กรมส่งเสริมสหกรณ์จับคู่ธุรกิจเชื่อมโยงเครือข่ายสหกรณ์ผู้ปลูกข้าวโพด มันสำปะหลังขายพืชอาหาสัตว์ป้อนสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคเนื้อและโคนม ชี้ส่งผลดีกับทั้งสองฝ่าย ฝั่งสหกรณ์ผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์มีตลาดรองรับชัดเจน ฝั่งสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพผลิตเป็นอาหารสัตว์จำหน่ายเกษตรกรสมาชิกในราคายุติธรรม ปริมาณความต้องการใช้อาหารสัตว์ของเครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคไม่น้อยกว่าปีละ 29,281.20 ตัน นายเชิดชัย พรหมแก้ว รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดประชุมเชื่อมโยงเครือข่ายและเจรจาธุรกิจระหว่างสหกรณ์ที่จำหน่ายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลังกับสหกรณ์ผู้เลี้ยงโค โดยเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างสหกรณ์ผลิตพืชอาหารสัตว์ จำนวน 122 แห่ง และสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคเนื้อและโคนม จำนวน 60 แห่ง เพื่อพัฒนาการผลิตและการตลาดสินค้าพืชอาหารสัตว์ให้อยู่ภายในเครือข่ายของสหกรณ์ ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ให้มากขึ้น รวมทั้งพัฒนาเรื่องการแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร และส่งเสริมให้สหกรณ์ผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการของตลาด ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพมหานคร นายเชิดชัย กล่าวว่า ปัจจุบันสหกรณ์ผู้ผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีจำนวน 102 แห่ง ปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่สหกรณ์ผลิต แบ่งเป็นข้าวโพดแบบฝัก 10,451 ตัน และแบบเมล็ด 237,100 ตันต่อปี ส่วนสหกรณ์ผู้ผลิตมันสำปะหลัง มี 80 แห่ง ปริมาณการผลิตมันสำปะหลังในระบบสหกรณ์ แบ่งเป็นแบบหัวมันสด 201,236 ตัน และมันเส้น 19,937 ตันต่อปี ขณะที่สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคเนื้อมี 75 แห่งและสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม 100 แห่ง ปริมาณความต้องการใช้อาหารสัตว์ของเครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคมีจำนวน 29,281.20 ตันต่อปี “มันสำปะหลังและข้าวโพด ทุกส่วนสามารถผลิตเป็นอาหารสัตว์ได้หมด มันสำปะหลัง หัวมันไปทำแป้ง มีโปรตีนเยอะ และถ้าแปรรูปเป็นมันเส้นสะอาด เน้นคุณภาพ ก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าขายได้ราคาดี ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สามารถขายได้แบบทั้งต้น ซึ่งจะเป็นอาหารชั้นเลิศในการผลิตนมมีคุณภาพ และเป็นอาหารหยาบที่มีคุณค่าทางอาหารสูงสำหรับโคเนื้อ ซึ่งช่วยสร้างเนื้อได้”รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว ทั้งนี้ หากสหกรณ์ไปแนะนำให้สมาชิกปลูกข้าวโพด ใช้เวลาเพียง 70-80 วันตัดต้นขาย พื้นที่ปลูกข้าวโพด 1 ไร่ มีข้าวโพดประมาณ 5-6 พันต้น สามารถนำมาสับแล้วส่งขายให้กับสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคเนื้อและโคนมได้ราคาดีกว่าขายแบบฝัก ดังนั้น การจับคู่เจรจาธุรกิจระหว่างสหกรณ์ผู้ปลูกข้าวโพด มันสำปะหลังกับสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคเนื้อและโคนม จะได้รับทราบความต้องการของแต่ละฝ่าย และสามารถกำหนดได้ว่าต้องการใช้วัตถุดิบแบบไหน ให้ฝั่งสหกรณ์ผู้ผลิตพืชอาหารสัตว์นำข้อมูลกลับไปส่งเสริมสมาชิกปลูกตามที่ตลาดต้องการ และเจรจาเรื่องราคาที่จะซื้อขายต่อกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความชัดเจนทั้งในเรื่องปริมาณที่จะสั่งซื้อและราคาและต้องตระหนักในความรับผิดชอบซึ่งกันและกัน สิ่งสำคัญคือต้องเน้นเรื่องคุณภาพของพืชที่จะนำมาผลิตเป็นอาหารสัตว์ การผลิตข้าวโพดต้องไม่มีสารตกค้าง เนื่องจากเมื่อนำไปให้โคเนื้อและโคนมกิน จะส่งผลต่อผลผลิตน้ำนมหรือเนื้อโคที่จะป้อนสู่ตลาดเพื่อให้ผู้บริโภครับประทานด้วย ดังนั้น หากสามารถเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างกันระหว่างสหกรณ์ผู้ผลิตพืชอาหารสัตว์กับสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคได้ ก็จะเป็นตลาดที่มั่นคงชัดเจน และช่วยต่อยอดธุรกิจให้กับเครือข่ายสหกรณ์ต่อไปในอนาคตด้วย