สัปดาห์พระเครื่อง/อ.ราม วัชรประดิษฐ์
หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง จ.สิงห์บุรี พระเกจิชื่อดังในอดีตและยังคงเป็นที่รู้จักและเคารพเลื่อมใสมาตราบจนปัจจุบัน รวมถึงวัตถุมงคลต่างๆ ของท่าน ไม่ว่าจะเป็นพระพิมพ์ พระเครื่อง รูปเหมือน หรือเหรียญ ก็ล้วนเป็นที่นิยมสะสมและแสวงหามาตั้งแต่อดีต ยิ่งปัจจุบันพระยิ่งเก่าความนิยมยิ่งมีมากขึ้น ทั้งสนนราคาก็สูงตามขึ้นด้วย
พระครูศรีพรหมโสภิต หรือ หลวงพ่อแพ เขมังกโร เดิมชื่อแพ เป็นชาวสิงห์บุรีโดยกำเนิด เกิดที่บ้านสวนกล้วย ต.ดอนสมอ อ.ท่าช้าง ประมาณปี พ.ศ.2452 บิดาและมารดาเสียชีวิตตั้งแต่ท่านยังเล็กๆ ตอนเยาว์วัยเข้าศึกษาในโรงเรียนประจำหมู่บ้าน ต่อมาบิดา-มารดาบุญธรรมได้นำไปฝากกับพระอาจารย์เขมร ที่วัดชนะสงคราม กรุงเทพฯ เพื่อให้ศึกษาเล่าเรียนด้านพระปริยัติธรรมและบรรพชาเป็นสามเณร อายุได้เพียง 14 ปี ก็สามารถสอบได้เปรียญ 3 ประโยค เมื่ออายุครบอุปสมบท จึงบรรพชาเป็นพระภิกษุ ได้รับฉายา “เขมังกโร” และศึกษาต่อจนได้เปรียญ 4 ประโยค ได้เป็น “พระมหาแพ” ท่านเป็นพระภิกษุที่มีรูปร่างสูงใหญ่ ผิวขาวสะอาด หน้าตาหมดจด เป็นเสน่ห์แก่ผู้พบเห็น แต่ท่านมีจิตมุ่งมั่นในการบำเพ็ญตนในสมณเพศเพื่อหวังสืบต่อพระพุทธศาสนาเท่านั้น ท่านได้ถวายตัวเป็นศิษย์พระครูภาวนา ณ สำนักวัดโพธิ์ ท่าเตียน หรือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เพื่อฝึกอบรมทางใจให้ครบธุระในพระพุทธศาสนา คือ พระภิกษุที่บวชในพระบวรพุทธศาสนาควรปฏิบัติ 2 ประการ “คันถธุระ” อันได้แก่เล่าเรียนคำสั่งสอนให้เข้าใจ และ “วิปัสสนาธุระ” อันได้แก่การฝึกฝนอบรมวิชาให้มั่นคง ไม่หวั่นไหว และในระหว่างที่ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมนั้น ท่านได้ศึกษาในสำนักเรียนวัดมหาธาตุเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในสมัยนั้นอยู่ในความอำนวยการของสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) ท่านจึงเป็นศิษย์รูปหนึ่งของสมเด็จพระวันรัต (เฮง) ด้วย
ปี พ.ศ.2274 สมเด็จพระวันรัต (เฮง) ได้ออกตรวจมณฑลอยุธยา เมื่อผ่านไปทาง จ.สิงห์บุรี เห็นว่าท้องที่ อ.พรหมบุรี พระอารามต่างๆ กำลังเสื่อมโทรม เมื่อทราบว่าหลวงพ่อแพมีภูมิลำเนาอยู่จึงนิมนต์ให้กลับภูมิลำเนาเดิม เพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามในท้องถิ่นให้เจริญรุ่งเรือง เพื่อเชิดชูพระบวรพุทธศาสนาสืบไป หลวงพ่อแพจึงเดินทางกลับบ้านเกิดไปดูแลวัดพิกุลทอง ยังความปลาบปลื้มและชื่นชมยินดีแก่ชาวบ้านในละแวกนั้นอย่างมาก ซึ่งวัดพิกุลทองในขณะนั้นชำรุดทรุดโทรมมาก แม้แต่พระอุโบสถก็ใช้ปฏิบัติสังฆกรรมไม่ได้ ระหว่างที่หลวงพ่อแพวางแผนปรับปรุงท่านก็ได้พบพระอาจารย์พระครูศรีวิริโสภิตหรือหลวงพ่อสี ซึ่งชาวอำเภอบางระจันให้ความเคารพศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง กล่าวกันว่าท่านเป็นผู้ทรงคุณวิเศษและมีวาจาศักดิ์สิทธิ์ พระทั้งสองรูปถูกอัธยาศัยกัน หลวงพ่อแพยังได้รับการถ่ายทอดวิชาไสยศาสตร์และวิทยาการต่างๆ จากหลวงพ่อสีอย่างครบถ้วน และด้วยบารมีของหลวงพ่อสีและกุศลกรรมของหลวงพ่อแพ เพียงระยะเวลาแค่ปีเศษก็สามารถบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพิกุลทองที่ชำรุดทรุดโทรมจนแล้วเสร็จ รวมถึงการสร้างพระอุโบสถใหม่ เทคอนกรีต และมุงกระเบื้องเคลือบอย่างดี ด้วยเงินบริจาคของผู้มีจิตศรัทธาจากทั่วทุกหนแห่ง ในปี พ.ศ.2484 หลวงพ่อแพได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่พระครูศรีพรหมโสภิต พระครูจัดการปริยัติธรรมและวินัย เทียบด้วยสัญญาบัตรชั้นพิเศษ ซึ่งถือพัดยศเช่นเดียวกับพระครูผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดหลวงชั้นโท
นอกจากการพัฒนาวัดพิกุลทองแล้ว ท่านยังได้สร้างความเจริญให้ท้องถิ่น ทำความเข้าใจกับชาวบ้านวางแผนงานโครงการชลประทาน สร้างทางเท้า ฯลฯ สมดังความตั้งใจของสมเด็จพระวันรัต (เฮง) ชื่อเสียงของท่านขจรไกลทั่วทุกหัวระแหง ทั้งด้านแนวความคิด การพัฒนา รวมทั้งวิทยาอาคมเก่งกล้า จึงไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า ทำไมวัตถุมงคลที่ท่านสร้างซึ่งมีมากมายหลายประเภท ตลอดจนพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ที่ท่านเคารพมาก อาทิ พระสมเด็จแพพัน พระสมเด็จทองเหลือง รูปเหมือนปั๊ม พระปรกใบมะขาม เหรียญต่างๆ เป็นต้น จึงล้วนเป็นที่นิยมและแสวงหาอย่างสูง เพื่อนำมากราบไหว้ขอพรให้เกิดความสิริมงคลแก่ชีวิตครับผม