธรรมและรัฐสภา รวมทั้งปัญหาสถานีรถไฟชานชาลาสูง หากทุบทิ้งก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง สหภาพ ฯ จึงลงพื้นที่รับฟังเสียงสะท้อนกับผู้ได้รับผลกระทบโดยแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันในแต่ละจุด ส่วนกรมการขนส่งทางราง รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมได้พยายามสร้างองค์กรขึ้นมากำกับดูแลยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศให้มีมาตรฐาน โดยออกกฎหมายให้มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ) กรมการขนส่งทางราง เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกต โดยเฉพาะการนำที่ดินและทรัพย์สินรวมอุปกรณ์ส่วนควบทั้งหมดของ รฟท. ให้กรมการขนส่งทางรางบริหารจัดการและการอนุญาตให้เอกชนรับสัมปทานเดินรถและทำทางได้ ทำให้ รฟท.เป็นเพียงผู้ประกอบการรายหนึ่งเท่านั้น ทำให้ศักยภาพสูญเสีย เป็นกิจการของรัฐที่เน้นการให้บริการหากเป็นของเอกชนจะมุ่งหวังแต่ผลกำไร ส่วนรถไฟความเร็วสูง ไม่มีเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องลงทุนสร้างใช้งบมากมาย ควรเพิ่มเส้นทางรถไฟทางคู่ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ จะได้คุณูปการชัดเจน เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด