ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าไทย เม.ย.62 อยู่ที่ 47.8 ลดลงทุกภาค กังวลหลายด้านทั้งเศรษฐกิจปากท้อง-ตั้งรัฐบาลช้า-สงครามการค้าไม่จบ ฉุดอัตราการเติบโตเศรษฐกิจของไทยทั้งปีโตแค่ 3.5% ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ 4% แนะรัฐบาลใหม่เร่งเรียกความเชื่อมั่นกลับมา ดึงเม็ดเงินองค์กรท้องถิ่นกว่าแสนล้านกระตุ้นผ่านโครงการต่างๆ นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนเม.ย.62 อยู่ที่ 47.8 ลดลงจากเดือนมี.ค.62 อยู่ที่ 48.4 ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ต้องเกิน 50 ขึ้นไป จากความไม่เชื่อมั่นทั้งเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจโลกที่มีความกังวลปัญหาสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีนที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีทางออกอย่างไร ประกอบกับปัญหาการเมืองในประเทศที่ยังไม่รู้ว่าใครจะเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลและเมื่อผลออกมาแล้วจะเป็นที่ยอมรับหรือไม่ แม้ว่าเดือนเม.ย.62 มีวันหยุดหลายวันในช่วงเทศกาลสงกรานต์กระตุ้นการท่องเที่ยวได้มากก็ยังไม่ได้คลายความวิตกมากนัก ทั้งนี้หอการค้าไทยประเมินภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังคงมีหลายปัจจัยที่ยังกังวล โดยเฉพาะทางออกของ 2 ประเทศยักษ์ใหญ่ที่จะลดปัญหาการตอบโต้ไปมาให้น้อยลงน่าจะทำให้ความกังวลของทั่วโลกได้ แต่คงต้องจับตาว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ ดังนั้นจากหลายปัจจัยดังกล่าวน่าจะส่งผลให้อัตราการเติบโตเศรษฐกิจของไทยในครึ่งปีแรกน่าจะโตเพียงแค่ร้อยละ 2.8-3 และครึ่งปีหลังน่าจะโตร้อยละ 3-4 ส่งผลให้ทั้งปีเศรษฐกิจจะเติบโตได้ถึงร้อยละ 4 ขณะที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ มองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตเพียงแค่ร้อยละ 3.5 เท่านั้น โดยศูนย์พยากรณ์ฯ มองว่าสิ่งที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจไทยตอนนี้ คือ การท่องเที่ยวที่จะมีชาวต่างชาติมาเที่ยวไทยไม่น้อยกว่า 40 ล้านคน มีเม็ดเงินผ่านท่องเที่ยวมาในไทย โดยปีนี้ภาคการส่งออกของไทยประสบปัญหาหลายด้าน ทำให้การส่งออกอาจไม่เติบโตจากเดิมที่คาดว่าจะเป็นบวกร้อยละ 3-5 แต่จากผลกระทบสงครามการค้าและความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้การส่งออกของไทยปีนี้อาจติดลบได้ สำหรับสิ่งที่คาดว่าจะช่วยดันเศรษฐกิจไทยเดินต่อได้คือ รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การเมืองนิ่งและมีเสถียรภาพเร่งเดินหน้าตามกรอบแนวทางต่างๆให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา โดยเร่งทุกโครงการขนาดใหญ่ที่มีเม็ดเงินลงทุนหลายแสนล้านบาทให้เกิดเป็นรูปธรรมในทางปฎิบัติ และดึงเม็ดเงินจากองค์กรท้องถิ่นที่มีกว่า 100,000 ล้านบาทมากระตุ้นผ่านโครงการต่างๆ เชื่อว่าจะกระตุ้นให้จีดีพีของประเทศโตได้ร้อยละ 4 นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เมื่อแยกเป็นรายภาคพบว่า มีรายละเอียด ดังนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 49.5 ลดลงจากระดับ 50.1 ในเดือนมี.ค.62 โดยปัจจัยลบที่สำคัญได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล, จำนวนนักท่องเที่ยวลดน้อยลงกว่าที่คาดการณ์ไว้,ค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น และการชะลอการก่อสร้างโครงการใหม่ ส่วนปัจจัยบวกได้แก่ การเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวและซื้อสินค้าช่วงเทศกาลสงกรานต์,การเร่งก่อสร้างเส้นทางคมนาคมเพื่อการเดินทางที่ต่อเนื่อง และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยสิ่งที่ภาคเอกชนเสนอแนะให้เร่งแก้ไขคือ 1.การพัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ 2.การจัดหาแหล่งทุนที่เหมาะสมตามความต้องการของผู้ประกอบการ 3.แก้ปัญหายาเสพติดในพื้นที่ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 47.9 ลดลงจากระดับ 48.5 ในเดือนมี.ค.62 โดยมีปัจจัยลบที่สำคัญเช่น ความกังวลเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล,ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน,ปัญหาหนี้สินครัวเรือน,ระดับราคาพืชผลทางการเกษตรที่ยังทรงตัว ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ การจับจ่ายสินค้าและการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันสงกรานต์,การสนับสนุนการท่องเที่ยวจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลให้การสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสำหรับภาคบริการ ทั้งนี้ภาคเอกชนได้เสนอให้รัฐฐบาลจัดสรรทรัพยากรทางการคลังให้เหมาะสม,ส่งเสริมธุรกิจในประเทศให้มีการส่งออกมากขึ้น และทำแผนรองรับปัญหาภัยธรรมชาติเช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยภาคตะวันออกอยู่ที่ระดับ 52.7 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 52.8 ในเดือนมี.ค.62 โดยปัจจัยลบสำคัญได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล,มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประชาชนได้รับประโยชน์ไม่ทั่วถึง,ปัญหาการกระจายรายได้ในชุมชนและการชะลอตัวของนักลงทุนต่างชาติ ส่วนปัจจัยบวกสำคัญได้แก่ การเดินทางของนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์,การดำเนินการตามนโยบายของภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง และการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve ขณะที่ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไขเช่น การลดค่าครองชีพให้ประชาชน และแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในและนอกระบบ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 47.5 ลดลงจากระดับ 47.9 ในเดือนมี.ค.62 โดยปัจจัยลบที่สำคัญได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล,ผลกระทบจากพายุฤดูร้อนพัดถล่มในพื้นที่,ปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้ายังทรงตัวในระดับสูง และจำนวนนักท่องเที่ยวน้อยกว่าที่คาด ส่วนปัจจัยบวกได้แก่ การท่องเที่ยวและการจับจ่ายซื้อสินค้าในช่วงเทศกาลสงกรานต์,ผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นทำให้มีผลผลิตป้อนโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น,ความเชื่อมั่นของนักลงทุนปรับตัวดีขึ้นตามภาวะการลงทุนที่ฟื้นตัว ทั้งนี้ภาคเอกชนมีข้อเสนอแนะคือ 1.สร้างแรงงานที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดมากขึ้น 2.สนับสนุนธุรกิจครัวเรือนที่มีขนาดเล็กให้เติบโต เพื่อลดปัญหาการย้ายถิ่นฐานออกนอกพื้นที่ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยภาคเหนืออยู่ที่ระดับ 48.3 ลดลงจากระดับ 48.8 ในเดือนมี.ค.62 โดยมีปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล,ผลกระทบจากพายุฤดูร้อนที่พัดถล่มในพื้นที่,ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และจำนวนนักท่องเที่ยวชะลอลง ส่วนปัจจัยบวกสำคับเช่น การท่องเที่ยวและซื้อสินค้าในพื้นที่ช่วงเทศกาลสงกรานต์,การลงทุนภาคอุตสาหกรรมเริ่มมีสัญญาณดีสอดคล้องความต้องการของตลาด,สถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็กเริ่มคลี่คลาย ทำให้ธุรกิจภาคบริการมีแนวโน้มดีขึ้น ทั้งนี้สิ่งที่ภาคเอกชนเสนอให้เร่งแก้ไขคือ 1.ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนในพื้นที่ 2.มาตรการช่วยเหลือให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 45.4 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 45.6 ในเดือนมี.ค.62 โดยมีปัจจัยลบสำคัญได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล,การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้เท่าเทียมเมืองใหญ่,สภาพคล่องทางการเงินยังสวนทางกับราคาสินค้า,ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ และราคาสินค้าเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ ส่วนปัจจัยบวกได้แก่ ภาคเกษตรขยายตัวจากผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมัน,การท่องเที่ยวและจับจ่ายสินค้าในพื้นที่ช่วงสงกรานต์,ผลผลิตอาหารทะเลแปรรูปจากต่างประเทศมีความต้องการเพิ่มขึ้น ทั้งนี้สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขคือ 1.ส่งเสริมอาชีพให้ประชาชนในชุมชน 2.แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ทั้งในและนอกระบบ