จากกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่กว่าโลกทั้งใบ เพิ่มประสิทธิภาพให้สูงอีก 5 เท่า เพื่อศึกษาข้อมูลให้ได้มากที่สุด แม่นยำที่สุด เพื่อพัฒนาเทคโนฯดาวเทียม-ข้อมูลอวกาศในอนาคต สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page โพสต์ความคืบหน้าของหลุมดำที่บันทึกภาพได้เป็นครั้งแรกของมนุษยชาติโดยระบุ “หลังจาก #เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุประสิทธิภาพสูงสุด สามารถบันทึกภาพหลุมดำครั้งแรกในประวัติศาสตร์ได้สำเร็จ เป้าหมายต่อไปคือ การพัฒนาเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุให้มีประสิทธิภาพสูงจนสามารถถ่ายภาพหลุมดำได้ละเอียดขึ้น 5 เท่า ด้วยการส่งกล้องโทรทรรศน์วิทยุโคจรรอบโลก “ทำอย่างไรให้ได้ภาพถ่ายที่ละเอียดขึ้น ?” การเก็บข้อมูลด้วยกล้องโทรทรรศน์วิทยุ สามารถใช้เทคนิคพิเศษที่เรียกว่า “#เครือข่ายการแทรกสอดระยะไกล” หรือ VLBI (Very Long Baseline Interferometry) โดยกล้องที่เป็นเครือข่ายจะสังเกตการณ์วัตถุร่วมกันแล้วนำข้อมูลมาประมวลผล ยิ่งกล้องอยู่ห่างกันมากเท่าใด ความละเอียดของภาพก็จะยิ่งสูงขึ้น เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่ใช้ถ่ายภาพหลุมดำที่ผ่านมา คือ EHT (Event Horizon Telescope) ซึ่งมีกล้องโทรทรรศน์วิทยุกระจายอยู่ทั่วโลก จนมีประสิทธิภาพเทียบได้กับกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่เท่ากับโลกทั้งใบ “กล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่กว่าโลกทั้งใบ” ล่าสุดนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยรัดบาวด์ (Radboud University) ร่วมกับองค์การอวกาศยุโรป (ESA) ได้เริ่มโครงการ EHI (Event Horizon Imaging) เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของเครือข่าย EHT โดยการส่งกล้องโทรทรรศน์วิทยุโคจรรอบโลก 2 - 3 ตัว ส่งผลให้เครือข่ายมีประสิทธิภาพสูงขึ้นมากกว่าเดิม 5 เท่า ซึ่งเปรียบได้กับกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่มีขนาดใหญ่มากกว่าโลกทั้งใบ ทำให้มีความละเอียดสูงเพียงพอที่จะศึกษาหลุมดำมวลยวดยิ่งที่อยู่บริเวณใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือกได้ ความท้าทายของโครงการนี้คือ การทำให้กล้องโทรทรรศน์อวกาศทำงานร่วมกับกล้องโทรทรรศน์บนโลกได้ ซึ่งจะต้องทราบค่าตำแหน่งและอัตราเร็วของการโคจรอย่างแม่นยำที่สุด รวมถึงต้องส่งผ่านข้อมูลขนาดใหญ่จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศกลับสู่พื้นโลก โครงการนี้จึงเป็นหนึ่งในโครงการที่ช่วยพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีดาวเทียม และการส่งผ่านข้อมูลในอวกาศในอนาคต ภาพซ้ายบน : แบบจำลองของหลุมดำใจกลางทางช้างเผือกที่ความถี่ 230 GHz ภาพขวาบน : ภาพจำลองของหลุมดำใจกลางทางช้างเผือกหากสังเกตการณ์ผ่านเครือข่ายกล้อง EHT ที่ 230 GHz ภาพซ้ายล่าง : แบบจำลองของหลุมดำใจกลางทางช้างเผือกที่ความถี่ 690 GHz ภาพขวาล่าง : ภาพจำลองของหลุมดำใจกลางทางช้างเผือกหากสังเกตการณ์ผ่านเครือข่ายกล้อง EHI ที่ 690 GHz อ่านข่าวย้อนหลังเรื่องภาพหลุมดำภาพแรกได้ที่ :http://www.narit.or.th/…/3864-the-first-image-of-a-black-ho… อ้างอิง : https://www.ru.nl/…/telescopes-space-even-sharper-images-b…/ เรียบเรียง : ธนกร อังค์วัฒนะ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.”