ด้วยน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT จัดโครงการ“SACICT จิตอาสา” โดยผสานพลังครูฯและทายาทฯ แบ่งปันความรู้งานหัตถศิลป์ ประเดิมจัดกิจกรรม “SACICT จิตอาสา พัฒนาอาชีพ” ครั้งที่ 1 ณ จังหวัดเชียงราย อัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า SACICT ได้จัดกิจกรรม CSR ภายใต้ชื่อโครงการ “SACICT จิตอาสา” เพื่อน้อมนำแนวพระราชดำริในด้าน “จิตอาสา” ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสืบสานพระราชปณิธานในการส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมไทย ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หรือ SACICT ในการอนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมไทย ภายใต้กลยุทธ์ “หัตถศิลป์ของชีวิตปัจจุบัน” หรือ “Today Life’s Crafts” เพื่อสร้างการรับรู้ในคุณค่าความงามของศิลปหัตกรรมไทยว่าสามารถประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบันได้ โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพให้ผู้ทำงานหัตถศิลป์ การพัฒนางานศิลปหัตถกรรมด้วยความคิดสร้างสรรค์ให้มีความร่วมสมัย เหมาะสมกับการใช้งาน และสร้างความนิยม เพิ่มช่องทางการเข้าถึงงานศิลปหัตถกรรมไทยเพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ  อัมพวัน พิชาลัย ถ่ายภาพที่ระลึกกับชาวอาข่ากิจกรรม CSR ที่ SACICT จัดขึ้นรวมทั้งสิ้น 10 ครั้ง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2562 เป็นการแสดงความจงรักภักดีและเฉลิมพระเกียรติในปีมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 และเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสแห่งความสุขของคนไทยทั้งประเทศ โดยกิจกรรม SACICT จิตอาสา มี 2 รูปแบบ คือ “SACICT จิตอาสา พัฒนาอาชีพ” เพื่อการสร้างอาชีพแก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนชายขอบ และกลุ่มประชาชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งจะจัดกิจกรรมทั้งสิ้น 8 ครั้งใน 4 ภูมิภาค และ “SACICT จิตอาสา นำพาความสุข” เพื่อสร้างการรับรู้ให้สังคมไทยว่า งานศิลปหัตถกรรมสามารถสร้างความสุข ฝึกสมาธิ และช่วยบำบัดความเครียดแก่กลุ่มบุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือเยียวยา เช่น กลุ่มผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ตามสถานพยาบาลในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 2 ครั้ง” อัมพวันกล่าว อัมพวัน พิชาลัย เยี่ยมชมกิจกรรม ความน่าสนใจของกิจกรรม “SACICT จิตอาสา พัฒนาอาชีพ” ครั้งที่ 1 ณ จังหวัดเชียงราย อยู่ที่การตามรอยการพัฒนา “ผ้าปักมือกองหลวง” ซึ่งมีเอกลักษณ์อยู่ที่ใช้เทคนิคการปักแบบลายลูกโซ่ ปักลงบนลวดลายล้านนาประยุกต์ที่วาดลงในผ้าทุกผืนโดยไม่มีการลอกลาย ที่พิเศษคือได้รับเกียรติจากวิทยากรจิตอาสา ครูสิริวัฑน์ เธียรปัญญา ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2554 บรรยายให้ความรู้ แก่ชุมชนชายขอบ หนองขำ(ลาหู่) และ โป่งป่าแขม (อาข่า) ต.แม่สรวย อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการสร้างอาชีพและรายได้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ผ่านการสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย  ครูสิริวัฑน์ เธียรปัญญา   ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2554 การปักแบบลายลูกโซ่ ลุงปุ๊ หรือ ครูสิริวัฑน์ เธียรปัญญา ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2554 กล่าวว่า ครูอยู่ในศิลปาชีพฯมา 10 ปีแล้ว และได้เป็นครูช่างศิลปหัตถกรรม เมื่อปี 2554 โดยทำผ้าปักมือกองหลวงปีนี้เป็นปีที่ 17 รู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “SACICT จิตอาสา พัฒนาอาชีพ” สำหรับงานที่นำมาให้ชาวลาหู่และอาข่าในครั้งนี้เป็นการปักแบบลูกโซ่ ลุงปุ๊ตั้งชื่อว่า 'ผ้าปักมือกองหลวง' ซึ่งจะมีงานให้ทำทุกเดือนโดยไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ลุงปุ๊จะมีผ้า, ไหม, เข็ม พร้อมกับกำหนดลายและสีมาให้ เพียงแต่ปักผ้าให้ลุงปุ๊ ใครทำเสร็จก็ส่งได้เลยโดยลุงปุ๊จะมาที่นี่เดือนละครั้ง  อาเบอ เย้ะเบียง ด้าน อาเบอ เย้ะเบียง ชาวอาข่า อายุ 41 ปี บอกว่า เมื่อก่อนเวลาปักผ้าก็ต้องคิดลายเอง คิดสีเอง แต่โครงการนี้ครูก็จะคิดลาย คิดสี และมีอุปกรณ์มาให้ ทำให้รู้สึกมั่นใจมากขึ้น ชอบโครงการนี้มากเลยค่ะ เพราะสามารถทำเป็นอาชีพเสริมได้และยังมีรายได้ที่มั่นคง อยากขอบคุณที่มีโครงการดีๆแบบนี้ค่ะ และขอขอบคุณที่ไม่รังเกียจพวกเรา ส่วนหนึ่งผลงาน “ผ้าปักมือกองหลวง”  อีกหนึ่งโครงการสร้างสรรค์ที่น้อมนำแนวพระราชดำริในด้าน “จิตอาสา” ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสืบสานพระราชปณิธานในการส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมไทย ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งยังช่วยผลักดันให้งานศิลปหัตถกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการสร้างคุณค่าและมูลค่าตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งเป็นการสร้างวัฏจักรของงานศิลปหัตถกรรมอย่างยั่งยืน