พาณิชย์เร่งหาแนวทางปรับกลยุทธ์การค้า หลังสงครามการค้ามะกัน-จีนแนวโน้มยืดเยื้อ นัดถกเอกชน 29พ.ค.นี้ ประเมินผลกระทบต่อไทย ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ 11 มิ.ย.62 งัดแนวทางรับมือ-วางยุทธศาสตร์การค้าระยะยาว น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า มาตรการขึ้นภาษีสินค้าจีนของสหรัฐฯ กลุ่มสินค้า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯและการตอบโต้ของจีน ในกลุ่มสินค้า 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น เป็นสินค้ากลุ่มเดิมที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 24 ก.ย.61 แต่สหรัฐฯปรับอัตราภาษีจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 25 และจีนปรับอัตราภาษีเป็นร้อยละ 5–25 และตัดสินค้าจำนวน 67 รายการ ส่วนใหญ่คืออุปกรณ์รถยนต์เช่น เบรค ล้อรถ คลัช เพลา แกนรถ ถุงลมนิรภัย สินค้ากลุ่มนี้มีนัยยะสำคัญและส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการส่งออกไทย เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานหลายประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่า มาตรการระหว่างกันล่าสุดในสินค้ากลุ่มนี้ จะไม่ส่งผลกระทบเพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากเป็นสินค้ากลุ่มเดิมที่ตลาดรับรู้ไปแล้ว และผู้ประกอบการเริ่มปรับตัว โดยเริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวกโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ตัวเลขการส่งออกเดือนเม.ย.62 มีแนวโน้มหดตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยคาดว่าผู้ประกอบการเริ่มมีการปรับกลยุทธ์ในห่วงโซ่อุปทานและมาผลิตในประเทศที่สามนอกประเทศจีนมากขึ้นเช่น ฮ่องกง,ไต้หวัน และเมื่อพิจารณาสินค้าในกลุ่มที่ขึ้นภาษีของสหรัฐฯและจีนพบว่า ไทยยังมีโอกาสส่งออกสินค้าเพื่อชดเชยผลกระทบจากการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน โดยสินค้ากลุ่มที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกได้แก่ ผักและผลไม้สดและแปรรูป เครื่องดื่ม ไก่สดแช่แข็ง อาหารปรุงแต่ง เสื้อผ้าและรองเท้า เครื่องสำอาง และ ผลิตภัณฑ์ยาง สำหรับสินค้าล็อตใหม่ที่สหรัฐฯเตรียมขึ้นภาษีจีนมูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นสินค้าส่วนที่เหลือเกือบทั้งหมดที่สหรัฐฯนำเข้าจากจีน ส่วนใหญ่ครอบคลุมสินค้าอุปโภคและบริโภคอาทิ อาหาร อุปกรณ์ เครื่องใช้ภายในบ้าน เสื้อผ้าและรองเท้า เครื่องประดับ ซึ่งหากสหรัฐฯเดินหน้าขึ้นภาษีจริง จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภค และประเมินว่าในกลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภค ผลกระทบจากห่วงโซ่อุปทานจีนจะมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับมาตรการที่ผ่านมา โดยไทยมีโอกาสที่จะส่งออกเพิ่มในตลาดสหรัฐฯกว่า 725 รายการ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 200–1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเป็นสินค้าที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดและความสามารถทางการแข่งขันในรายสินค้า(RCA)สูง ประกอบกับภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้าไทยสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคอาทิ อาหารและเครื่องปรุงอาหารเช่น เครื่องเทศ น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันมะพร้าว พีนัท ถั่ว Pignolia น้ำตาลอ้อย น้ำผลไม้ ขิง ชาเขียว เสื้อผ้าและผ้าผืน รองเท้า อุปกรณ์กีฬา เครื่องประดับ ไข่มุกและนาฬิกาและของใช้ในบ้านเช่น เครื่องเซรามิค เครื่องแก้ว นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ยังได้ติดตามสถานการณ์การนำเข้าอย่างใกล้ชิดในกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ฯ อะลูมิเนียม เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ เครื่องจักรไฟฟ้า ทองแดง และเคมีภัณฑ์เพื่อป้องกันการสินค้าไหลเข้ามาไทยเป็นจำนวนมากจากมาตรการภาษีระหว่างสหรัฐฯและจีนที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศและผู้บริโภค ซึ่งยังไม่พบการนำเข้าที่ผิดปกติในช่วงที่ผ่านมา สำหรับในวันที่ 29 พ.ค.นี้จะมีการประชุมกับตัวแทนอุตสาหกรรมกว่า 20 สมาคมเพื่อหารือถึงความเป็นไปได้และการปรับกลยุทธ์ผลักดันการส่งออกสินค้าศักยภาพข้างต้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกันนี้จะนำผลหารือจากการประชุมเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.)ในวันที่ 11 มิ.ย.62 เพื่อกำหนดแนวทางการรับมือในเรื่องสงครามการค้า และกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์การค้าระยะยาวที่จะต้องพิจารณาระบบการค้าและการลงทุนทั้งระบบให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ของการค้า เน้นผลักดันและกระตุ้นการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ เอกชน และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆต่อไป