คนข้างวัด/ อุทัย บุญเย็น ในมือถือ ได้จดรายการหนึ่ง เพื่อตามดูภายหลังอีกสักครั้ง เพราะเอะใจในข้อความหนึ่ง ที่ผู้กล่าวพูดว่า อาจารย์ของเขา (พระรูปหนึ่ง) เรียนบาลี 3 ปี สอบได้ ป.ธ. (เปรียญธรรม) 9 ประโยค ส่วนตัวผู้กล่าวเองใช้เวลา 4 ปี สอบได้ ป.ธ.9 ท่านผู้กล่าวนั้น ระบุชื่อชัดเจนว่า ชื่อ “พระมหาชลิต” (บอกนามสกุลด้วย แต่ผม ไม่ได้จดไว้) บอกอีกว่า ไปอยู่วัดพิชยญาติการาม และไปเรียนบาลีที่วัดอนงคาราม (ฝั่งธนบุรี) ท่านผู้นั้นกล่าวว่าได้ไปเรียน (ด้วยทุนของ มจร.) ที่มหาวิทยาลัยนาลันทา ประเทศอินเดีย เป็นเวลา 2 ปี เมื่อสัก 30 ปีกว่าแล้ว ดูรูปลักษณ์น่าจะเป็นคนอายุราว 50-60 ปี เอะใจว่า เป็นคนร่วมสมัยกับผมนี่เอง แต่ไม่น่าเชื่อว่า จะมีหลักสูตรบาลี 3-4 ปี สอบ ป.ธ.9 ได้ เพราะการสอบบาลีต้องมีการสมัครสอบ ในการสมัครสอบนั้น จะต้องมีหลักฐาน (เช่นใบประกาศนียบัตร) ของความรู้ชั้นเดิมไปแสดงด้วย ไม่ใช่ว่า อยากจะสอบบาลีชั้นใดก็สอบได้เลย การสอบบาลี โดยทั่วไป อย่างเก่งก็ต้องใช้เวลาเรียนหลักไวยากรณ์ (บาลีไวยากรณ์) เป็นเวลา 1 ปี แล้วเรียนแปลอีก 1 ปี ถ้าเก่งพอ ก็สอบ ป.ธ.1-2 (สมัยผม สอบปีแรกคือ ป.ธ.3 ต้องแปลหนังสือ “ธรรมบท” 8 เล่ม) ต้องใช้เวลา 1 ปี จึงสอบ ป.ธ.1-2ได้ จากนั้นจึงสอบ ป.ธ.3-4-5-6-7-8-9 นับจำนวนปีแล้ว ต้องใช้เวลา 7-8 เป็นอย่างน้อย จึงจะสอบ ป.ธ.9 ได้ แต่ส่วนใหญ่ การเรียนบาลีจนสอบ ป.ธ.9ได้ ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี เพราะมักจะสอบตกในระหว่าง (ผมเอง สอบตก ป.ธ.5 หนึ่ง ปี และสอบตก ป.ธ.9 หนึ่งปี) การใช้เวลา 3-4 ปีสอบได้ ป.ธ.9 จึง เป็นเรื่องแปลก? เคยได้ทราบว่า สมัย ร.4-ร.5 มีการสอบปากเปล่าในพระมหาบรมราชวัง สมัยนั้นสอบครั้งละ (หรือวันละ?) หลายชั้นหรือหลายประโยคได้ แต่ดูเหมือน “พระมหาชลิต” และพระอาจารย์ไม่ใช่คนสมัยนั้น? ได้ดูในมือถือ และได้ฟังคำกล่าวของ “อดีตพระ” ท่านนั้น จึงจดไว้ว่า youtube (ดูยูทูป) รายการ “อดีตพระเปิดใจ” รู้จักอิสลามจากพระไตรปิฎก The former Open Islam,known as the Tripitaka” “อดีตพระ” ท่านนั้น พิธีการเรียกชื่อว่า “อับดุล เลาะฮ์” ท่านเองเปิดเผยชื่อจริงว่า “พระมหาชลิต” (เป็นคนจังหวัดภูเก็ต) ตั้งใจว่าจะตามดูอีกครั้ง ช่องรายการนั้นก็ยังอยู่ แต่การแนะนำตัว “อดีตพระ” หายไป ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น? แต่ก็ยังมีเนื้อหาที่น่าสนใจอยู่ คืออดีตพระท่านนั้นบอกว่า ท่านได้ไปเรียนพุทธปรัชญาที่มหาวิทยาลัยนาลันทา ประเทศอินเดีย (มหาวิทยาลัยลันทา คือ “นาลันทามหาวิทยาลัย” ซึ่งปัจจุบันเหลือแต่ซากปรักหักพัง เพราะถูกเผาทำลาย ส่วนวัดไทยนาลันทา อยู่ไม่ไกลกัน เป็นวัดเล็กๆ พระไทยที่ไปเรียนไปอยู่ที่นั่น “อับดุล เลาะฮ์” บอกว่า ได้ไปอ่านพระไตรปิฎกที่นั่น ท่านบอกว่าไม่ใช่พระไตรปิฎกภาษาสันสกฤตและไม่ใช่พระไตรปิฎกภาษาบาลี บอกว่าเป็นภาษาอะไรไม่รู้ (แต่ท่านก็ได้อ่าน) ได้อ่านพบว่า พระพุทธเจ้าองค์ต่อไป คือ พระศรีอริยเมตไตรย ได้แก่ องค์นะบี (ศาสดาของศาสนาอิสลาม) ทรงอูฐเป็นพาหนะกลางทะเลทราย ท่านอับดุล เลาะฮ์บอกว่า ข้อความนี้ไม่มีในพระไตรปิฎกของไทยท่านว่า พระไตรปิฎกมีการสังคายาน 18 ครั้ง มีการปรับปรุงแก้ไขเรื่อยมาส่วนพระไตรปิฎกที่ท่านได้อ่านอยู่ในใบลานท่านยืนยันกับพิธีกรว่า พร้อมที่จะพาไปดูได้ทุกเมื่อ ผมทราบมาว่า ในอินเดีย มีแต่พระไตรปิฎกภาษาสันสกฤต แต่ตัวเองก็ไม่เคยได้อ่าน ในหอสมุดของ มหาวิทยาลัยเดลี (University of Dellhi) ที่ผมไปเรียนเมื่อปี 2521-2525 ก็ไม่เคยไปดู จึงไม่ทราบว่ามีหรือไป พระถังซัมจั๋งไปเรียนที่นาลันทามหาวิหารเมื่อราว 1,500 ปีมาแล้วก็เรียนพระไตรปิฎก (และแปลเป็นภาษาจีน) จากฉษบับภาษาสันสกฤต ไม่เห็นกล่าวถึงพระไตรปิฎกภาษาอื่นใดเลย พระไตรปิฎกที่สมาคมบาลีปกรณ์ (Pali Text Society) ของประเทศอังกฤษ ก็แปลจากฉบับบาลีของศรีลังกาและของไทย ไม่เห็นกล่าวถึงพระไตรปิฎกฉบับอื่นใดเลย จึงแปลกใจว่า ท่านอับดุล เลาะฮ์ ไปเจอพระไตรปิฎกภาษาอะไรอีก? และถ้าท่านไปเจอพระไตรปิฎกนั้นเข้า ก็คงต้องใช้เวลาเรียนภาษานั้นอีกไม่น้อย จึงจะพอแปลได้ ท่านอับดุล เลาะฮ์ กล่าวอีกว่า ในพระไตรปิฎก (ของไทย) มีพุทธทำนายว่า พระพุทธศาสนจักมีอายุเจ็ดพันปี แต่ในพระไตรปิฎกที่ท่านอ่านนั้นระบุว่า พระพุทธศาสนจักมีอายุแค่สองร้อยกว่าปี (เท่าๆ กับปีเกิดศาสนาอิสลาม?) เท่าที่ได้อ่านพระไตรปิฎกมา ผมไม่เคยพบ “พุทธทำนาย”ใดๆ อย่างนั้น เคยพบแต่พระดำรัสว่า โลกจักไปว่างจากพระอรหันต์ตราบที่ยังมีการปฏิบัติตามอริยมรรค พระพุทธเจ้าตรัสแต่ความมีความเป็นตามเหตุปัจจัย จึงไม่มี “พุทธทำนาย” อะไรล่วงหน้า เพราะอะไรจะมี หรืออะไรจะเป็นอย่างไร ย่อมขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย อันที่จริง พระพุทธศาสนากับศาสนอิสลาม มีความเชื่อและมีแนวคำสอนต่างกัน พระพุทธศาสนาปฏิเสธอำนาจ “พระผู้สร้าง” เป็น “อเทวนิยม” ไม่ปฏิเสธความมีอยู่ของเทวดาหรือโลกอื่น-ภพอื่นแต่เป็นเทวดา ฯลฯ เป็นสัตว์โลกประเภทหนึ่ง ซึ่งมีการเกิดการตายหรือการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน ส่วนศาสนาฝ่าย “เทวนิยม” (เช่น ศาสนาอิสลาม) เชื่อว่ามี “พระผู้สร้าง” มีความเชื่อหรือมีความเห็นไปคนละอย่าง ท่านอับดุล เลาะฮ์ ก็รู้ดี ไม่น่าจะเอามาเชื่อมโยงกัน เพราะไม่มีทางเป็นไปได้ ทางที่ดี ก็ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างเชื่อกันไป ต่างคนต่างสอนให้คนทำความดี ตามแนวทางของตนก็ดีอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าเคยหยุดอธิบายเรื่องที่อีกฝ่ายหนึ่งมีความเชื่อ หรือมีความเห็นต่าง เพราะมีความยึดถือคนละอย่าง อธิบายอย่างไรก็ไม่มีประโยชน์ เพราะอีกฝ่ายหนึ่งยึดถือในความเห็นตามแบบของตน ท่านอับดุล เลาะฮ์ อ้างถึง “หลวงพี่พระพยอม กัลญาโณ” ว่าเคยพูดคุยกันที่จังหวัดเพชรบุรี ว่าพระพยอมยอมรับว่า ศาสนาแท้จริงมีศาสนาเดียว คือมีผู้สร้างเพียงหนึ่งเดียว เพื่อจะบอกว่า พระพยอมเชื่อในแบบศาสนาฝ่ายเทวนิยม การพยายามที่จะให้พระไตรปิฎกมีข้อความ “พุทธทำนาย” ว่า พระศรีอริยเมตไตรย คือองค์นะบี เป็นความพยายามที่จะให้ศาสนามีเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะแนวคำสอนเป็นคนละทางดังกล่าวแล้ว เรื่อง “พระไตรปิฎก” ตามที่ท่านอับดุล เลาะฮ์กล่าวถึงนั้นขอทำความเข้าใจว่า พระไตรปิฎกที่จารลงในใบลานคงจะมีหลายภาษาพระพุทธศาสนานิกายมหายานมักจะแปลจากฉบับภาษาสันสกฤต ชาวจีนแปลเป็นภาษาจีน ชาวญี่ปุ่นแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น ชาวเกาหลีแปลเป็นภาษาเกาหลี ฯลฯ เป็นพระไตรปิฎกที่แปลเป็นภาษาต่างๆ ส่วนพระไตรปิฎกของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท (ของศรีลังกา พม่า ไทย ฯลฯ และของ P.T.S (Pali Text society)เป็นฉบับภาษามคธหรือที่เรียกว่า “บาลี” มีต้นฉบับเป็นภาษาบาลีตรงกัน ส่วนคำแปลเพื่อเข้าใจความเป็นของแต่ละภาษา การสังคายนาพระไตรปิฎก เป็นการตรวจสอบความถูกต้องของพระไตรปิฎกในภาษาเดิมไม่ใช่การปรับปรุงแก้ไขข้อความใดๆ (สังคายนา แปลว่า การสวด ไม่ใช่การปรับปรุงแก้ไข ในสมัยที่พระไตรปิฎกมีการจารลงใบลาน การสังคายนาคือการตรวจสอบคำศัพท์ (พิสูจน์อักษร) ในภาษาเต็มให้มีความถูกต้องตามฉบับเดิม) จึงเข้าใจว่า พระไตรปิฎกที่ท่านอับดุล เลาะฮ์ได้อ่านที่นาลันทา (ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นภาษาอะไร) น่าจะเป็นพระไตรปิฎกฉบับแปลซึ่งเขียนขั้นใหม่ และเข้าใจว่า ที่มหาวิทยาลัยนาลันทานั้นไม่มีพระไตรปิฎกฉบับเดิมแล้ว เพราะมหาวิทยาลัยนาลันทาถูกเผาทำลายหมดแล้ว นี่แหละ ผมจึงมีความเห็นว่า ถ้าจะมีกฎหมายคุ้มครองศาสนาควรมุ่งที่การคุ้มครองแนวคำสอนหรือการปฎิบัติของศาสนาเป็นสำคัญ ทุกวันนี้ ศาสนาต่างๆ แตกเป็นนิกายต่างๆ กฎหมายก็จะต้องคุ้มครองถึงนิกายต่างๆ ด้วย เช่น ศาสนาอิสลามมี 2 นิกายก็จะต้องคุ้มครองไปถึง 2 นิกาย ไม่ให้กระทบกระทั่งกันหรือก้าวล่วง-ก้าวก่ายกันได้ พระพุทธศาสนาของไทย เป็นนิกายเถรวาท ถือพระไตรปิฎกบาลีเป็นหลัก กฎหมายก็จะต้องคุ้มครองแนวคำสอนเรื่อง “ต้นธาต-ต้นธรรม” (ซึ่งไม่มีในพระไตปิฎกบาลี) ก็แสดงว่า เป็นลัทธิอื่น กฎหมายก็จะต้องดูแลไปถึงการแต่งกาย ซึ่งจะมีการแอบอ้างกันได้ กรณีพระไตรปิฎกที่ท่านอับดุล เลาะฮ์ (อดีตพระมหาชลิต) อ้างถึงนั้น อยากให้กรมศาสนารีบเร่งตรวจสอบว่าเป็นอะไรอย่างไรกันแน่แล้วดำเนินการ “คุ้มครองศาสนา” ให้อยู่กันได้ด้วยดี